ชายแดนใต้จะลงเอยอย่างไร ในโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่
2024.08.22
กรุงเทพมหานคร
ไทยมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีอย่างฉับพลัน อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนมากเท่าใดนัก เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่เคยเห็นว่าการพูดคุยฯ นี้เป็นเรื่องสำคัญ
พรรคเพื่อไทยกลับมากุมอำนาจอีกครั้ง ในเดือนกันยายน 2566 หลังจากที่ได้ทำข้อตกลงที่ชั่วร้ายกับพรรคทหารและพรรคการเมืองอื่น ๆ อีก 6 พรรค เพื่อตั้งรัฐบาลพิเศษในการเลือกตั้งปี 2566 แม้จะสัญญากับประชาชนไว้ว่าตนจะไม่จับมือกับพรรคเหล่านี้
ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยจะวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยได้พุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่รัฐต้องหาทางแก้ไขจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ความพยายามที่จะหาคนแทนหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขภายใต้กฎกติกา อำนาจหน้าที่ของนายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าพลเรือนคนแรกของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ จะสิ้นสุดลงหลังจากที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่
นายฉัตรชัย ซึ่งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเช่นกัน ได้ทำงานในฐานะหัวหน้าพลเรือนของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ มาเป็นเวลา 7 เดือน เพื่อพูดคุยหาข้อตกลงกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
ซึ่งเขาสามารถนำเสนอแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ให้กลุ่มบีอาร์เอ็นยอมรับได้สำเร็จ
แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นชอบกับข้อตกลงในกรอบ JCPP เพื่อเป้าหมายสันติสุขแบบองค์รวมในชายแดนใต้ แต่การยอมรับหลักการดังกล่าวอาจจะไม่ก่อความยุ่งยากมากเท่ากับการเจรจาต่อรองในสาระสำคัญของประเด็นหลัก 3 ประการ นั่นคือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง เพื่อยุติความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7,400 ราย ตั้งแต่ปี 2547 จากเหตุการณ์ก่อความไม่สงบมาแล้ว
แนวทางดังกล่าวได้ดำเนินไปในทิศทางที่มีความหวัง เนื่องจากปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ. ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซีย ออกแถลงการณ์เห็นด้วยกับการดำเนินแผนการนี้ เท่ากับเป็นการยอมรับกรอบแผนการอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลไทย กลุ่มบีอาร์เอ็น และผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซีย ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน
ทว่า ศาลรัฐธรรมนูญก็เข้ามาขัดขวางกระบวนการนี้เสียก่อน โดยวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสภาพจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที ด้วยมติ 5 ต่อ 4 เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงอันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่ก่อนแล้วว่านายพิชิตมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น การถอดถอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน จึงส่งผลกระทบให้กรอบแผนการ JCPP ต้องหยุดชะงักลงไปด้วย โดยกรอบแผนการนี้จะกลับมาเดินหน้าใหม่ได้อีกครั้ง หลังคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แต่งตั้งนายฉัตรชัยให้กลับมาดำรงตำแหน่งเดิม หรือแต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนใหม่
เมื่อนายเศรษฐา และอุ๊งอิ๊ง มาจากพรรคเดียวกัน หลายคนอาจจะคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีทั้งชุดหรือวาระในกระบวนการพูดคุยสันติสุขน่าจะดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด ทว่า การจัดการสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้นั้นไม่ง่าย
คณะทำงานของนายฉัตรชัยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากที่ปรึกษาของรัฐบาล และผู้ที่ไม่เคยเห็นชอบกับการจัดการการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับกลุ่มบีอาร์เอ็นมาตั้งแต่แรก โดยพวกเขาเห็นว่ากระบวนการเจรจาดังกล่าว ไม่ต่างกับการมอบความชอบธรรมอย่างไม่จำเป็นให้กับกลุ่มกบฏที่ไม่สมควรได้รับ
โดยอย่างแย่ที่สุด คือคณะทำงานของนายฉัตรชัยถูกคำวิพากษ์วิจารณอย่างรุนแรง จากหนึ่งในนักวิเคราะห์ที่พรรคเพื่อไทยให้ความเชื่อถือเป็นอย่างมาก
งานบทความล่าสุดของ ศาสตราจารย์ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงที่มีความเห็นต่อประเด็นการพูดคุยสันติสุขภายใต้แผน JCPP ไม่เพียงสร้างความกระทบกระทั่งให้กับ นายฉัตรชัยและคณะทำงานเพียงเท่านั้น แต่ยังสะเทือนไปถึงคณะทำงานชุดใหม่ในสภา นั่นคือ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ. วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) ถูกแต่งตั้งมาเป็นพิเศษเพื่อดำเนินการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้นี้ด้วย
ถึงแม้ศาสตราจารย์ ดร. สุรชาติ จะไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีสายสัมพันธ์อันดี และสมาชิกของพรรคฯ ถือว่าความเห็นของเขาน่าเชื่อถือ
จากแหล่งอ้างอิงที่ใกล้ชิดกับคณะอนุกรรมการ กมธ. วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ร่างรายงานที่มีเนื้อหาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และประกอบไปด้วยข้อเสนอแนะที่ชี้ให้รัฐบาลและผู้ออกกฎหมายเปิดพื้นที่ทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองให้กับชาวมาเลย์มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อซื้อใจประชาชนที่ปฏิเสธคำสั่งการของรัฐไทยมาโดยตลอด เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่ารัฐไทยมีแนวทางการจัดการสันติภาพที่ขัดกับอัตลักษณ์ทางศาสนาของตน
ร่างรายงานยังเรียกร้องให้กระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ไปไกลกว่ามาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (confidence building measures - CBM) และสมควรที่จะยกหลักการสำคัญอื่น ๆ มาหารือร่วมกันให้มากขึ้น ซึ่งคาดว่ารายงานที่ประกอบไปด้วยข้อแนะนำเหล่านี้จะถูกส่งให้กับคณะรัฐมนตรี ก่อนจบปีงบประมาณ 2567 ในวันที่ 31 กันยายน
กมธ. วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ได้รับมอบหมายตำแหน่งหน้าที่ในการจัดการกระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้มีความกังวลเดียวกันกับคณะทำงานพูดคุยสันติสุขชุดเดิม ว่าแนวทางของพวกเขาจะถูกคุมกำเนิดเสียก่อน เพราะหากศาสตราจารย์ ดร. สุรชาติ ไม่มีความประสงค์ที่จะยกประโยชน์ให้กับแผนสันติภาพภาคใต้
ศาสตราจารย์ ดร. สุรชาติ กล่าวหาว่า เหล่าผู้เจรจาต่อรองล้ำเส้นของตนเอง และชี้ว่าจะต้องใส่ประเด็นเรื่องการเรียกร้องให้มีการลดความรุนแรงเข้าไปในทุกการเจรจาพูดคุยกับกลุ่มกบฏด้วย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่เห็นชอบ
ในทางทฤษฎี การดำเนินการเพื่อลดความรุนแรงและเคารพกฎของการปะทะนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับกลุ่มบีอาร์เอ็น การบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการในการยุติความรุนแรงนั้น นับว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการยอมจำนน
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำให้คณะพูดคุยสันติสุขตกที่นั่งลำบาก หลายคน รวมถึงนายพลผู้เกษียณอายุแล้ว ก็เริ่มเคลื่อนไหวต่อสถานการณ์นี้ เพราะพวกเขาคิดว่าตัวเองสามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่า
หากรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย จะแต่งตั้งนายพลอีกสักคนขึ้นมาเป็นหัวหน้าเจรจากระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ก็คงจะไม่มีใครคิดว่าเป็นเรื่องราวใหญ่โต ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเคยชี้แจงไว้ว่าต้องการคืนอำนาจสูงสุดให้กับพลเรือนในการมีส่วนร่วมกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขก็ตาม
ทว่า หากคำวิพากษ์วิจารณ์ของศาสตราจารย์ ดร. สุรชาติ มีอิทธิพลต่อการถอดถอนตำแหน่งของนายฉัตรชัย ก็อาจตีความได้ว่า กรอบ JCPP ก็ต้องสิ้นสุดลงเช่นเดียวกัน
แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ได้รับตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ รัฐไทยอาจจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคสำคัญหลายประการเสียก่อน เช่นว่า การยอมรับว่ามีปัญหาความขัดแย้งอย่างแท้จริง
การดำเนินการใด ๆ ของรัฐบาลชุดต่อไป เช่น การส่งคณะพูดคุยฯ ไปพบกับตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น จะเป็นข้อพิสูจน์ว่าพวกเขาเข้าใจฐานรากทางการเมืองว่าด้วยความขัดแย้ง แต่กลุ่มสายเหยี่ยวจำนวนมากยังคงเชื่อมั่นว่า พวกเขาสามารถยุติความขัดแย้งได้สำเร็จด้วยยุทธวิธีทางทหาร โดยไม่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ใดกับกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือชาวมาเลย์ที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้
ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งมาเลเซียก็เพิ่งแต่งตั้ง โมฮัมหมัด ราบิน บาซีร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซียคนใหม่ เขาอาจจะใช้เวลาระยะหนึ่ง เพื่อทำความคุ้นเคยกับรายละเอียดที่มีความซับซ้อนของการพูดคุยในกระบวนการการพูดคุยที่ผ่านมาระหว่างทางการไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งดูเหมือนว่าผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่จะเริ่มต้นได้ดี
เจ้าหน้าที่ไทยเผยว่า ราบินไม่ยึดติดกับหลักการมากนัก แต่สนับสนุนให้ตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นและคณะพูดคุยฯ ของไทยหารือกันโดยตรง เขาเคร่งครัดในกฎเกณฑ์น้อยลง และใช้วิธีการที่ตรงไปตรงมาและเน้นการพูดคุยระหว่างทั้งสองฝ่ายมากขึ้น
แต่แนวทางเช่นนี้จะส่งผลต่อการพูดคุยเชิงลึกเกี่ยวกับแผนสันติภาพชายแดนใต้ JCPP อย่างไร คงต้องจับตามองกันต่อไป
ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในประเทศไทยที่ทำงานเกี่ยวกับความขัดแย้งและการก่อความไม่สงบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคิดเห็นในงานเขียนนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์