คณะตรวจสอบเสนออัยการสูงสุดสอบสวน 'บอส' เสพโคเคนและขับรถเร็ว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.08.04
กรุงเทพฯ
200804-TH-redbull-1000.jpeg เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบรถเฟอร์รารีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา หลานชายนายเฉลียว อยู่วิทยา อดีตผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดงผู้ล่วงลับ ขับชนตำรวจเสียชีวิตแล้วนำไปจอดไว้ที่บ้านในย่านทองหล่อ วันที่ 3 กันยายน 2555
รอยเตอร์

ในวันอังคารนี้ คณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ที่ตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ทายาทเครื่องดื่มกระทิงแดง เปิดเผยว่า คณะทำงานฯ มีความเห็นส่งไปยังอัยการสูงสุดให้สอบสวนเพิ่มเติมในคดีที่นายวรยุทธ ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ในประเด็นที่พบโคเคนในเลือดของนายวรยุทธ และการขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะเกิดเหตุ เนื่องจาก 2 ประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ในสำนวนของพนักงานสอบสวนก่อนหน้านี้

นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เปิดเผยแก่สื่อมวลชนในการแถลงข่าวที่สำนักงานอัยการสูงสุดว่า คณะทำงานเห็นว่า คำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธของ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ แต่พบว่ามีหลักฐานใหม่ที่ยังไม่อยู่ในสำนวนจึงเห็นควรให้สอบสวนเพิ่มเติม

“พบสารโคเคนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ถือว่าการกระทำผู้ต้องหาส่วนนี้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ข้อหาส่วนนี้ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีผู้ต้องหาที่ 1 คือ นายบอส หรือนายวรยุทธ อยู่วิทยา เรื่องความเร็ว พันตำรวจโท ธนสิทธิ์ แตงจั่น บอกว่า 177 (กม./ชั่วโมง) แต่เอาไปเอามาสุดท้ายไม่มีความเร็วมากกว่านั้นเลย ดอกเตอร์สธน (วิจารณ์วรรณลักษณ์) ก็บอกว่า ความเร็วใกล้เคียงกัน คือ มากกว่า 170 (กม./ชั่วโมง) แล้วก็ส่งรีพอร์ตนั้นให้กับทางธนสิทธิ์เอาไปไว้ในสำนวน คณะทำงานของเราตรวจโดยละเอียดแล้ว ไม่มีหลักฐานชิ้นนี้” นายประยุทธ กล่าว

“นี่คือพยานหลักฐานใหม่ตามนัย ป.วิอาญา มาตรา 147 เป็นพยานสำคัญแล้ว จะนำไปสู่การพิสูจน์ผิด-ถูกคดีนี้ได้ ทางคณะทำงานจึงมีความเห็นกราบเรียนท่านอัยการสูงสุดให้เริ่มต้นสอบสวนคดีนี้ใหม่ เพื่อดำเนินคดีนายบอสในข้อหานี้ต่อไป” นายประยุทธ กล่าวเพิ่มเติม

การตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นนั้น สืบเนื่องจากช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 สื่อหลายสำนักได้เปิดเผยเอกสาร ซึ่งลงนามโดย พ.ต.ท.ธนาวุฒิ สงวนสุข รองผู้กำกับการสอบสวน ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2563 แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ตามคดีอาญาระหว่าง พ.ต.ท.วีรดล ทับทิมดี ผู้กล่าวหา นายวรายุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 และ ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก การที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2555 เป็นผลให้คดีที่เกี่ยวกับการขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจของนายวรยุทธ ทั้งหมดเป็นอันสิ้นสุดลง

ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งที่ พิเศษ/2563 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี นายวรยุทธ โดย เริ่มประชุมครั้งแรกในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ใน 3 ประเด็นหลักประกอบด้วย 1. คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2. การพิจารณาสั่งคดีของอัยการเป็นไปตามระเบียบกระบวนการหรือไม่ และ 3. คณะทำงานจะพิจารณาว่า มีเหตุและผลการพิจารณาอย่างไรที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ และในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ นายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกคำสั่งที่ 225/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย กรณีนี้ เช่นเดียวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้เช่นกัน

