ผู้ต้องสงสัยเหตุลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ ถูกจับกุมตัวได้ในมาเลเซีย

ฮาตา วาฮารี
2015.09.14
TH-BOMBFOLO-Bangkok-620 นายยูซูฟู ไมไรลี (ใส่เสื้อเหลือง) ชี้ไปที่ศาลท้าวมหาพรหมในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 ขณะทำแผนประกอบคำรับสารภาพแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวหาซึ่งนำไปสู่การระเบิดศาลดังกล่าว
เอเอฟพี

เจ้าหน้าที่ตำรวจในมาเลเซียได้จับกุมตัวชาวมาเลเซียสองคน และชาวปากีสถานหนึ่งคน ในฐานะส่วนหนึ่งของการสืบสวนเหตุลอบวางระเบิดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ในกรุงเทพฯ อันเป็นการขยายขอบเขตการสืบสวนไปยังต่างประเทศ

บุคคลทั้งสามถูกจับกุมตัว หลังจากเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฐานต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง (มาตรการพิเศษ) ปี 2555 คาลิด อาบู บาการ์ จเรตำรวจ บอกในงานแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์

เขาไม่ได้บอกว่า บุคคลเหล่านั้นเดินทางเข้ามาเลเซียอย่างไร หรือถูกจับกุมตัวที่ใด เพียงแต่บอกว่า ภาพจากกล้องวิดีโอวงจรปิดมีส่วนนำไปสู่การจับกุมดังกล่าว

"บุคคลทั้งสามถูกระบุรูปพรรณ โดยการแบ่งปันข้อมูลระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย” เขากล่าว

“อย่างไรก็ตาม เราจะยังไม่ส่งตัวผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ให้แก่ประเทศไทย เพราะเราจำเป็นต้องทำการสืบสวนต่อไป เพื่อให้ทราบว่าผู้ต้องสงสัยหลักอยู่ในประเทศของเราจริงหรือไม่ และมีเครือข่ายก่อการร้ายที่เป็นไปได้หรือไม่” คาลิดเสริม

การจับกุมดังกล่าวทำให้จำนวนผู้ต้องสงสัยกรณีเหตุลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ ที่ถูกคุมตัวไว้แล้ว เพิ่มเป็นห้าคน ในประเทศไทย ชายชาวต่างชาติสองคนได้ถูกจับกุมตัวและตั้งข้อหามีวัตถุระเบิดในความครอบครอง

หนึ่งในผู้ต้องสงสัยชาวมาเลเซียที่ถูกจับกุมตัวได้เป็นผู้หญิง เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าว และในการเข้าค้นหอพักแห่งหนึ่งย่านดินแดง กรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวหญิงจำนวนสามคนไปสอบปากคำ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงาน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยกล่าวว่า หนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่ชื่อว่า ยูซูฟู ไมไรลี (คนในภาพ) ได้สารภาพว่า เป็นผู้ส่งมอบระเบิดที่อยู่ในเป้ ให้แก่ชายคนหนึ่งที่ใส่เสื้อสีเหลือง ผู้ซึ่งถูกถ่ายวิดีโอไว้ว่าเป็นผู้วางระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม ไม่นานก่อนที่จะเกิดระเบิดขึ้น

เหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหมทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บอีก 120 คน ในระหว่างช่วงเวลาที่คนเลิกงานในตอนเย็น บริเวณสี่แยกราชประสงค์ที่มีคนพลุกพล่าน ในกรุงเทพฯ

ความเกี่ยวโยงกับบังกลาเทศ

เมื่อวันจันทร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยยังบอกแก่ผู้สื่อข่าวด้วยว่า ผู้ต้องสงสัยที่เป็นผู้วางแผนการวางระเบิดครั้งนี้ ซึ่งถูกระบุว่าถือหนังสือเดินทางของจีน และมีชื่อว่า นายอาบูดูซาตาเออร์ ดาบูดูเรห์มาน หรือ “อิซาน” ขณะนี้อยู่ในประเทศตุรกี

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยกล่าวว่า เชื่อว่าอิซานได้หลบหนีเข้าไปในจีนก่อนเหตุระเบิดหนึ่งวัน แต่เมื่อวันจันทร์ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของบังกลาเทศได้ยืนยันกับเบนาร์นิวส์ว่า อิซานเดินทางถึงกรุงธากา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม และเดินทางออกจากประเทศสองสัปดาห์หลังจากนั้น

“จากข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง อิซานเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เวลา 11.00 น. ถึงท่าอากาศยานนานาชาติ ฮัซรัต ชาห์จาลัล โดยเที่ยวบินของสายการบินไบมานของบังกลาเทศ” นาซรูล อิสลาม ผู้ช่วยจเรตำรวจของบังกลาเทศ บอกแก่เบนาร์นิวส์

“อิซานออกจากรุงธากาเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ด้วยเที่ยวบินของสายการบินเจ็ต แอร์เวย์ บัตรผ่านขึ้นเครื่องของเขาระบุว่า จุดหมายปลายทางสุดท้ายของเขาคือ กรุงปักกิ่ง" นาซรูลเสริม โดยระบุว่าวันที่ 30 ส.ค. เป็นวันเดินทางออก แต่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม

"เขาเดินทางออกจากกรุงธากา โดยสายการบินเจ็ต แอร์เวย์ เพื่อไปยังกรุงเดลี เมื่อวันที่ 30 ส.ค.” สำนักข่าวเอพีอ้างคำพูดของ พล.ต.ท. ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันจันทร์

"จากกรุงเดลี อิซานได้เดินทางต่อไปยังกรุงอาบูดาบี และจากอาบูดาบี เขาได้เดินทางไปยังกรุงอิสตันบูล เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นี่เป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของเขา เป็นที่ชัดเจน”

เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของรัฐบาลตุรกีปฏิเสธข้อมูลนี้

"ไม่มีบันทึกใดแสดงว่า ผู้ต้องสงสัยรายนี้ได้เดินทางเข้ามายังตุรกี” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ผู้ไม่ประสงค์ที่จะเปิดเผยนาม บอกแก่สำนักข่าวเอพี “และทางการไทยก็ไม่ได้แจ้งให้เราทราบว่า มีผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายกำลังเดินทางมายังตุรกี”

ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาประกาศแสดงความรับผิดชอบต่อการลอบวางระเบิดครั้งนี้ ซึ่งเป็นเหตุก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย และทางการไทยก็ยังไม่เปิดเผยถึงสาเหตุของการลอบวางระเบิดครั้งนี้

ชาห์รีอาร์ ชาริฟ มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง