เศรษฐาอาจแต่งตั้งพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้
2023.10.27
การพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มก่อความไม่สงบบีอาร์เอ็นได้หยุดชะงักลงอย่างสมบูรณ์ เมื่อกลุ่มบีอาร์เอ็นประกาศจะไม่กลับมาเจรจาจนกว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
หลังเกิดความขัดแย้งทางการเมืองและภาวะหยุดนิ่งหลังการเลือกตั้งนานกว่า 3 เดือน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 อย่างไรก็ตาม หลังจากดำรงตำแหน่งมาเกือบสองเดือน รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศว่าใครจะเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นตัวแทนของไทยในการเจรจาที่จัดโดยรัฐบาลมาเลเซีย
และยังไม่ชัดเจนด้วยว่านายกรัฐมนตรีได้ปลด พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ ออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ หรือไม่ โดยความล่าช้านี้ไม่ได้เป็นกลยุทธ์ของรัฐบาล แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นการลำดับความสำคัญของรัฐบาลต่อนโยบายต่าง ๆ
แน่นอนว่านายกรัฐมนตรีนั้นมีเรื่องเร่งด่วนอื่น ๆ ที่ต้องจัดการ อาทิ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของฐานเสียงพรรคเพื่อไทย ที่อาจรู้สึกว่าถูกหักหลัง จากข้อตกลงที่พรรคทำขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ด้วยความช่วยเหลือจากอดีตผู้บัญชาการทหารบกที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งโค่นล้มนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยผ่านการรัฐประหารในปี 2557
ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและกู้คืนอำนาจของพลเรือน
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเตรียมที่จะแต่งตั้งพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ซึ่งผู้นำการเจรจากระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ทั้งสามคนที่ผ่านมานั้น เป็นนายพลทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว นอกจากนี้ยังถูกคาดหมายว่าจะมีพลเรือนมาเป็นเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ด้วยเช่นกัน
โดยแหล่งข่าวอย่างเป็นทางการระบุว่า คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ ของรัฐบาลในสำนักเลขาธิการร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม สมช. จะไม่ได้เป็นผู้นำการเจรจา
แม้ว่าทีมเจรจาจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี แต่พรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคท้องถิ่นที่มีสมาชิกเป็นชาวมลายูมุสลิมที่อาวุโส และเคยเป็นสมาชิกของกลุ่มวาดะห์ที่แยกตัวกันไปแล้ว จะมาเป็นผู้นำในการกำกับดูแลนโยบายในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยพวกเขาจะได้รับมอบงานที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่การพัฒนาไปจนถึงความสมานฉันท์ในระดับชาติ
อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าทีมเจรจาสันติสุขของบีอาร์เอ็น (คนกลาง) และคณะ แถลงข่าวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกัวลาลัมเปอร์ หนึ่งวันหลังเสร็จสิ้นการพูดคุยกับฝ่ายไทย วันที่ 3 สิงหาคม 2565 (เอส. มาฟุซ/เบนาร์นิวส์)
อย่างไรก็ตาม การกำหนดเงื่อนไขการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระหว่างชาวมุสลิมมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ประสบปัญหามาเป็นเวลานาน กับประชากรส่วนที่เหลือของประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
ที่ผ่านมานักการเมืองกลุ่มวาดะห์เคยได้รับมอบหมายงานเดียวกันจาก นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร หลังจากเข้ารับตำแหน่งในปี 2544 โดยได้ยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อให้คณะทำงานของเขามีอำนาจในการจัดการกับพื้นที่ชายแดนใต้นี้ได้อย่างอิสระ
แต่รัฐบาลของทักษิณ ในนามพรรคไทยรักไทย ณ ช่วงเวลานั้น ไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับการเกิดขึ้นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาเลย์ปาตานีรุ่นใหม่ หลังจากพื้นที่ดังกล่าวมีความสงบมาเกือบหนึ่งทศวรรษ
แรกเริ่มเดิมที ทักษิณเคยได้ขนานนามพวกเขาว่าเป็น "โจรกระจอก" และยืนยันว่าอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนของชาวมลายูปาตานีนั้นเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว แต่รัฐบาลทักษิณก็ไม่อาจต้านทานปฏิบัติการทางการเมืองของพวกเขาได้อีกต่อไป เพราะเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบบีอาร์เอ็นจำนวนมากได้บุกโจมตีค่ายทหารและขโมยอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารไปหลายร้อยชิ้นจากคลังอาวุธในฐานทัพ
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเหตุการณ์ความไม่สงบมากกว่า 7,300 คน การสร้างสันติภาพได้เกิดขึ้นแล้วก็หายไป แต่ไม่มีความพยายามใดที่มากพอจะผลักดันการเจรจาให้ก้าวหน้าเกินกว่ามาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (confidence building measures - CBM) แม้กระทั่งหลังจากที่บีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควบคุมผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่เกือบทั้งหมด ได้เข้าร่วมเจรจาในช่วงต้นปี 2563
อย่างที่หลายคนพอจะทราบ สมาชิกพรรคประชาชาติ มักจะตำหนิกองทัพแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่การใช้อำนาจในทางที่ผิด การใช้ความรุนแรงในการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ไปจนถึงการขัดขวางความก้าวหน้าและการพัฒนาในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ มีข้อพิพาทมาอย่างยาวนาน แต่พวกเขาได้ปล่อยโอกาสในการยืนหยัดเพื่อคนในพื้นที่ ที่จะต่อต้านรัฐบาลทักษิณและกองทัพในเหตุการณ์นองเลือดสองครั้ง ได้แก่ การสังหารหมู่ที่ตากใบและการปะทะกันที่มัสยิดกรือเซะ ในเดือนเมษายน และตุลาคม 2547 ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้ความนิยมของพรรคลดลง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก วิทยาเขตอาบูดาบี ระบุว่า นักการเมืองกลุ่มวาดะห์ถูกฐานเสียงของตนเองหันหลังให้มาเกือบ 15 ปีแล้ว แต่พวกเขาสามารถกลับมาได้อีกครั้งในปี 2561 โดยการที่นักการเมืองวาดะห์เหล่านี้ร่วมกันก่อตั้งพรรคประชาชาติขึ้น ด้วยความช่วยเหลือของ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง พันธมิตรทางการเมืองคนสนิทของอดีตนายกทักษิณ
ด้านนายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ผู้นำกลุ่มเดอะปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ทางการเมืองเพื่อสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองของประชาชนในชายแดนใต้ (Right to Self-determination - RSD) กล่าวว่า ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบและกรือเซะ ยังคงอยู่ในใจของชาวบ้านพื้นที่ พวกเขาไม่สามารถจะยอมรับกับความโหดร้ายนี้ได้
“การตำหนิทหารสำหรับปัญหาทั้งหมดในชายแดนใต้ เป็นวิธีที่กลุ่มวาดะห์ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบใด ๆ พวกเขามุ่งเน้นแต่การรักษาอำนาจมากกว่าการนำความยุติธรรมมาให้แก่ประชาชน ความยุติธรรมสำหรับพวกเขาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่พวกเขาลืมไปว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย” อาเต็ฟ ระบุ
เจ้าหน้าที่นิติเวชตรวจสอบพื้นที่ที่อาสาสมัครป้องกันหมู่บ้านถูกสังหารโดยผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ ในจังหวัดยะลา วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 (สุรพันธ์ บุญถนอม/รอยเตอร์)
อย่างไรก็ดี งานเจรจาทางการเมืองอาจเป็นงานที่ไม่ถูกเห็นคุณค่าสักเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาคณะทำงานของไทยนั้นถูกขัดขวางโดยการเมืองระดับชาติ ที่ไม่อนุญาตให้พวกเขาประนีประนอมใด ๆ กับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนหรือชาวมลายูปาตานี ที่ยังคงยึดมั่นในเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างจากของรัฐไทยอย่างสิ้นเชิง
นายอัสมาดี บือเฮง นักเขียนท้องถิ่น ให้ความเห็นว่า สำหรับชายหนุ่มที่ลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลนั้น เป้าหมายทางการเมืองของพวกเขาไม่สามารถเจรจาหรือต่อรองได้
“ผู้คนเสี่ยงชีวิตเพื่อเป้าหมายทางการเมือง และจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไปในอนาคตอันใกล้ รัฐไทยต้องเรียนรู้วิธีรับมือกับค่านิยมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ที่ไม่สามารถประนีประนอมได้” อัสมาดี กล่าว
ในปัจจุบัน สมัยรัฐบาลนำโดยพลเรือนอีกครั้งหลังจากหลายปี ผู้คนต่างเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงเกิดความหวังว่าข้อเสนอที่มีความหมายจะไปถึงคณะเจรจา และสร้างพื้นที่ทางสังคมและการเมืองที่ดีขึ้นสำหรับชาวมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้อันห่างไกล ที่อาจนำไปสู่ความสมานฉันท์ในอนาคต
แต่การมองโลกในแง่ดีครั้งนี้ ก็ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ผู้นำพลเรือนคนใหม่จะเข้าใจธรรมชาติของความขัดแย้งได้ดีกว่ากองทัพ ซึ่งครอบงำการเมืองระดับชาติมาเป็นเวลานานในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
และแม้ว่าผู้นำพลเรือนอาจมีความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรภาคประชาสังคม แต่สองทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เราเห็นแล้วว่า ทั้งผู้นำทางการเมืองและผู้นำระดับสูงของประเทศนั้นขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในประเทศไทยที่ทำงานเกี่ยวกับความขัดแย้งและการก่อความไม่สงบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคิดเห็นในงานเขียนนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์