การตายของผู้ต้องสงสัย ภายใต้การควบคุมของทหาร อาจกระตุ้นการก่อความไม่สงบอีก

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2019.08.27
190827-TH-custody-death-1000.jpg ญาติๆ และเพื่อนบ้านนำศพนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไปฝังที่กุโบร์บ้านเจาะกีแย ม.3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี วันที่ 25 สิงหาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในวันที่ 25 สิงหาคม 2562 นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เสียชีวิต หลังจากอยู่ในอาการโคมานาน 35 วัน นายอับดุลเลาะถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจ พรก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม หลังจากที่ถูกซัดทอดโดย ผู้ก่อการร้ายระดับแกนนำรายหนึ่ง ที่ถูกควบคุมตัวก่อนหน้านั้น

หลังจาก นายอับดุลเลาะถูกนำตัวไป เพื่อการซักถามเบื้องต้น โดย เจ้าหน้าที่ทหารพราน ต่อมาถูกพบว่า นายอับดุลเลาะนอนหมดสติอยู่ในห้องขัง ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ในปัตตานี เขาอยู่ในอาการโคม่า เนื่องจากสมองขาดออกซิเจน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม เขาถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา และเขาไม่รู้สึกตัวอีกเลยหลังจากนั้น

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ทาง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เผยแพร่ภาพของนายอับดุลเลาะ ที่ดูสุขภาพแข็งแรงดี ขณะมีการพูดคุยอย่างปกติกับเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบทหารบก และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ครอบครัวของเขาบอกว่า เขามีสุขภาพดีและไม่มีอาการใดมาก่อน หนังสือพิมพ์ประชาไทรายงานเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่ากล้องวงจรปิดในห้องซักถามและห้องขังไม่ทำงาน

ผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 4 ให้คำมั่นว่า จะจัดตั้งทีมค้นหาข้อเท็จจริง ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม พร้อมยืนยันด้วยว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม และเราพร้อมที่จะพิจารณาการปฏิบัติทั้งหมดของเจ้าหน้าที่รัฐ” พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า หากพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารคนใด มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ

และในวันที่ 29 สิงหาคม ทางกองทัพได้เผยผลการตรวจว่า "แพทย์รายงานผลการตรวจว่า สมองบวม ที่อาจเกิดจาก... ขาดอากาศหายใจ หรือไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง" แต่สรุปว่า "ไม่มีหลักฐานว่า การเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร"

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ได้เผยแพร่รายงานอย่างเป็นทางการ และครอบครัวของนายอับดุลเลาะเชื่อว่ามีการปกปิดข้อเท็จจริง ภรรยาหม้ายของนายอับดุลเลาะจะแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่อาจจะกระทำผิดต่อไป

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิเสธ โดยกล่าวว่า รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เกิดจากปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง และมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ

เจ้าหน้าที่ทหารไทย มีประวัติมายาวนานในการทรมานผู้ถูกควบคุมตัว ซึ่งหลายคนก็เสียชีวิตขณะอยู่ในการควบคุมตัวของทหาร ซึ่งทุกครั้งที่เกิดเหตุ ก็เกิดการโจมตีอย่างรุนแรง และมีการโต้ตอบกลับกับพลเรือนไทย โดยผู้ก่อความไม่สงบชาวมลายู

มีการรายงานว่า ทางกองทัพไทยไม่ได้ดำเนินคดีใด ๆ กับทหารของตนที่ถูกกล่าวหาว่า ได้กระทำการทรมาน หรือมีผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต ขณะถูกควบคุมตัว ซึ่งคำกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงทั้งหมดเสียทีเดียว มีทหารบางจำนวนถูกดำเนินคดี แต่ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวจากการอุทธรณ์ ในกรณีส่วนใหญ่ หลังจากที่รัฐบาลให้คำมั่นว่า จะมีการตรวจสอบ หากคดีก็จะถูกยกฟ้อง หลังจากประชาชนลดความสนใจและแรงกดดันลง

กรณีนี้เป็นปัญหามาเป็นเวลานาน พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งยังคงถูกใช้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้เป็นเครื่องมือเพื่อคุ้มกันตนเองจากการกระทำทั้งหลายทั้งปวง นี่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเจ้าหน้าที่ทหารไทย ที่ดูเหมือนจะไม่มีผู้นำคนใดเข้ามาดำเนินการ

รัฐบาลไทยปฏิเสธ โดยไม่ยอมรับว่า สังคมโกรธและแสดงความไม่พอใจต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกละเว้น ไม่เคยมีการถูกลงโทษ จากการกระทำการละเมิด โดยเป็นข้อกล่าวหาที่มีมากที่สุด ในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้ ไม่ว่าประชาชนจะสนับสนุนการก่อความไม่สงบหรือไม่ก็ตาม

กลุ่มมาราปาตานี องค์กรร่มของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลายกลุ่ม ใช้วิธีการเดียวกันนี้ และไม่ได้ออกมาประกาศว่าเป็นการโจมตีเพื่อแก้แค้น ในจดหมายเปิดผนึกของกลุ่มมาราปาตานี ๆ ได้ประณามการทรมานว่าเป็น “การกระทำที่ไร้มนุษยธรรมของคนขี้ขลาด” “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “ความเมินเฉยละเลยอย่างร้ายแรงในกระบวนการสอบสวน”

ชาวมุสลิมในปัตตานีหลายพันคนมาร่วมพิธีศพของ นายอับดุลเลาะ พร้อมเรียกร้องความยุติธรรม ร่วมกับญาติ ๆ ของเขา

การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะครั้งนี้ เกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสมสำหรับรัฐบาล ด้วยเหตุผลนานาประการ

ประการแรก เป็นรัฐบาลใหม่ ซึ่งในสายตาครึ่งหนึ่งของคนในสังคม ถือว่าได้มาแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยังมีกรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

คณะรัฐบาลซึ่งมาจากการรวมพรรคร่วมหลายพรรค เป็นรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ กับฝ่ายค้านที่มาแรงและกราดเกรี้ยว หมายมั่นที่จะมีการตรวจสอบกดดันฝ่ายรัฐบาล โดยขณะนี้มีสองพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญ ได้โจมตีรัฐบาลในกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ พรรคอนาคตใหม่ได้เรียกร้องให้มีการชันสูตรศพ และจัดตั้งคณะกรรมการรัฐสภาเพื่อทำการสอบสวน

ประการที่สอง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ใหญ่ที่สุด ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรงส่วนใหญ่ในชายแดนภาคใต้ คือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น (BRN) ได้มีการพูดคุยกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อจะมีการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไทยต่อไป  อย่างไรก็ตาม กลุ่มบีอาร์เอ็น หนึ่งในสมาชิกสำคัญของมาราปาตานีกล่าวว่า รัฐบาลทหารไทยไม่มีความจริงใจในการพูดคุย เพราะยังไม่เห็นความคืบหน้าในกระบวนการพูดคุยฯ แต่อย่างใด ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา

มีความเป็นไปได้ที่ กลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN) อาจจะไม่กลับมาร่วมการพูดคุยฯ ต่อ เพราะพลเอกประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิเสธเงื่อนไขการขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องโทษของกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล รัฐบาลอาจจะต้องแสดงให้เห็นว่า ต้องทำอะไรบางอย่าง

แม้กระนั้น รัฐบาลใหม่ก็ไม่น่าจะยอมรับข้อเรียกร้องอื่น ๆ ของกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องการปกครองตนเองอย่างแน่นอน

ส่วน ผู้ก่อความไม่สงบที่เข้ามอบตัวร่วมในโครงการพาคนกลับบ้านของทางการ ที่เพิ่งถูกยิงเสียชีวิต เมื่อไม่นานมานี้ ไม่มีผู้ใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ และอาจจะเป็นผู้ก่อความไม่สงบด้วยกัน ที่ต้องการกำจัดผู้ทรยศ ขณะเดียวกัน อาจจะเป็นผู้ที่เจ้าหน้าที่จัดการ เพราะเชื่อว่ายังคงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม กลุ่มก่อความไม่สงบก็แทบจะไม่เหลือความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยฯ หรือต่อความปลอดภัยของพวกเขา

ประการที่สาม ความรุนแรงในชายแดนใต้ลดลงจริง ในปี 2561 เหตุการณ์รุนแรงลดต่ำที่สุด นับตั้งแต่ปี 2547 ในทุกหมวดหมู่: ผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ การลอบวางระเบิด การลอบยิง การลอบวางเพลิง การโจมตีฐานกองกำลัง การทำลายศพ การระเบิดเสาไฟฟ้าและเสาโทรศัพท์

ในปี 2562 ความรุนแรงยังอยู่ในแนวโน้มว่าจะลดเหมือนที่ผ่านมา ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2562 มีผู้เสียชีวิต 42 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 100 ราย เมื่อเทียบกับ ปี 2552 ที่มีผู้เสียชีวิต 37 ราย และบาดเจ็บ 67 รายต่อเดือน แต่การเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร อาจก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนชาวพุทธ

ซึ่งหากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หรืออย่างน้อยหนึ่งในกลุ่มที่พวกเขาอ้างว่าเป็นตัวแทน ไม่มีการตอบโต้ – นั่นคือ ไม่ออกมาปกป้องสมาชิกของฝ่ายตนเสียเลย พวกเขาก็จะดูอ่อนแอ

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เราได้เห็นความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา และมีนัยว่าจะเพิ่มขึ้นอีก

เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ได้มีเหตุการณ์ระเบิดพร้อมกันถึง 6 ที่ แม้ว่าจะมีผู้บาดเจ็บเพียงเก้าคน แต่กลุ่มขบวนการได้แสดงให้เห็นว่า ยังคงก่อการโจมตีในเวลาเดียวกันได้ การโจรกรรมยานพาหนะและการปล้นที่เกิดขึ้นมาก หมายถึงการโจมตีรูปแบบใหม่ และเมื่อปลายเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถยึดแหล่งที่เก็บซ่อนวัสดุประกอบระเบิดขนาดใหญ่ได้

ต่อมา ก็มีคำถามเรื่องการลอบวางระเบิด ในกรุงเทพฯ ถึงแม้จะเป็นอุปกรณ์ระเบิดขนาดเล็ก ไม่ได้มุ่งที่การสังหาร แต่เป็นการทำเพื่อให้รัฐบาลเสียหน้า ซึ่งไม่ใช่วิธีการปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่กระนั้นก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐรายงานว่า ผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งที่ถูกคุมขังอยู่ มาจากภาคใต้

รัฐบาลยังไม่มีความคืบหน้า ในการสืบสวนสอบสวน และยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงต่อสาธารณชน แต่เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่า กลุ่มผู้ก่อความรุนแรงกำลังส่งสัญญาณว่า พวกเขาสามารถขยายการปฏิบัติการนอกพื้นที่ได้ และเพิ่มความรุนแรงได้ หากพวกเขาต้องการ

การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อาจจะเป็นการต่อชนวนสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นใหม่ ในรอบปีที่ 16 โดยมีผู้เสียชีวิตร่วม 7,000 รายแล้ว

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “Forging Peace in Southeast Asia: Insurgencies, Peace Processes, and Reconciliation” ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง