การเมืองไทยยังคงตกเป็นเบี้ยของรัฐประหารปี 2557
2024.05.21
หนึ่งทศวรรษหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อรัฐประหาร ประเทศไทยดูเหมือนจะได้รับประชาธิปไตยกลับมาอย่างเป็นทางการ แต่เสียงของประชาชนยังคงถูกกดขี่
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารนำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ หลังจากที่เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า กฎหมายชุดเก่าไม่ได้มีพลังในการลดทอนอำนาจของพรรคฝ่ายประชานิยม นับเป็นการก่อรัฐประหารครั้งล่าสุดในประวัติศาสตร์ไทย
ตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่พลเอก ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองทัพและนายกรัฐมนตรี เขาไม่เร่งรีบที่จะถ่ายโอนอำนาจ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2560 ที่ร่างโดยสภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารแต่งตั้ง ยังถูกออกแบบมาเพื่อรักษาให้ทหารยังคงมีอำนาจเหนือการเมือง โดยกองทัพยังคงอำนาจแทรกแซงการเมืองไทยผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่
วิธีการแรก กองทัพและกลุ่มชนชั้นนำที่ออกตัวเป็นผู้ภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ม. 112) และกฎหมายอื่น เป็นอาวุธในการควบคุมจัดการประชาชนฝ่ายที่เห็นต่าง
โดยจากข้อมูลสถิติพบว่า ในช่วงสองทศวรรษก่อนที่จะมีการก่อรัฐประหารในปี 2549 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการกระทำความผิดในข้อหาตาม ม. 112 ประมาณ 5 คดี ต่อปี แต่ภายหลังการรัฐประหาร ช่วงระหว่างปี 2557-2560 ตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดี ม. 112 พุ่งสูงขึ้นเป็น 105 คดี ต่อปีโดยเฉลี่ย และตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำกระความผิดตาม ม. 112 พรก. ฉุกเฉิน และกฎหมายอื่น ๆ ที่ออกมาเพื่อปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบราว 2,000 คดี
นักเคลื่อนไหวทางการเมืองได้เสนอ 2 แนวทางในการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ หนึ่งคือ การแยก ม. 112 ให้ขาดออกจากความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ หากการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ถูกมองว่าเป็นการก่อกบฏ ผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าวจะมีโทษจำคุกสั้นลง
ส่วนแนวทางที่สองคือการเปลี่ยนแปลงวิธีการในการเป็นผู้ยื่นฟ้องหากมีผู้พบว่าเกิดการละเมิดกฎหมาย ม. 112 เนื่องจากในปัจจุบัน ไม่ว่าใครก็สามารถยื่นฟ้อง ม. 112 ได้หากเข้าใจว่าผู้ถูกกล่าวหาทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีหน้าที่ต้องสอบสวนคดีต่อ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงเรียกร้องให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์เท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ยื่นฟ้องขาประจำใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการโจมตีศัตรูทางการเมืองได้สำเร็จ
แต่การปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ กลับถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะล้มล้างรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลจึงยังคงใช้ ม. 112 เป็นเครื่องมือในการจับกุมดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง และใช้เงื่อนไขการประกันตัวที่หนักข้อในการปิดปากพวกเขา
กลยุทธ์ที่สองที่คณะรัฐประหารใช้เพื่อคงอำนาจในการบริหารประเทศ คือการแต่งตั้งตัวแทนให้เข้าไปนั่งในองค์กรทางการเมือง เช่น วุฒิสภา องคมนตรี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (กกต.) และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ป.ป.ช.) โดยไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้สว. ที่มาจากการแต่งตั้งรักษาการอำนาจในระยะเวลา 5 ปีแรก ซึ่งวุฒิสภาชุดนี้ถือครองอำนาจที่ไม่ปกติธรรมดาเนื่องจากมีสิทธิในการลงมติเห็นชอบในการแต่งตั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐบาล ต้องการเสียงส่วนใหญ่ 376 เสียง กล่าวคือ ต้องได้เสียงโหวตมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในทั้งสองสภา ซึ่งสว. มากกว่าครึ่งที่อยู่ฝ่ายเดียวกับทหารและตำรวจมีแนวโน้มที่จะเทคะแนนเสียงให้ฝ่ายของตนเอง
ถึงแม้ว่าพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยจะชนะเก้าอี้ไปทั้งหมด 136 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งปี 2562 แต่ท้ายที่สุดแล้วพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่ประกอบไปด้วยทหารเป็นส่วนมากกลับกลายเป็นพรรคได้รับชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยที่นั่ง 116 ที่นั่ง เพียงเพราะมีสว. คอยหนุนหลังและลงคะแนนเสียงให้อย่างเต็มกำลัง และในทำนองเดียวกันคณะสว. ก็ขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเจตจำนงของประชาชนในการเลือกตั้งปี 2566
พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด แต่ไม่มีทางที่จะรวบรวมเสียงส่วนมากจากทั้งสองสภาได้แม้ว่าจะควบคุมฐานเสียงจากสส. ได้อย่างง่ายดายก็ตาม
ถึงแม้วาระอำนาจของ สว. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารชุดก่อนจะสิ้นสุดลงในเดือนนี้ และการเลือกตั้ง สว. ชุดใหม่จำนวน 200 คน ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นโดยผ่านกระบวนการการสรรหาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่แตกต่างหลากหลาย จะไม่มีอำนาจในการลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม องคมนตรี ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่มาจากการแต่งตั้งที่มีอำนาจมากที่สุดในปัจจุบัน ยังคงมีบทบาทต่อเวทีการเมืองไทย โดยหนึ่งในสมาชิกองคมนตรีที่มีอำนาจในแทรกแซงนโยบายรัฐ ได้แก่ พลเอก ประยุทธ์ ผู้ซึ่งได้รับการเแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในองคมนตรี ภายหลังจากที่รัฐบาลคสช. พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 2566 อย่างราบคาบ
ด้านองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. และ กกต. ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่ามีส่วนร่วมในการแทรกแซงทางการเมือง จากความย้อนแย้งสองมาตรฐานในการทำหน้าที่ ดังเช่นการที่ ป.ป.ช. ถูกครหาว่า คอยออกโรงปกป้องเหล่านักการเมืองที่มีฝ่ายกองทัพคอยสนับสนุน ในขณะที่ดำเนินการตรวจสอบฝ่ายค้านอย่างเข้มงวด
ในขณะที่ กกต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สมควรที่จะได้รับเสียงชื่นชม เพราะมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกจัดการเลือกตั้งและนับคะแนนเสียงทั้งหมด แต่กลับกลายเป็นว่าทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง กกต. ได้ใช้อำนาจในการแก้ไขเขตลงคะแนนเสียงและตัดสิทธิ์ผู้สมัคร รวมถึงอำนาจในการชงเรื่องให้ยุบพรรคฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สาม ที่กลุ่มชนชั้นนำผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และทหารจะสามารถหล่อเลี้ยงอำนาจทางการเมืองเอาไว้ได้
เริ่มจากการรัฐประหารในปี 2549 ที่มีการยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นทายาทของพรรคไทยรักไทย ต่อมาในปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแห่งที่สามของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ตามคำแนะนำของกกต. หลังจากที่พรรคไทยรักษาชาติ เสนอทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นหนึ่งในผู้แทนในการสมัครลงเลือกตั้ง
ต่อมาในปีเดียวกัน การได้รับคะแนนโหวตจากการเลือกตั้งอย่างล้นหลามของพรรคอนาคตใหม่ถึง 17.3% ชนะที่นั่ง 81 ที่นั่ง ในสภาส่งผลให้หัวหน้าพรรคคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และกรรมการบริหารพรรคคนสำคัญ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี แต่พรรคอนาคตใหม่ก็ประกอบร่างสร้างพรรคใหม่อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นพรรคก้าวไกล ซึ่งใช้เวลาอีก 4 ปีต่อมา ในการเก็บรวบรวมฐานเสียงทั่วประเทศจนนำไปสู่ชัยชนะการเลือกตั้งในปี 2566 ได้ในที่สุด
ปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญมีความแน่วแน่ที่จะยุบพรรคก้าวไกล หลังวินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ใช้การเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งผลให้นายพิธาและคณะกรรมการบริหารพรรคอีก 43 คน อาจจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
แต่การตัดสินยุบพรรคก้าวไกล อาจจะมีความเสี่ยงที่ชัดเจน เนื่องจากพรรคก้าวไกลไม่เพียงแค่แบ่งฐานเสียงผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งไปถึง 38% ในปีที่ผ่านมา ความนิยมของพรรคเองก็พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 44% ในการสำรวจโพลครั้งล่าสุด ดังนั้นการตัดสินยุบพรรคก้าวไกลอาจจะจุดชนวนในการชุมนุมบนท้องถนนได้เสมอ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลยุทธ์ทั้งสามของฝ่ายทหารและผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประสบความสำเร็จคือ ศักยภาพในการควบคุมอำนาจตุลาการ ซึ่งต่อยอดอำนาจมาจากองคมนตรี เนื่องจากประธานศาลรัฐธรรมนูญและผู้ที่ได้รับตำแหน่งคนก่อนหน้า รับหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจควบคุมเครือข่ายอุปถัมภ์อันกว้างขวาง
ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรที่ควรจะทำงานเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้นเรื่อย ๆ
ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่สนับสนุนฝ่ายที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้เหตุผลทางกฎหมายหลายข้อที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยเฉพาะในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ขัดต่อความถูกต้องของกฎหมายและหลักนิติศาสตร์
ผลจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวบอำนาจในการควบคุมตุลาการและหน่วยงานอิสระ เปลี่ยนกฎหมายเป็นอาวุธทางการเมือง ทำให้ พลเอก ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 ว่า การทำรัฐประหารจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะ “การก่อรัฐประหารทางกฎหมาย” ก็มีศักยภาพเพียงพอแล้ว ที่จะสืบทอดอำนาจของทหารต่อไปได้
ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของเขาเอง และไม่ได้สะท้อนถึงความคิดเห็นของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ หรือเบนาร์นิวส์