ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน?
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ประกาศเลือกไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council - HRC) วาระปี 2568-2570 ตามรายงานข่าวเบนาร์นิวส์วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ด้านนักสิทธิมนุษยชน แนะให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนภายในประเทศให้เรียบร้อย
“นี่นับเป็นโอกาสที่ไทยจะทบทวนข้อเสนอจำนวนมากของยูเอ็นที่เคยส่งให้กับรัฐบาลไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อกวาดบ้านตัวเองให้เรียบร้อย เพราะที่ผ่านมา ไทยพลาดโอกาสที่จะนำข้อเสนอต่าง ๆ ของสหประชาชาติมาทำให้เป็นจริง” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ไทยเป็นหนึ่งใน 18 ประเทศ ที่ได้รับเลือกในวาระนี้ อีก 17 ประเทศที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วย เบนิน โบลิเวีย โคลอมเบีย ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เอธิโอเปีย แกมเบีย ไอซ์แลนด์ เคนยา หมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก มาเซโดเนียเหนือ กาตาร์ สเปน เกาหลีใต้ และสวิตเซอร์แลนด์
ตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีฯ เป็นการลงคะแนนเสียงแบบลับ จากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 192 ประเทศ โดยสมาชิกต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อยกึ่งหนึ่งจากสมาชิกทั้งหมด และมีวาระ 3 ปี โดยปัจจุบัน สมาชิกคณะมนตรีฯ มีทั้งหมด 47 ประเทศ
ความพยายามในการเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีฯ ของไทย เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ยังเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยในเดือนกันยายน 2566 รัฐบาลได้เชิญผู้แทนรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต และผู้แทนระดับสูงจากกว่า 100 ประเทศ เข้าร่วมงานเลี้ยงเปิดตัวชิงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีฯ
สำหรับ ตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ มีหน้าที่เฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก สร้างบรรทัดฐานในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คำแนะนำเพื่อการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้น