การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ล่าสุด : ไปไกลเกินไปไหม

ดูเหมือน ’เอกราช’ จะไม่อยู่บนโต๊ะเจรจาแล้ว แต่ไม่รู้ชัดว่ากองกำลังบีอาร์เอ็นเห็นด้วยหรือไม่
บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2022.04.04
กรุงเทพฯ
การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ล่าสุด : ไปไกลเกินไปไหม อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือ นายฮีพนี มะเร๊ะ) หัวหน้าคณะผู้แทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น ในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ พูดในงานแถลงข่าวที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 1 เมษายน 2565
เอส. มาห์ฟุซ/เบนาร์นิวส์

เมื่อดูอย่างผิวเผิน การเจรจาระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นรอบล่าสุด ดูเหมือนว่าจะก่อให้เกิดความหวังต่อประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากองกำลังของบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีศักยภาพสูงสุดในพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้แล้วกว่า 7,300 คน จะยอมรับผลการเจรจาหรือไม่

เพียงแค่หนึ่งวันก่อนการเจรจาจะเกิดขึ้น ในเวลาก่อนเที่ยงของวันพุธ (30 มีนาคม 2565) ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ได้วางระเบิดรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา จนเสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บอีก 2 นาย เป็นการเตือนว่าจะยังไม่มีการยุติเหตุรุนแรงในพื้นที่ที่มีประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวเชื้อสายมลายู

การเจรจาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ถึง 1 เมษายน ที่ผ่านมานี้ เป็นการประชุมถึงเนื้อหาที่ค้างคามาจากการพูดคุยเมื่อเดือนมกราคม ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะผลักดันในสามประเด็น คือ กลไกการปรึกษาหารือในพื้นที่ให้ครอบคลุมกว้างขวางขึ้น การลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในพื้นที่ที่มีปัญหามาเกือบยี่สิบปี

ในขณะเดียวกัน ได้ปรากฏข้อมูลที่ไม่เปิดเผยมาก่อนว่า เมื่อปลายปีที่แล้วได้มีการพูดคุยในทางลับที่ทำให้เกิดโครงร่างหลักการทั่วไปที่จะใช้ในการเจรจาในการพบปะของสองฝ่ายเป็นครั้งที่สี่เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องต้องกันว่าการเจรจาในอนาคตจะมีพื้นฐานอยู่ภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของราชอาณาจักรไทยตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ซึ่งเมื่อการเจรจาแบบตัวต่อตัวสิ้นสุดลงเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ข้อความนี้ก็ได้ปรากฏในแถลงการณ์ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

“มันฟังดูเหมือนว่าการเจรจาบรรลุเป้าหมายแต่ในความเป็นจริง มันเป็นลูกไม้ตื้น ๆ และเป็นการเสแสร้งซึ่งจะไม่มีผลใด ๆ ต่อกองกำลังภาคสนาม” นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน เดอะ ปาตานี (The Patani) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนสิทธิในการกำหนดชะตาของชาวปาตานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุอย่างชัดเจนว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้” ด้วยเหตุนี้ สำหรับกองกำลังของบีอาร์เอ็น หรือต่อสาธารณชนทั่วไป นั่นหมายถึงว่า บีอาร์เอ็นจะต้องล้มเลิกการต่อสู้เพื่อเอกราช

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงเรื่องนี้ หลังจากการเจรจารอบนี้จบลง ทั้งฝ่ายขบวนการและฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยไม่ได้ยืนยันหรือตอบรับว่า บีอาร์เอ็นซึ่งเป็นกลุ่มที่คุมกองกำลังที่ก่อเหตุในพื้นที่จะยอมรับสิ่งอื่นใดที่น้อยไปกว่าเอกราช

เป็นเวลากว่าสิบแปดปีแล้วที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ กองกำลังในพื้นที่ได้รับการบอกกล่าวว่า การต่อสู้ของพวกเขานั้นเป็นพันธกิจทางจริยธรรม และเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์เพื่อการปลดปล่อยมาตุภูมิมลายูจากการรุกรานของกองกำลังสยามหรือไทย 

ขณะนี้ กองกำลังในพื้นที่ทราบถึงการที่ผู้แทนบีอาร์เอ็น “ยอมรับการอยู่ภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของราชอาณาจักรไทย” และได้แนะนำให้อยู่ในความสงบโดยกล่าวว่าข้อตกลงนั้นเป็น “วิถีทางทางการทูต” แหล่งข่าวใกล้ชิดเหตุการณ์รายหนึ่งกล่าว   

220404-th-don-pathan-analysis-inside.jpg

ญาติและชาวบ้านที่มาร่วมไว้อาลัยนำศพของเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวไทยมุสลิม 2 นาย ซึ่งถูกลักพาตัวไปและสังหารโดยกลุ่มก่อความไม่สงบ เพื่อทำพิธีฝังที่สุสานแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 (เอเอฟพี)

นายอาเต็ฟ เชื่อว่าปีกทหารของบีอาร์เอ็นจะแยกตัวออกมา หากว่าบรรดาเหล่านักรบเหล่านั้น เกิดความรู้สึกว่าเป้าหมายทางการเมือง และ “จุดมุ่งหมายอันศักดิ์สิทธ์” ถูกลดทอนลง

เฉกเช่นเดียวกันกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยอื่นใดที่แยกตัวออกมา กองกำลังเหล่านั้นล้วนแต่ต้องการที่จะอวดศักยภาพในการปฏิบัติการของกลุ่มตน

กลุ่มชาติพันธุ์ย่อยอื่น ๆ เช่น กลุ่ม Basque Homeland and Liberty (ETA) ในแคว้นบาสก์ในสเปน หรือ กลุ่ม Moro Islamic Liberation Front (MILF) ในฟิลิปปินส์ ก็ต้องใช้เวลานานหลายปีในการกำหนดแนวทางการเจรจาที่เป็นที่ยอมรับของกองกำลังในปีกทหารของตน ก่อนที่จะนำขึ้นสู่โต๊ะเจรจา แต่การแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

เมื่อกลางเดือนมีนาคมก่อนหน้ารอมฎอน นายอับดุลการิม คาลิด โฆษกประจำแผนกประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็น ได้เผยแพร่แถลงการณ์ทางยูทูบว่า ขอให้เดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ในปีนี้จงมีแต่ความสงบสุข

ฝ่ายทหารไทยเอง ก็ได้กล่าวว่า จะงดปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายในเดือนนี้หากว่าฝ่ายกองบีอาร์เอ็นหยุดปฏิบัติการเช่นกัน อันเป็นการสร้างความมั่นใจในกันและกัน  และหากไม่มีเหตุการณ์ในยี่สิบวันแรก สมาชิกขบวนการทั้งหลายจะได้รับอนุญาตให้มาทำละหมาดเอี๊ยะติกาฟในมัสยิดต่าง ๆ และพบเจอกับสมาชิกครอบครัวได้

บรรยากาศ ณ ปัจจุบันนี้ ถือว่ามีการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของความศรัทธา

นักรบของฝ่ายบีอาร์เอ็นโดนสังหารไปเป็นจำนวนมากในการปฏิบัติการค้นหาและสังหารโดยฝ่ายทหารไทย ในห้วงเวลาสองปีที่ผ่านมา หลังจากที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นประกาศว่าจะยุติการปฏิบัติการเมื่อเดือนเมษายน 2563 เพื่อให้ฝ่ายบ้านเมืองไม่ต้องกังวลว่าจะโดนยิงในขณะที่ช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19  

จากนั้นมา กองกำลังของบีอาร์เอ็นถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยยิงตาย 50 คน โดยฝ่ายไทยไม่ได้สนองตอบต่อการแสดงเจตนาที่ดีของฝ่ายบีอาร์เอ็น ด้วยเหตุนี้ นายอาเต็ฟและนักเคลื่อนไหวที่ใกล้ชิดคนอื่น ๆ จึงเชื่อว่ากองทัพบกยังต้องใช้หนทางอีกยาวไกลในการที่จะได้รับความไว้วางใจจากบีอาร์เอ็น

นอกจากนั้น ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุใด ๆ ว่า กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของไทยจะไม่ปฏิบัติการค้นหาและสังหารอีกเมื่อความริเริ่มรอมฎอนสันติสุขสิ้นสุดลง

ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็นและผู้แทนการเจรจาของบีอาร์เอ็น ไม่มีความกล้าหาญในการบอกกล่าวกับกองกำลังว่า ทางขบวนการได้ลดระดับเป้าหมายทางการเมืองเดิม กล่าวคือ จะไม่ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอีกแล้ว

สิ่งที่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่คือ การให้การจำกัดความเพื่ออธิบายถึงทิศทางการเจรจาที่ฝ่ายแกนนำบีอาร์เอ็นและฝ่ายคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ของไทยกำลังขับเคลื่อนอยู่นี้ว่ามีเหตุผลความชอบธรรมอย่างไร ทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นที่จะต้องอธิบายหรือจูงใจสาธารณชนหรือกลุ่มผู้สนับสนุนว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นมีความจำเป็นที่จะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทหารและกองกำลังของตนเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพนี้ และร่วมขับเคลื่อนกระบวนการนี้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน

ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของไทย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง