ชาวประมงอวนลอยปัตตานีร้องเรียนให้ทางจังหวัดหาตัวมือมืด ที่ทำให้อวนเสียหาย

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.10.29
TH-fisheries-1000 ชาวเรือประมงนำอวนลอยที่ได้รับความเสียหาย มาแสดงไว้เป็นหลักฐานที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี ในวันที่ 29 ตุลาคม 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (29 ต.ค. 2558) นี้ ที่ศาลากลาง จังหวัดปัตตานี แกนนำและตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านอวนลอยกว่า 300 คน ได้ร่วมกันร้องเรียนต่อทางราชการให้ลงโทษผู้กระทำผิด เนื่องด้วยเหตุผู้ไม่หวังดี ทำลายอวนลอยจนได้รับความเสียหายมากว่าสองเดือนแล้ว

นายมูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยชาวประมงในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง และอำเภอหนองจิก ได้นำอวนลอยที่ได้รับความเสียหายจากเศษไม้ที่มีการตอกตะปูขนาด 3.5 นิ้ว ที่ยังติดค้างอยู่กับอวนที่เสียหาย ซึ่งชาวบ้านได้เก็บขึ้นจากอ่าวปัตตานี มาให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดได้เห็นเป็นประจักษ์พยาน

นายมูหามะสุกรี ได้กล่าวว่าแก่ นายเถลิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ว่า มีผู้ไม่หวังดี นำเศษไม้ที่ตอกตะปูไปปักในอ่าวปัตตานี และเมื่อชาวประมงลอยอวนไปโดนเข้า ก็ได้รับความเสียหาย โดยมีชาวประมงเดือดร้อนนับพันราย ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านอวนลอยต้องรวมตัว นำส่งมอบหลักฐานให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อตามหาคนร้ายมาดำเนินคดี

“เป็นเวลาสองเดือนแล้ว ที่ชาวประมงอวนลอยได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเศษไม้ที่ตอกตะปูแล้วมาปักในอ่าวปัตตานี เคยมีเจ้าหน้าที่มาร่วมเก็บหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้” นายมูหามะสุกรี กล่าว

นอกจากนั้น นายมูหามะสุกรี ได้ยื่นหนังสือให้กับนายเถกิงศักดิ์ เพื่อเป็นตัวแทนยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง จำนวน 4 ฉบับ ต่อไป โดยฉบับแรก ส่งให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฉบันที่ 2 ส่งถึง พล.ท. วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ฉบับที่ 3 ส่งถึงนายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. และฉบับที่ 4 ส่งถึง นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

โดยเนื้อหา ในหนังสือเรียกร้องกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านอวนลอย ได้เรียกร้อง 6 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้บังคับใช้กฎหมายตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 24/58 อย่างจริงจัง 2. ให้กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้าน ที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือที่ทำลายล้างและผิดกฎหมาย และได้รับผลกระทบ จากกลุ่มที่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายจำพวกอวนลากที่ทำลายเครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมายในการทำมาหากิน ความเสียหายจากผลกระทบ จากการนำท่อนไม้ เสาบ้าน ไม้ที่ตอกตะปูไปปักทิ้งในพื้นที่สาธารณะของอ่าวปัตตานี เพื่อดักทำลายอวนลอยของชาวประมงอวนลอย 3. ให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่นำท่อนไม้ เสาบ้าน ไม้ตอกตะปูนำไปปักในพื้นที่อ่าวฯ 4. ให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของท่านประมงจังหวัดปัตตานี ที่ไม่สามารถสนองนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ในการบังคับใช้กฎหมายตามคำสั่ง คสช.ที่ 24/58 โดยมีการปล่อยปละละเลย จนทำให้เกิดการใช้เครื่องมือผิดกฎหมายอย่างแพร่หลาย ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี อยู่ในขณะนี้ 5. ให้มีการชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานรื้อถอนเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ตามคำสั่งที่ 6/58 ที่สั่งมา ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2558 ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำสู่การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ถึงความจริงใจของภาครัฐต่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย 6. ให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีที่ใช้เครื่องมือประมงแบบไม่ทำลายล้างและไม่ผิดกฎหมาย ในห้วงเวลาฤดูมรสุมที่กำลังมาถึงนี้ เพราะในช่วง มรสุม 3 เดือน ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถออกไปทำประมงได้

นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “ขณะนี้ ทางจังหวัดกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือปัญหาโดยรวม และบางกลุ่มอยู่ระหว่างการประชุมหารือกับตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา คาดว่า น่าจะมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา และให้ความช่วยเหลือกลุ่มชาวประมงทุกกลุ่มได้โดยเร็ว”

นายมูหามะสุกรี “ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเศษไม้ปักในอ่าวปัตตานี ชาวประมงสามารถมีรายได้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก บางคน สามารถทำรายได้มากถึงวันละ 1,000-1,500 บาท”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง