ภาษามลายูอาจเป็น 'ภาษาสื่อสาร' ในการพูดคุยสันติสุขที่จะมีระหว่างไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2021.12.28
ยะลา
ภาษามลายูอาจเป็น 'ภาษาสื่อสาร' ในการพูดคุยสันติสุขที่จะมีระหว่างไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น ประชาชนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ลุยน้ำท่วม หลังจากฝนตกหนัก ในอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส วันที่ 20 ธันวาคม 2564
เอเอฟพี

เมื่อคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ Barisan Revolusi Nasional – BRN) กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน กลับมาพูดคุยเพื่อสันติสุขแบบพบหน้ากันจริง ๆ อีกครั้งในเดือนหน้า อาจมีการหารือกันถึงการให้ภาษามลายูเป็น “ภาษาสื่อสาร” ควบคู่ไปกับภาษาไทย และการยอมให้ชาวมลายูมีพื้นที่ทางวัฒนธรรมมากขึ้นในไทย

ถ้าสองฝ่ายหารือกันถึงประเด็นเหล่านี้จริง ๆ ในระหว่างการพูดคุยที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลาง แสดงว่าสองฝ่ายกำลังข้ามผ่านขั้นตอนปกติในการสร้างความเชื่อมั่นแล้ว และกำลังเริ่มต้นประเด็นที่มีสาระสำคัญมากขึ้น

แต่ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ในประเด็นเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย พื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายู

การพูดคุยเพื่อสันติสุขที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากทั้งสองฝ่าย แต่ได้ข้อมูลมาจากแหล่งข่าวของแต่ละฝ่าย จะเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ง่อนแง่น เพราะฝ่ายต่อสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นและกองทัพไทยต่างก็ไม่สนใจเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุขตั้งแต่ต้น

และผลการตัดสินใจของทั้งสองฝ่ายที่โต๊ะเจรจา จะต้องได้รับการยอมรับจากบรรดานักรบของขบวนการแบ่งแยกดินแดนปาตานีมลายูที่มีมานานนี้ ซึ่งปัจจุบันควบคุมกำลังรบเกือบทุกคนของกลุ่มนี้

สองปีที่ผ่านมาที่ต้องสื่อสารกันทางออนไลน์ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การพูดคุยกันให้ผลทั้งในทางที่ดีและไม่ดี รวมทั้งการพลาดโอกาสต่าง ๆ ด้วย

การหยุดยิงฝ่ายเดียวของกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม ซึ่งประกาศออกมาเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 และการระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายน่าที่จะใช้เพื่อกระชับความร่วมมือกัน

แต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 กลับถูกใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำเช่นนั้น นอกจากนี้ กองทัพไทยยังตอบสนองต่อการหยุดยิงของกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วยการโจมตีทางทหารที่หนักขึ้น อันเป็นการส่งสัญญาณที่รุนแรงถึงกำลังรบของกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า จะยอมจำนนและมีชีวิตรอด หรือจะยอมตายในสนามรบ

ด้วยจำนวนอาวุธและจำนวนพลที่น้อยกว่ามากในสัดส่วนหนึ่งต่อยี่สิบ กำลังรบเกือบทุกคนของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ปฏิบัติการในพื้นที่ เลือกที่จะสู้จนตัวตายแทนที่จะยอมจำนน นี่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายบางคนของรัฐบาลสงสัยว่า กำลังรบกลุ่มนี้กำลังเอนเอียงไปสู่ลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งหรือไม่ ลัทธินี้เชื่อว่า การเสียชีวิตเป็นหัวใจของการปฏิบัติการ

แม้การเสียชีวิตของกำลังรบกลุ่มนี้จะเป็นผลมาจากการยิงต่อสู้ ไม่ใช่จากภารกิจอันตรายจนตัวตายก็ตาม แต่การที่กลุ่มเลือกที่จะสู้จนตัวตายแทนที่จะยอมจำนนเพื่อให้มีชีวิตรอด สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกส่วนตัวของคนเหล่านี้ ความคิดที่จะมีชีวิตอยู่อย่างอับอายขายหน้าเป็นสิ่งที่ทนไม่ได้ต่อญาติพี่น้องของตน นี่เป็นคำพูดของคนในครอบครัวของนักรบบางคนที่ตายในการสู้รบเมื่อไม่นานมานี้

การเสียชีวิตของนักรบเหล่านั้นทำให้เกิดความบาดหมางยิ่งขึ้นระหว่างชาวมุสลิมในพื้นที่และรัฐไทย คนในครอบครัวของนักรบที่เสียชีวิตได้รับกำลังใจอย่างล้นหลามจากชาวบ้านในพื้นที่ นักรบทุกคนที่เสียชีวิตได้รับการฝังในฐานะ ชาฮิด หรือผู้พลีชีพเพื่อศาสนา

ส่วนทางฝ่ายไทย หน่วยงานรัฐบาลและเจ้าหน้าที่กองทัพบกได้ถกกันอย่างร้อนแรงว่า ควรเรียกการก่อความไม่สงบของกลุ่มนี้ว่า “ความขัดแย้ง” หรือ “อาชญากรรมที่ทำเป็นขบวนการ” ดี

กองทัพบกยืนกรานที่จะเรียกว่า “อาชญากรรมที่ทำเป็นขบวนการ” การถือว่าเป็น “ความขัดแย้ง” เท่ากับเป็นการมองว่า กบฏเหล่านี้และความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนประเด็นปัญหานี้ให้เป็นประเด็นข้ามชาติ เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย กองทัพบกกล่าว แต่คณะผู้เจรจาเห็นต่างออกไป

ไทยไม่มีอะไรที่จะต้องกลัว และอธิปไตยของไทยจะไม่อ่อนแอลง ถ้ารัฐบาลถือว่าการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็น “ความขัดแย้งที่ปฏิบัติการโดยใช้อาวุธ” ตามคำกล่าวของ ร.ศ.ดร.ชนินท์ทิรา ณ ถลาง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ไม่ว่าความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้จะตรงกับกรอบการอธิบายถึงความขัดแย้งที่มีการปฏิบัติการใช้อาวุธภายในอาณาเขตของรัฐหรือไม่ก็ตาม ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแทรกแซงจากภายนอกนั้นเป็นศูนย์” ร.ศ.ดร.ชนินท์ทิรา ณ ถลาง กล่าว

“แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของนานาชาติ และการแทรกแซงที่ไม่พึงปรารถนาคือ ระดับความรุนแรงและการเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชน”

ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยหยั่งรากลึกมาจากความไม่ไว้วางใจในอดีต และความไม่พอใจต่อนโยบายการกลืนกลายทางวัฒนธรรม ซึ่งชาวมลายูปัตตานีรู้สึกว่า ทำให้ตนสูญเสียอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และทางศาสนาของตน

ชาวมุสลิมในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกของกลุ่มปฏิบัติการใช้อาวุธแบ่งแยกดินแดน ถือว่าพื้นที่นี้เป็นของชาวมลายู และชุมชนมลายูมีหน้าที่ที่จะต้องปลดปล่อยพื้นที่นั้นจากกองกำลังที่รุกรานดินแดนของตน ให้เป็นอิสระจากสยาม - ชื่อเดิมของประเทศไทย

ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง