จีนกดดันไทยให้จัดการแหล่งสแกมเซ็นเตอร์แนวชายแดน

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2025.02.17
จีนกดดันไทยให้จัดการแหล่งสแกมเซ็นเตอร์แนวชายแดน รูปภาพโดย เอพี, สต๊อกอะโดบี
อแมนดา ไวส์บร็อด/เรดิโอฟรีเอเชีย

นายหวัง ซิง (Wang Xing) นักแสดงชาวจีนบินมาที่กรุงเทพมหานครด้วยความหวังที่ว่า เขาจะได้แคสติ้งบทนักแสดงในประเทศไทย แต่กลับถูกลักพาตัวและถูกส่งตัวข้ามพรมแดนไปยังประเทศเมียนมาเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยแฟนสาวของเขานำเรื่องนี้ไปโพสต์ในเว๋ยโป่ ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ยอดนิยมของจีน และครอบครัวได้ส่งเรื่องไปยังทางการจีน ทำให้เขาได้รับความช่วยเหลือออกมา

จากเหตุนี้เอง จีนจึงส่งสัญญาณกดดันทางการไทยให้เร่งดำเนินการจัดการปัญหานี้ โดยสื่อจีนที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีนมุ่งเป้าไปที่แหล่งสแกมเซ็นเตอร์ และสถานการณ์ความไร้หลักการด้านกฎหมายของไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทำกำไรได้อย่างมหาศาล

เจ้าหน้าที่ไทยรับลูกต่ออย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นเพียง 4 วัน นายหวังก็ได้รับการช่วยเหลืออออกมาได้สำเร็จ จึงดูคล้ายกับว่า รัฐบาลไทยมีอิทธิพลในการควบคุมและแทรกแซงเหล่าสแกมเซ็นเตอร์มากกว่าที่เคยแสดงออกในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อสานสัมพันธ์ไทย-จีนครบรอบ 50 ปี และได้ให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐบาลไทยจะทำงานเต็มที่เพื่อกวาดล้างบรรดาแหล่งแสกมเซ็นเตอร์ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็เน้นย้ำว่า การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติเป็น “วาระสำคัญของประเทศ” นับว่าเป็นครั้งแรก ที่ผู้นำของไทยประกาศอย่างชัดเจนว่าฐานแสกมเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่บริเวณแนวชายแดนเมียนมาเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทย

หลังจากนั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของประเทศไทย (กฟภ.) ได้ดำเนินการหยุดส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเคเคพาร์ค และฐานอื่น ๆ อีก 4 จุดในบริเวณเดียวกัน สังคมจึงมีสิทธิที่จะสงสัยว่าทางการไทยมีจุดประสงค์ซ่อนเร้นอย่างไรในการร่วมมือดำเนินการตัดไฟฟ้าครั้งนี้ เนื่องจากนี่เป็นประเด็นที่ค่อนข้างคุ้นเคยกันดี

นับตั้งแต่ที่กองกำลังฝ่ายต่อต้านของเมียนมาได้เข้ายึดพื้นที่เมืองชายแดนจีน พวกเขาก็ได้ดำเนินการปิดแหล่งแสกมเซ็นเตอร์และร่วมมือกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมายตามแนวทางของทางการจีน ส่งผลให้ชาวจีนนับร้อยคนถูกส่งตัวกลับประเทศ รวมไปถึงผู้ต้องสงสัยระดับบงการที่ทางการจีนต้องการตัว

นี่จึงเป็นเหตุให้เหล่าขบวนการสแกมเมอร์ต้องโยกย้ายฐานปฏิบัติการจากชายแดนจีน และหลั่งไหล มายังเขตชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณเมียวดี-แม่สอด ซึ่งมีเพียงแม่น้ำเมยที่ทั้งแคบและตื้นเป็นเส้นแบ่งพรมแดน โดยกลุ่มแสกมเมอร์เหล่านี้ใช้กระแสไฟฟ้ารวมถึงอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายปี

2-china-pushes-thailand-act-cross-border-scam-centers.jpg
นักแสดงชาวจีน หวัง ซิง (ขวา) สนทนากับเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยในอำเภอแม่สอด ชายแดนของไทยติดกับประเทศเมียนมา วันที่ 7 มกราคม 2568 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

ประเทศไทยเคยดำเนินการหยุดส่งกระแสไฟฟ้าในช่วงสั้น ๆ ในช่วงกลางปี 2566 แต่นั่นก็หลังจากที่ส่งสัญญาณให้ฐานชายแดนเหล่านี้มีเวลาซื้อเครื่องปั่นไฟฟ้าดีเซล ยิ่งไปกว่านั้นการดำเนินการตัดไฟฟ้าต้องล้มเลิกไปในไม่กี่สัปดาห์ หลังจากเมืองชเวโก๊กโก ซึ่งเป็นศูนย์รวมบ่อนและแสกมเซ็นเตอร์ได้เซ็นซื้อขายพลังงานไฟฟ้าถึง 8,000 กิโลวัตต์กับคู่ค้าชาวไทย ไฟฟ้าทั่วเมืองจึงสว่างจ้าอีกครั้ง 

ปัจจุบัน พื้นที่ชายแดนกว่า 20 แห่งยังคงมีไฟฟ้าใช้ อีกทั้ง บริการอินเทอร์เน็ต สตาร์ลิงก์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ก็นับเป็นแผนสำรองของศูนย์แสกมเซ็นเตอร์ หากต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อเชื่อมต่อ

นี่จึงชี้ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยจำนวนมากได้ประโยชน์จากข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว

ถึงแม้ว่าไทยจะตัดขาดไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปยังแสกมเซ็นเตอร์เหล่านี้ แต่คอนกรีตและวัสดุก่อสร้าง รวมถึงอาหาร เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เครื่องมืออื่น ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างและหล่อเลี้ยงศูนย์แสกมเซ็นเตอร์ที่ทำกำไรมหาศาล ล้วนถูกส่งมาจากประเทศไทยทั้งหมด

ดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังดำเนินงานภายใต้ความกดดัน เห็นได้จากการที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะจีนได้เดินทางไปเยือนแม่สอดในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่นานนักหลังจากที่นายกรัฐมนตรีแพทองธารเดินทางเยือนจีน สะท้อนให้เห็นว่าทางการจีนจะไม่ยอมรับการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปของไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลเมียนมาปิดเส้นทางขนส่งน้ำมัน เข้าแหล่งสแกมเซ็นเตอร์ทางชายแดนเมียวดี

ภูมิธรรม ลงพื้นที่แม่สอด รับเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ 61 คน กลับจากเมียนมา

กฟภ. ตัดไฟฟ้าสแกมเซ็นเตอร์เมียนมาแล้ว 5 จุด


วันที่ 5 กุมภาพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงว่า พวกเขากำลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 5 รายที่ประจำการในจังหวัดตาก หนึ่งในนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่มียศถึงพลตำรวจตรี ที่พบว่ามีฐานะมั่งคั่งผิดปกติ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 รายนี้ ได้ถูกสั่งย้ายไปที่กรุงเทพฯ เพื่อรอการสืบสวนต่อไป

ในวันเดียวกัน กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย หรือ DKBA (the Democratic Karen Buddhist Army) ซึ่งเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนที่ฝักใฝ่รัฐบาลทหารเมียนมาได้ส่งตัวเหยื่อชาวต่างชาติ 261 ราย จากประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ กลับไปยังประเทศไทย

แม้ภาพเหยื่อที่ถูกส่งกลับมาไทยที่อัดแน่นอยู่ภายในเรือจะดูสะดุดตา แต่นี่เป็นเพียงพวกเขาเหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวเท่านั้น เพราะยังมีเหยื่อที่ถูกล่อลวงอีกกว่า 17,000 ราย ยังติดอยู่ในแหล่งแสกมเซ็นเตอร์ฝั่งเมียนมา

กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยอ้างว่า พวกเขาจะส่งตัวแรงงานต่างชาติราว 8,000 ราย ออกจากแสกมเซ็นเตอร์ ทว่า ในความเป็นจริง เหล่าขบวนการสแกมเมอร์จะยังคงดำเนินการล่อลวงค้ามนุษย์เพื่อมาทำงานในแสกมเซ็นเตอร์ต่อไป เพื่อทดแทนเหยื่อที่ถูกช่วยเหลือออกไป

3-china-pushes-thailand-act-cross-border-scam-centers.jpg
สหประชาชาติระบุว่า กลุ่มอาชญากรได้ทำการหลอกลวงค้ามนุษย์ผู้คนไปแล้วหลายแสนราย บังคับให้พวกเขาทำงานออนไลน์ผิดกฎหมาย ซึ่งสร้างรายได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รอยเตอร์)

เราอาจสังเกตสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดที่บ่งบอกว่าทางการไทยได้เร่งตอบสนองแรงกดดันจากทางการจีน จากเหตุการณ์ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมของไทยประกาศว่า กำลังดำเนินการออกหมายจับ ซอว์ ชิต ตู (Saw Chit Thu) ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมาและเป็นผู้สร้างเมือง ชเวโก๊กโก รวมถึงผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยอีก 2 ราย บางกอกโพสต์รายงานว่า อาจจะมีการออกหมายจับในสัปดาห์หน้า

ถึงแม้ทางการไทยจะคาดหวังความร่วมมือจากรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน ทว่า ซอว์ ชิต ตูได้จัดหาแหล่งรายได้สำคัญจากศูนย์กลางของการพนันออนไลน์และอาชญากรรมข้ามชาติให้กับรัฐบาลเผด็จการ ที่ในเวลานี้ต้องปกครองประเทศท่ามกลางระบบเศรษฐกิจแบบชอบด้วยกฎหมายที่กำลังจะล่มสลาย

ตั้งแต่ที่เขาประกาศแยกตัวออกจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) ในปี 2537 และเข้าร่วมข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ในปี 2537 ซอว์ ชิต ตูได้ผนึกสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกองทัพทหารเมียนมาและปกครองเมืองชเวโก๊กโกอย่างมีอิสระเสรี

รัฐบาลทหารเมียนมาถูกกดดันจากทางการจีนให้เร่งจัดการแหล่งสแกมเซ็นเตอร์อย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ทำให้พวกเขาจำต้องยอมส่งตัว ซอว์ ชิต ตู เนื่องจากยังต้องพึ่งพากำลังทหาร พึ่งพิงทางเศรษฐกิจและการทูตกับประเทศจีน

รัฐบาลทหารเมียนมาจึงแสดงท่าทีให้ความร่วมมือเล็กน้อยในสัปดาห์นี้ โดยการสั่งห้ามไม่ให้มีการขนส่งเชื้อเพลิงดีเซลเข้าไปที่แสกมเซ็นเตอร์ชั่วคราว แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่เพียงพอในสายตาของรัฐบาลจีน

scam center commentary 3.jpg
นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เข้าพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่ง วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 (คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี)

คำถามสำคัญของประเด็นนี้คือ ความร่วมมือในการจัดการขบวนการสแกมเมอร์ของรัฐบาลไทยจะมีความยั่งยืนหรือไม่

ภายหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่า คู่แข่งในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายประเทศ อัตราความเหลื่อมล้ำของประชากรพุ่งสูงขึ้นจากอัตราที่สูงอยู่เป็นทุนเดิม ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ไปจนถึง 2.9 ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม

นอกจากนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพิงประเทศจีนอยู่มากอย่างมิได้คาดหมาย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมากที่สุด ซ้ำยังเป็นแหล่งลงทุนลำดับต้น ๆ ของนักลงทุนชาวจีนที่มาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2566

นักลงทุนจีนยังครอบครองตลาดการผลิตเสียเป็นส่วนใหญ่ และชาวจีนเป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยรายใหญ่ที่สุดในบรรดากลุ่มชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ทเมนต์ในกรุงเทพมหานคร หรือรีสอร์ทริมทะเลที่จังหวัดภูเก็ต

การเลือกตั้งในประเทศไทยกำลังจะถูกจัดขึ้นในช่วงกลางปี 2568 ดังนั้น นายกแพทองธารจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต หากเธอล้มเหลว รัฐบาลพันธมิตรของพรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มที่จะแตกสลายไปก่อนที่แต่ละพรรคการเมืองต่าง ๆ จะเริ่มวางแผนกลยุทธ์การเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ

ถัดไปจากกรณีซอว์ ชิต ตู การส่งตัวนายเสอ จื้อเจียง (She Zhijiang) ประธานบริษัทหยาไถ่ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป (Yatai International Holding Group) ผู้ที่ทำงานเป็นคู่หูกับซอว์ ชิต ตู ในการบริหารธุรกิจ ณ เมืองชเวโก๊กโก อาจเป็นบททดสอบความร่วมมือระหว่างทางการไทยและจีน

นายเสอคือนักธุรกิจชาวจีนที่ได้รับสัญชาติกัมพูชา และถูกตำรวจไทยจับกุมตัวในกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 จากหมายจับจากรัฐบาลจีน โดยเขาได้พยายามต่อสู้ไม่ให้ถูกส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศจีน

ทางการจีนอ้างหลักฐาน “ชี้ขาด” ว่านายเสอเป็น “ตัวการสำคัญเบื้องหลังการพนันออนไลน์และมิจฉาชีพที่ใช้บริการทางโทรศัพท์เพื่อก่ออาชญากรรม” และเขามีพันธมิตรในกรุงเทพมหานครมากพอที่ไม่เชื่อมั่นในหลักฐานดังกล่าว

ท้ายที่สุดแล้วจึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ไทยจะโอนอ่อนต่อกระแสแรงกดดันหรือไม่

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง