ไร้ความยุติธรรม ไร้สันติภาพ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2018.08.16
ยะลา
180816-TH-protest-1000.jpg ชาวไทยมุสลิม เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารชุมนุมนอกมัสยิดแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนราธิวาส เพื่อประท้วงเหตุคนร้ายประกบยิงสองแม่ลูกจนเสียชีวิตเมื่อสองวันที่แล้ว วันที่ 13 สิงหาคม 2561
เอเอฟพี

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแม่และลูกสาววัยรุ่นชาวพุทธคู่หนึ่งถูกยิงเสียชีวิต ขณะกำลังเดินทางกลับบ้านจากตลาดในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้สุดของไทย พื้นที่ที่กลุ่มผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดนก่อความไม่สงบตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา

คนร้ายได้ขี่จักรยานยนต์ไล่หลังและยิงปืนใส่สองแม่ลูกสองนัดซ้อน ทำให้จักรยานยนต์ของสองแม่ลูกเสียหลักและตกจากไหล่ทาง จากนั้น คนร้ายจึงเดินเข้าไปยิงซ้ำอีกสองนัดในระยะกระชั้นชิดที่ศีรษะของเหยื่อแต่ละราย ก่อนที่จะปลดแหวนและสร้อยข้อมือทองคำของสองแม่ลูก พร้อมทั้งขโมยจักรยานยนต์และขี่หลบหนีไป

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันที่ 18 กรกฎาคม ก็เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้นในตำบลปะลุกาสาเมาะแห่งนี้ด้วย โดยคนร้ายคนหนึ่งแอบซุ่มอยู่ในป่า และใช้ปืนไรเฟิลอัตโนมัติ เอ็ม16 กราดยิงใส่รถปิคอัพคันหนึ่ง คนขับรถปิคอัพคันนี้เสียชีวิตทันที และผู้โดยสารในรถถูกยิงที่ท้องแต่รอดชีวิต รถปิคอัพคันนั้นเสียหลักและตกลงไปในอ่างเก็บน้ำชลประทาน ชายสองคนที่ถูกยิงเป็นชาวมุสลิม

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. วันเดียวกันกับที่สองแม่ลูกคู่นั้นถูกยิงจนเสียชีวิต ทหารพรานคนหนึ่งก็ถูกคนร้ายที่ซุ่มอยู่ห่างออกไป 100 เมตร ยิงปืนห้านัดใส่จนเสียชีวิต

ทหารพรานคนดังกล่าวกำลังทำหน้าที่ตามปกติที่ทำเป็นประจำทุกวัน คือ การเปิดและปิดไฟที่ศาลา ซึ่งอยู่นอกฐานปฏิบัติการทัพบกของตน

ในวันเดียวกันนั้นเอง ทีมเจ้าหน้าที่กู้ระเบิดของกองทัพบกได้ถูกเรียกตัวมาเก็บกู้ระเบิดหนัก 5 กก. ที่งานแห่งหนึ่งในอำเภอยางแดง จังหวัดปัตตานี ใบปลิวที่อยู่รอบ ๆ หมู่บ้านแห่งนั้นบอกไม่ให้คนมางานนี้ แต่ไม่ได้อธิบายเหตุผลแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ตำรวจออกแถลงการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้นี้ว่า เหตุการณ์เหล่านี้และเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก่อความไม่สงบเหล่านี้ มักเป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลหรือคำอธิบายเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน

กลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควบคุมกำลังต่อสู้แทบจะทั้งหมดในภาคสนาม ไม่ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันหรือปฏิเสธความรับผิดชอบต่อเหตุใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ

ไม่เคยมีผู้เห็นเหตุการณ์ออกมาให้การเป็นพยาน คงเป็นเพราะกลัวถูกแก้แค้นจากผู้ก่อความไม่สงบ และเพราะไม่มีใครเชื่อว่ากำลังรักษาความปลอดภัยจะคุ้มครองตนได้ หากตนอาสาออกมาเป็นพยานให้แก่ฝ่ายรัฐบาล

จนถึงปัจจุบัน การก่อความไม่สงบระลอกปัจจุบันได้คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 7,000 รายแล้วนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา แต่ชีวิตในพื้นที่เหล่านั้นยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ ขณะที่ชาวพุทธและมุสลิมมลายูติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเห็นร่วมกัน

แม้จะเกิดเหตุขัดแย้งขึ้นเป็นครั้งคราวระหว่างชาวพุทธและมุสลิม แต่โครงสร้างสังคมในดินแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งมาเป็นเวลานานของพื้นที่นี้ ก็ยังไม่ได้ถูกทำลายไป  เพราะทุกเช้า คนไทย จีน และมลายู ก็ยังนั่งเคียงข้างกันในร้านอาหารและร้านกาแฟ และพูดคุยกันถึงราคาผลไม้ที่แสนถูกและสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า ทางการยังคงกำลังสืบสวนคดีประกบยิงสองแม่ลูกในระยะชั้นชิดในตอนกลางวันแสก ๆ นั้นอยู่ และยังไม่ได้ตัดประเด็นเรื่องความขัดแย้งส่วนตัว หรือการชิงทรัพย์ในฐานะมูลเหตุจูงใจของเหตุฆาตกรรมนี้ออกไป

เมื่อพิจารณาจากลักษณะที่สองแม่ลูกคู่นี้ถูกฆาตกรรมแล้ว ดูเหมือนว่ามูลเหตุจูงใจที่แท้จริงไม่น่าจะใช่การชิงจักรยานยนต์ สร้อยข้อมือ และแหวนหนึ่งวง

และหากเหตุการณ์ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว  โอกาสที่จะหาตัวคนร้ายมาลงโทษนั้นย่อมมีน้อยเหลือเกิน คดีอาชญากรรมส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนใต้มักจะไม่ได้รับการคลี่คลาย

เพราะข้อมูลไม่พอ ความจริงเป็นสิ่งไม่แน่นอน และชีวิตราคาถูก

สำหรับการยุติเหตุก่อความไม่สงบที่มีมานานหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นสาเหตุของความรุนแรงที่ไร้จุดจบในสามจังหวัดชายแดนใต้แล้วล่ะก็ ทางการก็มัวแต่ยุ่งกับเรื่องอื่น ๆ ในกัวลาลัมเปอร์และกรุงเทพฯ

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและการพัฒนาสำหรับองค์กรระหว่างประเทศ และทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง