เพื่อไทยเข้าใกล้การหวนคืนสู่อำนาจหลังคืนดีกับพรรค 'สองลุง'
2023.08.15
ภายหลังจากภาวะหยุดนิ่งทางการเมืองในสามเดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม รัฐสภาไทยคาดว่าจะได้รัฐบาลที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย
แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะทำให้ตลาดการเงินสงบลงหลังจากความไม่แน่นอนหลายเดือน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศสงบตามไปด้วย
พรรคก้าวไกลซึ่งได้รับที่นั่งในสภามากที่สุดจากการเลือกตั้ง จำนวน 151 ที่นั่ง ไม่สามารถขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล
ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยได้พยายามจัดตั้งแนวร่วมของตนเอง โดยไม่รวมพรรคของ “สองลุง” ซึ่งหมายถึงพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีความเชื่อมโยงกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้นำการรัฐประหารปี 2557 และรักษาการนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนที่นั่งเพียง 238 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยจึงขาดเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
ถึงกระนั้น สำหรับวุฒิสมาชิก การถอดพรรคก้าวไกลออกจากกลุ่มรัฐบาลใหม่ และการให้คำมั่นว่าจะไม่แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เพียงพอแล้วสำหรับการโหวตของพวกเขา
ในขณะที่บางคนกังวลเกี่ยวกับการขัดขวางเจตจำนงของประชาชน เพราะกลัวว่าจะก่อให้เกิดความรุนแรงบนท้องถนนและตลาดการเงินที่ปั่นป่วน
อย่างไรก็ตาม งานที่สำคัญของสมาชิกวุฒิสภา ไม่ใช่การรับรองเจตจำนงของประชาชน แต่เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม กลุ่มทหาร และขัดขวางการปฏิรูปการเมือง ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่สนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลที่เพื่อไทยจัดตั้งในช่วงแรก และบีบให้พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องเชิญพรรค “สองลุง” เข้าร่วมรัฐบาลด้วย
ด้วยการรวมพรรคพลังประชารัฐ (40 เสียง) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (36 เสียง) ทำให้กลุ่มพันธมิตรมีคะแนนเสียงในสภา 314 เสียง จากทั้งหมด 500 เสียง และจะได้เสียงจากสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้ได้คะแนนเสียงตามที่กำหนด 375 เสียง เพื่อการจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลประกาศว่าจะไม่สนับสนุนแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ด้วยเหตุผลที่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่นี้ ขัดต่อเจตจำนงของประชาชน ทำให้แนวร่วมเพื่อพรรคเพื่อไทยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องร่วมรัฐบาลกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ นับเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม พรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารได้ความอับอายจากเสียงโหวตอันน้อยนิด แต่พวกเขายังมีเก้าอี้และมีตำแหน่งที่มีอำนาจในการขัดขวางนโยบายสาธารณะใด ๆ ที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
แม้พรรคเพื่อไทยให้คำมั่นว่า ทั้งประวิตรและประยุทธ์จะไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี แต่นั่นก็ยังห่างไกลจากความเป็นจริง ขณะนี้พลังประชารัฐกำลังตื่นเต้นว่าจะมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง จึงได้ออกมาประกาศสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลสูตรนี้
นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย พูดคุยกับนักข่าวในกรุงเทพฯ หลังปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 (อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)
วุฒิสมาชิกบางรายระบุว่า พวกเขายังคงไม่สนับสนุนรัฐบาลและสงสัยว่าทำไมพวกเขาถึงหยุดอยู่แค่การกำจัดพรรคก้าวไกล ในเมื่อพวกเขามีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไม่ต้องรวมทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่เป็นคู่ปรับกันมาตลอดกาล แม้ว่าวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเข้าใจว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยอาจนำไปสู่ความไม่สงบทางการเมืองในวงกว้าง และไม่สามารถผ่านกฎหมายใด ๆ ในรัฐสภา รวมถึงงบประมาณด้วย
ไม่มีพรรคการเมืองหัวก้าวหน้าอีกต่อไปแล้วหรือ
มีคำถามใหญ่สามข้อที่ต้องพิจารณา ประการแรก นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาดของพรรคเพื่อไทยหรือไม่
หรือนี่อาจเป็นการตอบสนองต่อความปรารถนาของแกนนำพรรค เพราะพวกเขาเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีสิทธิ์ที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงข้างมากในรัฐบาล รวมถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ความได้เปรียบในระยะสั้นอาจทำให้เกิดความสูญเสียทางการเมืองในระยะยาว
สมาชิกระดับสูงของพรรคบางราย และโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง พวกเขาแสดงความรู้สึกโกรธเคืองอย่างชัดเจนที่พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมกับผู้นำการรัฐประหารในปี 2557 ทำให้พรรคเพื่อไทยจะอ้างว่าเป็นพรรคที่มีความคิดก้าวหน้าไม่ได้อีกต่อไป
ผู้คนต่างนำไปเปรียบเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์ จากเดิมที่เคยเป็นพรรคใหญ่อันดับสอง กลายเป็นพรรคที่กลายเป็นไม่มีความสำคัญทางการเมือง หลังจากการร่วมมือกับทหารในปี 2551 และประชาชนส่วนหนึ่งก็ยังไม่ยกโทษพวกเขา
ที่ผ่านมาเกิดความกังวลว่า สส. พรรคเพื่อไทย 25 คน นำโดยจาตุรนต์ ฉายแสง อาจย้ายไปสนับสนุนพรรคก้าวไกล แต่พวกเขาก็ปฏิเสธเรื่องนี้ แสดงให้เห็นชัดว่าเกิดความรู้สึกไม่สบายใจในพรรคเพื่อไทยกับการรวมพรรคสองลุง
แกนนำพรรคเพื่อไทยกำลังคำนวณว่าพวกเขาจะสร้างผลตอบแทนให้กับประชาชนมากพอในระยะเวลา 4 ปีของการเป็นรัฐบาล เพื่อทำให้ผู้สนับสนุนไม่เปลี่ยนใจไปโหวตให้กับพรรคก้าวไกล ซึ่งกลายเป็นพรรคที่เป็นตัวแทนของการต่อต้านทหารและผู้มีอิทธิพล
อีกทางหนึ่งที่แกนนำจะพยายามประนีประนอมความไม่พอใจในหมู่ผู้สนับสนุนของพรรคก็คือ การต่อรองเรื่องการกลับบ้านของทักษิณ ชินวัตร
ทักษิณ ชินวัตร อยู่ในสถานะของผู้ต้องหาหลบหนี โดยถูกตัดสินจำคุก 12 ปี จากการแพ้คดี 4 คดี ทำให้เขาต้องอาศัยอยู่ต่างแดนนานกว่า 15 ปี
ทักษิณประกาศว่าจะกลับมาในวันที่ 10 สิงหาคม แต่ได้เลื่อนการกลับมาเนื่องจาก "เหตุผลด้านสุขภาพ" แต่ข้อเท็จจริงคือความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรคเพื่อไทยคิดเอาไว้ ทักษิณจะถูกจับกุมที่สนามบินเมื่อเขามาถึง และขอพระราชทานอภัยโทษหลังจากถูกคุมขัง 24 ชั่วโมง
คำถามที่สองคือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับพรรคก้าวไกล
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เก่งกาจ และกำลังจะเสียเวลาในการเป็นตัวแทนหลักของการปฏิรูปการเมืองในรัฐสภาครั้งนี้ เพื่อแย่งเสียงโหวตของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งถัดไป นอกจากนี้ พรรคยังได้ยื่นร่างกฎหมาย 10 ฉบับ เพื่อรักษาหลักการทางกฎหมายและคำมั่นสัญญาในการหาเสียง
คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ พรรคจะอยู่ต่อไปหรือไม่ และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและผู้บริหารคนอื่น ๆ จะอยู่รอดทางการเมืองหรือไม่
นอกจากการสืบสวนเรื่องหุ้นบริษัท ITV แล้ว พิธาและพรรคก้าวไกลยังต้องเผชิญกับการสืบสวนและการร้องเรียนทางอาญาทั้งในศาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงข้อหาละเมิดข้อห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ที่อนุญาตให้ใช้กฎหมายที่เข้มงวดในการต่อต้านการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์
เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ ในปี 2562 พรรคก้าวไกลอาจถูกยุบ แต่คงจะเกิดพรรคใหม่อีกครั้งอย่างรวดเร็ว แต่พิธาเองก็อาจต้องโทษจำคุก และมากกว่านั้นคืออาจถูกแบนจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
สิ่งนี้นำไปสู่คำถามที่สามซึ่งเป็นคำถามสุดท้าย นั่นคือ สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความไม่สงบทางการเมืองหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายอนุรักษ์นิยมเคลื่อนไหวเพื่อยุบพรรคก้าวไกล และสกัดกั้นพิธาอย่างรวดเร็ว ศักยภาพในการชุมนุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ นั้นมีสูง แต่ก็มีแนวโน้มว่าชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะจัดการกับพิธา และพรรคก้าวไกล ในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป และทำให้มีบทบาททางการเมืองน้อยลง
แม้ว่าการประท้วงนั้นแทบจะเป็นสูตรสำหรับการสร้างความรุนแรงทางการเมือง แต่การประท้วงบนท้องถนนยังคงมีขนาดเล็ก และไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นักกิจกรรมที่โดดเด่นส่วนใหญ่ยังอยู่ในคุก หรืออยู่ระหว่างการประกันตัว ส่วนแกนนำใหม่ ๆ นั้น ก็ไม่ค่อยมีคนรู้จัก และมีเสน่ห์ค่อนข้างน้อย
กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เคยใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อขัดขวางเจตจำนงของประชาชน พวกเขาจะสูญเสียเครื่องมือเหล่านั้นในเดือนพฤษภาคมปีหน้า เมื่อวาระของวุฒิสมาชิกหมดลง
หากในตอนนี้พวกเขาจะมีสิทธิ์ที่จะจัดตั้งรัฐบาล เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะและควบคุมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของ นายเศรษฐา ทวีสิน
ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของเขาเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ หรือเบนาร์นิวส์