เอ็นจีโอยัน ยังมีการลักลอบ ข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย หลายพันคนต่อวัน

โดย ฮาตา วาฮาริ และ นาซือเราะ
2015.05.06
TH-bodies-620 เจ้าหน้าที่ไทยตรวจสอบศพเหยื่อค้ามนุษย์ ที่ขุดขึ้นมาได้อีก จำนวน 6 ศพ พบในแถบชายแดน ปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ภาคใต้ของประเทศไทย 6 พฤษภาคม 2558
เบนาร์นิวส์

“ศพที่พบในชายแดนไทย-มาเลเซีย ในสัปดาห์นี้ อาจจะถูกฆ่าโดยกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ ที่ไม่ได้รับเงินค่าไถ่ หรือพวกเขาอาจจะมีอาการป่วยสาหัส จากการถูกบังคับใช้แรงงาน” ผู้อำนวยการ องค์กรพัฒนาเอกชนองค์กรหนึ่งของมาเลเซีย กล่าว

และถึงแม้ว่า รัฐบาลมาเลเซียจะปฏิเสธ แต่ประเทศมาเลเซีย มีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน ในขบวนการการค้ามนุษย์ตามแนวตะเข็บชายแดน”  กลอรีน ดาส ผู้อำนวยการของ เทนากานิตา (Glorene Das, director of Tenaganita) องค์กรเอ็นจีโอ ในกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ที่ทำงานด้านสิทธิผู้หญิงและแรงงานข้ามชาติ กล่าว

"การค้ามนุษย์เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคใต้ของประเทศไทย ในแต่ละวัน มีคนนับหลายพันคน พากันเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศมาเลเซียและประเทศไทย" เธอกล่าว

"จากเรื่องราวและพยานหลักฐานต่างๆของแรงงานข้ามชาติและชุมชนผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะ พม่า โรฮิงญา และชุมชนชาวบังคลาเทศ แน่นอนคนมาเลเซียมีส่วนร่วมในการลักลอบนำเข้าและค้ามนุษย์ ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย" กล่าวเพิ่ม

วันจันทร์ที่ผ่านมา ดาโต๊ะ ดร.วัน จูไนดิ ตวนกู จาฟาร์ (Datuk Dr. Wan Junaidi Tuanku Jaafar) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ของประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า "ยังไม่มีหลักฐานปรากฏว่า มาเลเซีย มีส่วนเกี่ยวโยงกับการค้นพบ 26 ศพ ที่ค่ายกักกันของขบวนการค้ามนุษย์ ใน ต. ปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ซึ่งอยู่ห่างเพียง 300 เมตร ( 984 ฟุต) จากชายแดนมาเลเซีย

วันพุธที่ 6 พ.ค. 2558 นี้  พ.ต.อ.มารุต เรืองจินตนา รองผู้กำกับสืบสวนภาค 9  พ.ต.ต.ชาญวิทย์ ศรีหร่าย พนักงานสืบสวน คณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง เข้ารวบรวมข้อมูล สอบปากคำผู้เกี่ยวข้องและตรวจสถานที่เกิดเหตุ กรณีชาวโรฮิงญาว่าหลบหนีเข้าเมืองและเสียชีวิต ในพื้นที่ ปาดังเบชาร์  บริเวณสุสานเก่า ประจำหมู่บ้านตะโล๊ะ  ม.8  ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ตรวจพบหลุมศพ บริเวณสุสาน ประจำหมู่บ้าน จำนวน 9 หลุม คาดว่าน่าจะเป็น หลุมศพของชาวโรงฮิงญา ทางเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังเข้าไปขุดหลุมศพ พบศพจริง จำนวน 6 หลุม ในชั้นต้นคาดว่าเป็นศพผู้ชาย 2 ศพ ผู้หญิง 4 ศพ สภาพศพเน่าเปื่อยเหลือแต่กระดูก

“โดยศพทั้งหมด เจ้าหน้าที่นำส่งศพ เพื่อตรวจดีเอ็นเอ ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่  และจากนั้นจะนำไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป” พ.ต.อ.มารุต กล่าว

ในสัปดาห์ ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ต้องสงสัย 4 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ ท้องถิ่นไทย คือ สมาชิกสภาเทศบาลปาดังเบซาร์ 1 คน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 คน และเป็นชาวพม่า 1 คน  และออกหมายจับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก 4 ราย

ฝังและเผา

จากการแถลงของ กลอรีน ดาส ว่า ขบวนการการลักลอบค้ามนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับชาวพม่า โรฮิงญา และบังกลาเทศ รวมถึงมาเลเซีย ที่มีการทำงานประสานกัน และวิถีการทำงานอย่าง "ช่ำชองด้วยประสบการณ์และมีโครงสร้าง"

ชาวมุสลิมโรฮิงญา และผู้ลี้ภัยชาวพม่าคนอื่นๆ ได้เล่าให้ เทนากานิตา (Tenaganita) ฟังว่า หลังจากที่ถูกจับกุมและส่งไปอยู่ ค่ายกักกันและเรือนจำในประเทศไทย หลายคนมักจะ "ถูกส่งไปยังชายแดน เพื่อจะถูกขายต่อให้กับกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ และนายหน้า เพื่อการค้าประเวณี และค้าแรงงาน" กลอรีน ดาส กล่าว

"มีอีกหลายกรณี เป็นการลักพาตัวด้วย เราพูดถึงจำนวนเงินมหาศาล เพื่อเรียกเป็นค่าไถ่ โดยผู้ค้ามนุษย์ชาวมาเลเซีย นายหน้า และกลุ่มลักพาตัว จะลักพาตัวสมาชิกในครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย เมื่อไม่ได้รับเงินค่าไถ่ ตามความต้องการ ของกลุ่มผู้ค้ามนุษย์ พวกเขาเหล่านั้น ก็จะถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม และฝัง" เธอกล่าว

แรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัยหลายคน ถูกบังคับให้ทำงานเพื่อชำระหนี้และค่าไถ่ตัว ซึ่งบางทีพวกเขาก็อาจล้มป่วย และตายไป เพราะไม่ได้รับการรักษาเยียวยา

"ศพของพวกเขาถูกฝัง และเผา ในภาคใต้ของประเทศไทย" เธอกล่าว

ประเทศไทย: จุดขนส่งและผ่าน

ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ของธุรกิจอันนำมาซึ่งเงินจำนวนมหาศาล ในการลักลอบนำเข้า ชาวโรฮิงญาอย่างผิดกฎหมาย เพื่อส่งต่อไปประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย  ฟอร์ติฟาย ไรท์ส องค์กรสิทธิมนุษยชน กรุงวอชิงตันดีซี กล่าว

"โรฮิงญาที่เข้ามาในประเทศไทย มักจะถูกนำไปส่งที่ค่ายกักกันของผู้ค้ามนุษย์” ซึ่งจะตั้งอยู่ในป่าลึกเข้าไป ห่างไกลจากตัวเมือง  หรือบนเกาะเล็กๆ  ไม่ว่าจะเวลาใดก็ตาม แม้กระทั่งในช่วงนี้ ถือเป็นโลว์ซีซั่น ของการค้ามนุษย์ในประเทศไทย – ก็ยังคงมีชาวโรฮิงญาอีกหลายพันคน ที่อยู่ในอีกหลายสิบค่ายกักกันเพื่อค้ามนุษย์ ... " แมทธิว สมิธ ผู้อำนวยการบริหาร ฟอร์ติฟาย ไรท์ส กล่าวให้ความแก่ สมาชิกสภา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558

เขากล่าวอิงจากการสัมภาษณ์ ผู้รอดชีวิต ผู้ลักลอบนำเข้าและค้ามนุษย์ และนายหน้า โดย องค์กร ฟอร์ติฟาย ไรท์ส

ผู้ค้ามนุษย์ "กักขังหน่วงเหนี่ยวชาวโรฮิงญา บังคับ ข่มขู่ เฆี่ยนตีอย่างทารุณ ทรมาน ริดรอนสิทธิ และให้อยู่ในสภาพที่สกปรกน่าสมเพช" สมิธ กล่าวเพิ่มว่า ผู้ค้ามนุษย์ ก็เป็นที่รู้กันว่า ขู่รีดไถเงินจากชาวโรฮิงญา โดยหลอกว่าจะปล่อยให้เป็นอิสระ หรือ พาเดินทางต่อไปยังที่หมาย

ผู้ค้ามนุษย์เล่าถึง การเดินทางที่ยาวนาน

ด้านผู้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์รายหนึ่ง กล่าวว่า ชาวโรฮิงญา ส่วนใหญ่อายุประมาณ 12-25 ปี จะเริ่มออกเดินทางจากฝั่งชายแดนรัฐอาระกันหรือยะไข่ ของพม่า แล้วจะเดินทางผ่านน่านน้ำพม่าภาคอิรวดี เกาะโกโก้ รัฐมอญ ภาคตะนาวศรี ต่อไปยังเขตน่านน้ำไทย ด้านจังหวัดระนอง จังหวัดพังงา และจังหวัดใกล้เคียง ตามโอกาสและสถานการณ์จะเอื้ออำนวย การเดินทางจากจุดนี้ ใช้เวลา 12 วัน  ในการเดินทางแต่ละคนต้องมีค่าใช้จ่าย 1,000บาท เพื่อหาซื้ออาหารระหว่างเดินทาง

ส่วนนายหน้า จะได้รับผลประโยชน์คนละ 50,000-100,000 บาท ตลอดการเดินทาง

จากนั้นจะต้องเดินทางจากจังหวัดระนองและพังงา จะเดินทางต่อลงไปทางทิศใต้ โดยส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสตูลเข้าสู่จังหวัดสงขลา ใช้รถยนต์ที่ดัดแปลงให้ซ่อนคนได้ ในการเดินทาง เที่ยวหนึ่งจะขนคนพร้อมๆ กันครั้งละประมาณ 150 -200 คน หรือบ้างครั้งจะมากถึง 500 คน  โดยรถยนต์ 1 คัน บรรทุกคน ได้ 20-30 คน ส่วนเวลาที่ใช้ในการเดินทางนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บางครั้งแค่ 1 สัปดาห์ แต่บางครั้งใช้เวลานานถึง 1 เดือน จนกว่าจะถึงเขาแก้ว ม. 8 บ้านตะโล๊ะ ต.ปาดังเบซาร์ อ.ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา

“การเดินทางแต่ละครั้งจะบรรทุกคนกันมาจำนวนมาก แน่นอนพวกเขาต้องอยู่กันอย่างแออัด บางคนเสียชีวิตระหว่างเดินทาง บางคนป่วยมาเสียชีวิต” บางทีเพราะขาดลมหายใจระหว่างการเดินทาง เพราะใช้ระยะทางไกล และไม่สามารถหยุดพักระหว่างทางได้”  นายหน้ารายเดียวกันกล่าว

“ถ้าการเดินทางยิ่งใช้เวลานาน ระยะทางที่เราใช้ ก็จะต้องอ้อมไปเยอะ บางครั้ง ต้องออกนอกเส้นทางโดยไม่รู้ว่าจะไปทะลุที่ไหน แต่ต้องไป  ยิ่งใช้เวลานานในการเดินทาง ความเสี่ยงยิ่งมีมากเท่านั้น”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง