ความยุติธรรมสำหรับเขา ไม่ใช่สำหรับเรา
2024.03.15
มติของของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สัปดาห์นี้ ที่เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ได้จุดกระแสสร้างความกังวลต่อกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกำลังกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่สร้างความสั่นคลอนให้กับระบอบประชาธิปไตยไทย ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสิทธิประชาชนมากกว่า 14 ล้านคนหรือ 38% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่โหวตให้กับพรรคก้าวไกล ผู้ซึ่งใฝ่ฝันให้ผู้นำพรรครุ่นเยาว์กว่าอย่าง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนชุดแรกในรอบเก้าปี แต่กลับพบว่าความฝันของพวกเขาถูกปฏิเสธ
ข้อเสนอแนะของ กกต. ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการตัดสินใจของทางการไทยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้อนุญาตให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีความตามกฎหมาย ซ้ำยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มอำนาจในกองทัพและชนชั้นนำที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ ยังคงใช้อิทธิพลและสามารถขัดขวางเจตจำนงของประชาชน
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะดำเนินการตามมติของ กกต. ในการยุบพรรคก้าวไกล
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ชี้ว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และเทียบเท่ากับการพยายาม “ล้มล้าง” สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและระบบประชาธิปไตย
ประมวลกฎหมายมาตราดังกล่าว หรือที่รู้จักกันในนาม กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้วางกรอบกฎหมายที่เข้มงวดต่อการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไทย
นอกจากการยุบพรรคแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีแนวโน้มสั่งตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 10 ปี ยิ่งไปกว่านั้น บางคนถึงกับเตือนว่า การเคลื่อนไหวของ กกต. อาจกว้างไกลกว่านี้ โดยอาจถึงขั้นตัดสิทธิทางการเมืองเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 44 คนตลอดชีวิต ที่สนับสนุนข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ใช้กฎหมายเพื่อควบอำนาจ
แม้ว่าการสถาปนารัฐบาลพลเรือน นำโดยพรรคเพื่อไทยเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นพรรคที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ถือเป็นการกลับมาสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยแบบเต็มตัวของไทย กระนั้นกลุ่มชนชั้นสูงและทหารยังคงใช้อิทธิพลอย่างไม่เหมาะสมต่อการเมืองการปกครองของประเทศ
พวกเขาดำเนินการดังกล่าวผ่านสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้ง 250 คน ซึ่งมีบทบาทโดยตรงในการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีในปี 2562 และ 2566 ซึ่งโดยปกติแล้วบทบาทดังกล่าวถือขอบเขตอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สถาบันตุลาการ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่พวกเขาใช้ในการควบคุมพรรคก้าวไกล
ในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพยายามใช้ทั้งสองวิธี โดยให้เหตุผลว่า ถึงแม้ความพยายามในการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล จะดำเนินการผ่านช่องทางรัฐสภาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การกระทำของพรรคก้าวไกลทั้งทางออนไลน์และในการหาเสียง กลับเป็นการละเมิดกฎหมาย และยังเผยให้เห็น “วาระซ่อนเร้น” เพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ
ทักษิณ ชินวัตร (ขวา) และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่เชียงใหม่ วันที่ 15 มีนาคม 2567 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)
แม้ว่าข้อเสนอของพรรคก้าวไกล จะไม่ได้มุ่งยกเลิกกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ แต่เน้นในการถอดกฎหมายดังกล่าวออกจากการเป็นคดีความต่อความมั่นคง และเสนอให้ลดอัตราโทษก็ตาม
อย่างไรก็ตาม จากความพยายามของพรรคก้าวไกลในการปฏิรูป ให้ร้องเรียนการกระทำผิดผ่านทางสำนักพระราชวัง แทนที่จะผ่านการบังคับใช้กฎหมาย พวกเขาได้แยกการป้องกันสถาบันกษัตริย์ออกจากความมั่นคงของชาติ อันเป็นภารกิจสำคัญและเป็นเหตุผลหลักของกองทัพ ในการใช้อิทธิพลแทรกแซงการเมือง
และแม้ว่าพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้ว่า ข้อพิจารณาของศาลที่ว่า ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลนับเป็นขั้นตอนแรกสู่การยกเลิก ม.112 เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
แต่สำหรับพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมและกลุ่มผู้จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างสุดขั้ว การแก้ไขใด ๆ ต่อกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างเด็ดขาด แม้กระทั่งการศึกษาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสำหรับผู้ต้องโทษฝ่าฝืน ม.112 ก็ถูกคัดค้านเช่นกัน
ความหวาดระแวงจากกลุ่มผู้นิยมสถาบันกษัตริย์อย่างสุดโต่งได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการสืบราชสันตติวงศ์ยังไม่แน่นอน
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ศาลอาญาสั่งจำคุก รักชนก ศรีนอก สส. ชื่อดังของพรรคก้าวไกล ในความผิดมาตรา 112 ฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์ จำนวน 2 กระทง เป็นเวลา 6 ปี จากการทวีตและรีทวีตข้อความ ในปี 2564 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตัวผู้สื่อข่าวและช่างภาพ ซึ่งทำข่าวประชาชนพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ไม่เอา ม.112” บนกำแพงวัดพระแก้ว ในข้อหาให้การสนับสนุนการทำลายโบราณสถาน
โดยรวมแล้ว มีผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้ ม.112 ประมาณ 262 คน นับตั้งแต่ปี 2563 หนึ่งในนั้นรวมถึงนักเคลื่อนไหวคนหนึ่ง ที่ถูกตัดสินจำคุกถึง 50 ปี ซึ่งถือเป็นอัตราโทษที่สูงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
เห็นภาพเดิม ๆ ซ้ำอีก
พรรคก้าวไกลจะดำเนินการตั้งพรรคใหม่อย่างรวดเร็ว และจากผลสำรวจความนิยมล่าสุด พวกเขายังคงเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดในประเทศ เพราะถึงที่สุดแล้ว นี่เป็นชะตากรรมเดียวกับที่พรรคอนาคตใหม่ต้องเผชิญเมื่อปี 2562
อย่างไรก็ตาม แม้พรรคก้าวไกลจะได้เตรียมการรับมือสำหรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับพวกเขาคือ การที่กลุ่มผู้บริหารพรรคภายใต้การนำของ พิธา ซึ่งได้รับความนิยมชมชอบและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จะกลายเป็นคณะกรรมการบริหารพรรครุ่นที่สอง ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
พรรคก้าวไกลจะลดขนาดกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก พวกเขาจะต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการสร้างพรรคขึ้นมาใหม่ด้วยพลังจากสมาชิกพรรครุ่นถัดไปที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
พรรคคู่แข่งจะฉกฉวยโอกาสอย่างรวดเร็วในการเลือกตั้งซ่อม รวมทั้งพยายามโน้มน้าวสมาชิกพรรคก้าวไกลที่ยังเหลืออยู่ ให้แปรพักตร์ไปอยู่กับตน อีกทั้งผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่หวังเห็นการปฏิรูปทางการเมืองอย่างเฉียบขาดอาจเริ่มรู้สึกท้อแท้ และหันไปเลือกพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่อย่างน้อยสามารถตอบโจทย์การรับใช้สังคมได้
กระนั้น ชนชั้นสูงและกองทัพยังไม่อาจท้าทายเจตจำนงของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์
สองพรรคการเมืองที่นำโดยคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ต้องพบกับความพ่ายแพ้อย่างสิ้นท่าในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 โดยได้ที่นั่งเพียง 76 ที่นั่ง และยังได้ที่นั่งน้อยยิ่งกว่าจากการลงคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อพรรค
แม้การต่อรองทางการเมืองครั้งใหญ่ที่เปิดทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณ กลับประเทศ และพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและราชวงศ์ได้ปรากฏตัวในคณะรัฐมนตรี ที่แม้ว่าพวกเขาจะเป็นคนกลุ่มน้อย แต่พวกเขาก็ยังอยู่ในฐานะที่จะขัดขวางนโยบายหรือการปฏิรูปใด ๆ ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของพวกกษัตริย์นิยมและชนชั้นสูงในกองทัพ
และจากการที่ทักษิณได้รับการพักโทษ หลังจากรับโทษเพียงหกเดือนจากวาระแปดปีตามพระราชกฤษฎีกา ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินการสองมาตรฐาน โดยระหว่างถูกควบคุมตัว อดีตนายกฯ ใช้เวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมงในห้องขัง และใช้เวลาที่เหลือเป็นผู้ป่วยในห้องวีไอพีที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
แม้ว่าทักษิณจะยังคงถูกตั้งข้อหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งอาจนำไปสู่โทษจำคุก 15 ปี แต่ก็มีแนวโน้มว่าคดีจะถูกยกฟ้องในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาถึงศาลฎีกา ในกรุงเทพฯ เพื่อแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ขณะดำรงตำแหน่งในปี 2556 ภาพวันที่ 1 สิงหาคม 2560 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)
ขณะเดียวกัน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลยังได้พิพากษายกฟ้องสองคดีความต่อ ยิ่งลักษณ์ ผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี ในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อปี 2560 และได้หนีออกนอกประเทศ หลังเกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งดูเหมือนว่าเธอจะได้รับโทษจำคุกจากการหลบหนีออกนอกประเทศเท่านั้น
กล่าวโดยสรุป เป็นที่ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นหัวหอกฝ่ายต่อต้านอำนาจการปกครองของทหาร ได้บรรลุข้อตกลงกับกลุ่มชนชั้นสูง โดยทั้งสองกลุ่มได้จับมือกันต้านทานกระแสขาขึ้นของพรรคก้าวไกลได้สำเร็จ
พรรคเพื่อไทย กลายเป็นพรรคที่ดำรงสถานภาพเดิมทางการเมือง ในขณะที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ยังคงเป็นที่ยอมรับของชนชั้นสูง ตราบใดที่เขายังคงอยู่ในแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยุติความพยายามใด ๆ ในการปฏิรูปการเมืองหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ และจนถึงช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ เศรษฐาใช้เวลากว่า 30% ในห้วงของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม พิธา ก็ยังคงมองโลกในแง่ดี โดยบอกว่า แล้วเวลาของพรรคก้าวไกลก็จะมาถึง แม้ว่ากลุ่มชนชั้นนำไทยจะยังคงคุมเชิง และพร้อมจะหมุนเวลากลับไปเพื่อเถลิงอำนาจเหมือนเก่าได้ทุกเมื่อที่ต้องการ โดยใช้การรัฐประหารและนิติสงคราม
ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของเขาเอง และไม่ได้สะท้อนถึงความคิดเห็นของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ หรือเบนาร์นิวส์