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในวันเดียวกันว่า คณะทำงานที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีกำลังดำเนินการเรื่องดังกล่าวอยู่ ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ แต่มีความคืบหน้าแล้ว ด้านคณะทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่ได้เปิดเผยความคืบหน้าของการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

นักวิชาการชี้ ความเห็น กก. อสส. ถือว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้รื้อคดีได้

น.ส. สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า หากอัยการมีความเห็นให้สอบสวนเพิ่มในคดีนี้ ถือว่าคดียังมีโอกาสที่จะกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง

“ความเห็นของคณะกรรมการชุดนี้ ถือเป็นโอกาสที่คดีจะกลับขึ้นมาดำเนินอีกได้ เพราะถ้ามีการสอบสวนเพิ่มเติม คือการจะแสวงหาพยานหลักฐานใหม่ให้ครบถ้วนตามหลักคดีอาญาไทย คดีอาญาสามารถดำเนินคดีได้โดยรัฐ และผู้เสียหาย คือ รัฐโดยอัยการ หรือถ้าอัยการไม่ดำเนินการ ญาติก็สามารถตั้งทนายฟ้องเองได้ หรือดำเนินการไปพร้อมกันได้ทั้งรัฐและญาติ” น.ส.สาวตรี กล่าว

สำหรับคดีที่ บอส หลานชายของนายเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดง ตกเป็นจำเลย สืบเนื่องจากในช่วงเวลาประมาณ 05.30 น. ของวันที่ 3 กันยายน 2555 เกิดเหตุรถยนต์สปอร์ตขับชนรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนทำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่ปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เสียชีวิต

กระทั่งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องนายวรยุทธต่ออัยการใน 7 ข้อหาประกอบด้วย 1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหาย 2. ขับรถโดยประมาททำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย 3. ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล 4. ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย 5. ไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานงานในทันที 6. ขับรถในขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ 7. ขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ต่อมา ระหว่างการพิจารณาในชั้นอัยการ สำนักงานอัยการได้ออกหมายเรียก นายวรยุทธเข้ารายงานตัว 7 ครั้ง แต่นายวรยุทธได้ให้ทนายความขอเลื่อนนัดออกไป โดยใช้เหตุผลว่า ติดภารกิจในต่างประเทศ ต่อมาอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง นายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาททำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล และ ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย

27 เมษายน 2560 อัยการสูงสุดออกหมายเรียกให้นายวรยุทธ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา แต่นายวรยุทธไม่ไปตามนัด จึงได้มีการออกหมายจับ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สำนักข่าวเอพีได้เผยแพร่ภาพว่า พบนายวรยุทธในบ้านพักที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตาม นายวรยุทธ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใด ๆ กับผู้สื่อข่าว ต่อมาคดีทั้งหมดของนายวรยุทธได้หมดอายุความลงระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นอัยการ เหลือเพียงข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี และจะหมดอายุความ ในวันที่ 3 กันยายน 2570 เพียงข้อหาเดียว

กระทั่งกลางเดือนกรกฎาคม 2563 สื่อหลายสำนักได้เปิดเผยเอกสาร ซึ่งลงนามโดย พ.ต.ท.ธนาวุฒิ สงวนสุข รองผู้กำกับการสอบสวน ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2563 แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ตามคดีอาญาระหว่าง พ.ต.ท.วีรดล ทับทิมดี ผู้กล่าวหา นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 และ ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมา จากการที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าว เป็นผลให้คดีที่เกี่ยวกับการขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจของ นายวรยุทธ ทั้งหมดเป็นอันสิ้นสุดลง ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากประชาชนในสังคม และอินเทอร์เน็ต ถึงกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง