พรรคการเมืองที่มีทหารหนุนหลัง ยังคงแทรกแซงการเมืองไทยต่อไป

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2024.09.13
พรรคการเมืองที่มีทหารหนุนหลัง ยังคงแทรกแซงการเมืองไทยต่อไป พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (กลาง) รองนายกรัฐมนตรี และผู้สมัครนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ (ในขณะนั้น) เดินทางมาจับฉลากหมายเลขผู้สมัคร ในกรุงเทพฯ วันที่ 4 เมษายน 2566
ศักด์ชัย ลลิต/เอพี

กลุ่มชนชั้นนำฝ่ายทหารและกลุ่มกษัตริย์นิยมของไทยยังคงแทรกแซงการเมืองผ่านการควบคุมตุลาการและองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และมีคำสั่งให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับข้อร้องเรียนว่าพรรคเพื่อไทยที่ครองอำนาจอยู่นั้นอยู่ภายใต้ "การควบคุม" ของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกศาลสั่งห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งสาธารณะหรือไม่

องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากกว่าเดิมต่อพรรคการเมืองที่ถูกชักใยโดยกลุ่มชนชั้นนำ

ผลประโยชน์ทหารถูกผลักดันผ่านพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งนำโดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร เคยรับบทบาทเป็นผู้นำพรรค

แต่ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์กันเองทำให้พรรคพลังประชารัฐแตกแยก ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติก็เข้าขั้นวิกฤต เรื่องนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับทั้งสองพรรคระหว่างนี้จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ที่ต้องมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2570

TH-Abuza-2.jpg
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย (ในขณะนั้น) กล่าวปราศรัยในงานซอฟพาวเวอร์ฟอรัม ในกรุงเทพฯ วันที่ 28 มิถุนายน 2566 (ศักด์ชัย ลลิต/เอพี)

พรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารทั้งสองพรรคพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 แม้จะมีผลงานที่ย่ำแย่ แต่ทั้งสองพรรคก็แย่งชิงส่วนแบ่งในคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเศรษฐาไปอย่างไม่สมส่วน โดยได้ที่นั่งในฝั่งรัฐบาลไป 6 ตำแหน่ง รวมถึงรองนายกรัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง

พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ สามารถไปต่อในเส้นทางการเมืองด้วยข้อตกลงทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่พวกเขาทำไว้กับพรรคเพื่อไทยเมื่อปีที่แล้ว ช่วงที่มีผู้นำเป็นนายเศรษฐา ซึ่งในตอนนี้พรรคเพื่อไทยเพิ่งจัดตั้งและกำลังนำรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากที่ผู้นำพรรคคนก่อนถูกให้ออกไปเมื่อเดือนที่แล้ว

ข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้รัฐสภาขัดขวางไม่ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล และอนุญาตให้ทักษิณเดินทางกลับจากการลี้ภัย นอกจากนี้ยังให้ที่นั่งในคณะรัฐมนตรีแก่พรรคทั้งสองเพื่อให้แน่ใจว่า นโยบายของรัฐบาลจะไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของกองทัพ

แต่เกมการเมืองได้เข้ามาขัดขวาง

ความทะเยอทะยานที่ล้มเหลว

เชื่อกันว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่เบื้องหลังการร้องเรียนเรื่องจริยธรรมที่นำไปสู่การล้มรัฐบาลของเศรษฐา คำร้องเรียนดังกล่าวถูกยื่นโดยกลุ่มวุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ ซึ่งหลายคนได้รับการคัดเลือกจากพลเอก ประวิตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก

เมื่อพิจารณาจากกฎการเลือกตั้งของไทย มีผู้สมัครเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรี และมีสามคนที่ถูกตัดสิทธิ์ไปแล้ว พลเอก ประวิตร ดูเหมือนจะวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้สมัครที่เต็มไปด้วยความประนีประนอม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการปล่อยคลิปเสียงที่อ้างว่า พลเอก ประวิตร ตัดพ้อว่าเขาควรได้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เป็นเบอร์สองที่จงรักภักดีมาหลายปี โดยคลิปหลุดดังกล่าวได้กลายเป็นไวรัล และขณะนี้คลิปเสียงดังกล่าวถูกนำมาอภิปรายในรัฐสภา

นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญบังคับให้เศรษฐาลาออกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา ความขัดแย้งภายในพรรคก็กลายเป็นเรื่องที่เกินเยียวยา โดยสมาชิกครึ่งหนึ่งของพรรคกังวลว่าการแทรกแซงของ พลเอก ประวิตร อาจทำให้พวกเขาได้รับความเสียหาย

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของพรรคเพื่อไทย ปลดพรรคพลังประชารัฐออกจากฝั่งรัฐบาล ซึ่งขณะนี้พรรคการเมืองได้จัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค ที่มีลักษณะคล่องตัวมากขึ้น

ในขณะเดียวกันนายธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งถูกศาลออสเตรเลียตัดสินว่ามีความผิดฐานลักลอบขนยาเสพติด ได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกพรรคอีก 5 คน ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหาร

เมื่อวันที่ 6 กันยายน สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ที่เหลือได้เลือกนายประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง แต่ด้วยสมาชิกพรรคเพียง 20 คน ที่ได้รับที่นั่งเนื่องจากการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอื้อประโยชน์ทางการเมือง ทำให้ตอนนี้พรรคของพล.อ. ประวิตร กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านเล็ก ๆ ที่ไร้ความสำคัญ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งใหม่ ได้ขู่ว่าจะตอบโต้ธรรมนัส ซึ่งสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 20 คน ของเขา ได้เข้าร่วมรัฐบาลผสมของ น.ส. แพทองธาร

จนถึงตอนนี้ พวกเขายังคงอยู่ในพรรคเพื่อไม่ให้ต้องสละที่นั่งในสภา แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากลุ่มของธรรมนัสจะลงเอยที่ไหน พวกเขาอาจจะตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นของตนเอง หรืออาจจะไปรวมเข้ากับพรรคอื่น

TH-Abuza-3.jpg
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป ณ หน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 (ศักด์ชัย ลลิต/เอพี)

ความขัดแย้งกันเองภายในพรรคนี้ทำให้สมาชิกพรรคหลักลาออก และนำไปสู่การอพยพของสมาชิกพรรคคนสำคัญ รวมถึงสมาชิกที่เป็นคนสำคัญทางการเมืองจากตระกูลดังของโคราชและยะลา ส่วนสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ คนอื่น ๆ กำลังมองหาทางออก คำถามที่ตามมาคือ พวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน

พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะอยากรวมสมาชิกจากพลังประชารัฐ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคตนเอง เนื่องจากการควบรวมเป็นหนึ่งในเส้นทางเดียวที่จะทำให้พรรคเติบโตต่อไปได้

ประยุทธ์กับการออกจากเส้นทางการเมือง

ในส่วนของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และเกษียณจากเกมการเมืองไปแล้ว ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2557-2566 เขาเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีไปทั่วประเทศ แม้ว่าประชาชนจะเบื่อหน่ายกับการมี “ลุงตู่” เป็นนายก และนโยบายของเขาก็ตาม

พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ผู้นำพรรครวมไทยสร้างชาติ คนปัจจุบัน เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่เก่งกาจ แต่ขาดเสน่ห์ดึงดูด

พรรครวมไทยสร้างชาติ และกลุ่มของธรรมนัสยังคงมีเสียงที่ไม่สมดุลในรัฐบาลของแพทองธาร โดยครองที่นั่งในคณะรัฐมนตรีประมาณ 20% จากทั้งหมด 35 ที่นั่ง รวมถึงกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอีก 4 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายทหารและกลุ่มกษัตริย์นิยมกลับมีความขัดแย้งและขาดความเชื่อมโยงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งของไทยมากขึ้น ขณะที่ฐานเสียงที่มาจากกลุ่มผู้สูงวัยของพรรคกำลังลดน้อยลง ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถเพิ่มการสนับสนุนจากกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธที่จะสนับสนุนการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพและหันไปสนับสนุนพรรคประชาชน

TH-Abuza-4.jpg
น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์หลังกล่าวปราศรัย ที่สำนักงานใหญ่พรรค ในกรุงเทพฯ วันที่ 27 ตุลาคม 2566 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

พรรคอื่น ๆ ก็อาจจะพยายามเรียกคะแนนมาได้บ้างบางส่วน พรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคที่เป็นที่รู้กันดีว่าได้รับการสนับสนุนมาจากราชวงศ์ไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ใหญ่เป็นอันดับสามในรัฐสภาด้วย 70 ที่นั่ง อาจดึงความสนใจได้จากคนบางกลุ่ม แต่แนวนโยบายที่สนับสนุนกัญชาและเน้นภูมิภาคของพวกเขา อาจทำให้คนอื่นรู้สึกว่าถูกมองข้ามไป

พรรคประชาธิปัตย์พยายามที่จะกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง หลังจากเข้าร่วมรัฐบาลของแพทองธาร โดยได้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสองตำแหน่ง แต่ประชาธิปัตย์มีปัญหาพื้นฐานคือ ไม่มีใครรู้ว่าจุดยืนของพวกเขาอยู่ตรงไหน นับตั้งแต่ที่พวกเขาสนับสนุนให้เกิดการทำรัฐประหารโดยกองทัพในปี 2557 ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นอาของแพทองธาร

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย กลายเป็นพรรคการเมืองระดับภูมิภาคเล็ก ๆ ที่ได้รับคะแนนเสียงเพียง 2.29% ในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2566

และนั่นเป็นลางบอกเหตุที่ไม่ดีสำหรับประชาธิปัตย์ เนื่องจากพรรคมีนโยบายที่ล้าสมัยและโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป คาดว่าพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพจะทำผลงานได้ไม่ดีในการเลือกตั้ง พวกเขาได้ประโยชน์จากการคำนวณของพรรคเพื่อไทยว่า การให้พวกเขาอยู่ในรัฐบาลผสมนั้นเป็นประโยชน์ทางการเมือง

แต่การวางแผนของ พล.อ. ประวิตร กลับละเมิดข้อตกลงอันยิ่งใหญ่นั้น และทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจว่ากองทัพไม่ควรไว้วางใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

ด้วยโอกาสเพียงเล็กน้อยในการเลือกตั้ง ชนชั้นนำฝ่ายทหารและกลุ่มกษัตริย์นิยม จะยังคงแทรกแซงการเมืองผ่านการควบคุมองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งต่อไป ปัจจุบันมีการร้องเรียนทางกฎหมายและจริยธรรมต่อพรรคเพื่อไทยแล้ว 11 เรื่อง ซึ่งจำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง