ผบ.ทบ. เตือนงดจาบจ้วง ส่วนประชาชนกระจายไล่รัฐบาลทั่วประเทศ
2020.07.24
กรุงเทพฯ และปัตตานี
นับตั้งแต่การที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกและประชาชน จัดชุมนุมข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2563 ทั่วประเทศได้เกิดการชุมนุมเรียกร้องในลักษณะเดียวกันหลายครั้ง และหลายรูปแบบ ล่าสุด นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดกิจกรรมเผารูปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง จนทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เตือนผู้ชุมนุมหยุดพฤติกรรมจาบจ้วง
กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้มีการชุมนุมเพื่อการประท้วงรัฐบาลขึ้นในหลายพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 อุบลราชธานี และเชียงใหม่ วันที่ 19 กรกฎาคม 2563 หน้าทำเนียบรัฐบาล และกองบัญชาการกองทัพบก วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 นครศรีธรรมราช วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 มหาสารคาม ชลบุรี แพร่ และเพชรบูรณ์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2563
พระนครศรีอยุธยา ปัตตานี ปทุมธานี ขอนแก่น และสกลนคร วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 กระทั่งในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพ รวมถึง ลำพูน พัทลุง อุดรธานี และนครราชสีมา ในวันศุกร์นี้ที่ 24 กรกฎาคม 2563 โดยในทุกเวทีชุมนุมมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ในวันนี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบก ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตนรู้สึกไม่สบายใจที่การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม
“ผมคิดว่าผู้ที่ใช้การแสดงสิทธิเสรีภาพในปัจจุบัน ควรจะคำนึงถึงขอบเขตในการใช้สิทธิเสรีภาพของท่าน ไม่ว่าจะเป็นในสภาผู้แทนราษฎรเองก็ตาม หรือว่าในการชุมนุมต่างๆ” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
“เราต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน เราต้องไม่จาบจ้วง หรือใช้วาจาที่ไม่สุภาพต่อบุคคลที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ ถึงแม้จะอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แต่ผมก็พูดในฐานะคนไทย พูดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง นะครับว่า ท่านจะทำอะไร ท่านลองนึกย้อนกลับไป ผมว่า สิ่งที่เขาทำ ทุกคน คงจะรู้สึกเสียใจ” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวเพิ่มเติม
ซึ่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า มีความเป็นห่วงเยาวชนที่มาร่วมชุมนุม โดยเสนอให้ผู้ชุมนุมนำข้อเสนอไปดำเนินการในรัฐสภา พร้อมกังวลถึงการเคลื่อนไหวบรรดาเด็ก ๆ
“ผมเป็นห่วงกังวลเท่านั้นเอง.. ก็ระมัดระวังการละเมิด ก้าวล่วง ผมคิดว่าประชาชนคงไม่ยอมนักหรอก ไม่ยอมจะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ไม่สมควรจะเกิดในประเทศไทยของเรา ผมจะไม่พูดมากในเรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องการจะให้เป็นประเด็น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้านนายณวิบูล ชมภู่ ประธานร่วมภาคีนักศึกษาศาลายา ซึ่งจัดกิจกรรม Burn in hell เผาภาพถ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่า สาเหตุที่จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อขับไล่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้ 1. รัฐบาลเอื้อประโยชน์นายทุน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง 2. รัฐบาลไม่สามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงได้ 3. รัฐบาลบริหารงานผิดพลาดในช่วงโควิด-19 4. รัฐบาลทำให้คนตกงาน ไม่มีมาตรการเยียวยาที่ทั่วถึง และก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม และ 5. รัฐบาลเป็นเผด็จการใช้กฎหมายปราบปรามคนเห็นต่าง และปล่อยให้มีการอุ้มและทำร้ายนักกิจกรรม
“ในสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำอันเป็นอย่างมาก โดยเอื้อประโยชน์ของนายทุนผูกขาดในการเอารัดเอาเปรียบประชาชน… รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้... จึงหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ” นายณวิบูล กล่าว
นอกจากการชุมนุมระดับอุดมศึกษาแล้ว ที่ผ่านมายังมีนักเรียนมัธยมศึกษาได้จัดกิจกรรมในโรงเรียนต่าง ๆ ด้วย ซึ่งในวันนี้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ร่วมกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลโดยเปิดแฟลชโทรศัพท์มือถือเป็นสัญลักษณ์ด้วย
“ช่วงที่ผ่านมา 6 ปีที่ผ่านมา เราถูกเผด็จการทำเงียบหลายครั้ง ทั้งจากอำนาจโดยตรง ด้วยอาวุธ ด้วยอำนาจ ด้วยกระสุน ด้วยแก๊สน้ำตา หรือจากอำนาจทางอ้อม ด้วยโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยขู่กลาย ๆ ด้วยข่าวคนหายบนหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งโดนปิดไม่ให้รับรู้ด้วยวาทกรรมการเมืองเป็นเรื่องสกปรก อย่าเอาตัวเองไปยุ่งด้วยเลย ในสภาวะที่สังคมเต็มไปด้วยปัญหา เราต้องเงียบไว้ ด้วยกลัวเรื่องความปลอดภัย… แต่ว่าต่อไปนี้การกระทำเหล่านี้ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เผด็จการก็เหมือนโจรที่เข้ามาปล้นอำนาจเรา” นักเรียนหญิงรายหนึ่ง กล่าวในการปราศรัยที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมขับไล่รัฐบาลจะยังมีการจัดอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 จะจัดขึ้นที่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ นครศรีธรรมราช สมุทรปราการ เพชรบูรณ์ เชียงราย 26 กรกฎาคม 2563 หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา และจันทบุรี 29 กรกฎาคม 2563 นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และลำปาง 30 กรกฎาคม 2563 อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และนครปฐม 31 กรกฎาคม 2563 พิษณุโลก 2 สิงหาคม 2563 ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ และ 10 สิงหาคม 2563 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
การจัดกิจกรรมในแต่ละที่ มีคนเข้าร่วมตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักพัน มีการปราศรัยถึงความผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐบาล มีการชูป้าย และร้องเพลงขับไล่รัฐบาล มีแกนนำการชุมนุมเป็นนิสิต นักศึกษา และนักเรียน โดยการเฝ้าสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ
ต่อการชุมนุมขับไล่รัฐบาล นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัญหาต่างๆของรัฐบาลที่ถูกสะสมมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 ประกอบกับมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพในสายตาประชาชน คือมูลเหตุของการชุมนุมโดยประชาชน แต่เชื่อว่า รัฐบาลจะยังไม่ยุบสภาเร็วๆนี้
“การบริหารเศรษฐกิจ การคุกคาม บังคับคนสูญหาย และการรับมือโควิด น่าจะเป็นแรงจูงใจหลัก ประกอบกับมาตรการป้องกันโรคที่เริ่มผ่อนคลายลง ยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ความประชาชนแสดงออกถึงความไม่พอใจรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าการชุมนุมจะไม่กระทบเสถียรภาพของรัฐบาลนัก เพราะพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะยังไม่ต้องการที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะรัฐบาลมีแนวโน้มที่ชนะเลือกตั้งอีก ปัญหาภายในรัฐบาลจึงน่าจะคุยกันได้” นายฐิติพล กล่าว
การชุมนุมของประชาชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถือเป็นการกลับมาชุมนุมครั้งแรกของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ชุมนุมครั้งสุดท้ายที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในชื่อ “คืนสู่เหย้าไม่เอาไอโอชา” เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีคนเข้าร่วมกว่าพันคน แต่ในเดือนมีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศสภาวะฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นำมาสู่การห้ามรวมตัว และทำกิจกรรมที่รวมคน รวมถึงการชุมนุม หลังจากนั้น จึงไม่มีการประท้วงขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีกกระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาลได้ขอให้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และ นักศึกษา ซึ่งจัดชุมนุม โดย ส.ส. 260 ราย ออกเสียงเห็นด้วยให้จัดตั้ง กมธ. ขณะที่ ส.ส. 178 คนไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ทำให้จะมีการจัดตั้ง กมธ. ดังกล่าวโดยมี กรรมาธิการ 39 คน มีระยะเวลาทำงาน 90 วัน อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาชาติ ไม่ได้เสนอชื่อบุคคลเข้าร่วมเป็น กมธ. ดังกล่าว โดยระบุว่า ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ มารับฟังข้อเรียกร้องต่างๆด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามยังไม่มีท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรกับข้อเสนอดังกล่าว
ขณะที่ ในวันอังคารที่ผ่านมา พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ตำรวจได้จัดตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวน เพื่อรวบรวมหลักฐานที่จะฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองแล้วเช่นกัน