ศบค. เห็นชอบผ่อนปรนแรงงานต่างด้าวกว่าแสนคนเข้าไทย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.07.22
กรุงเทพฯ
200722-TH-COVID-restrictions-migrants-1000.jpg แรงงานต่างด้าวในแคมป์คนงานแห่งหนึ่ง ในตำบลบางกะดี อำเภอเมือง ปทุมธานี รับของบริจาคของใช้จากเอ็นจีโอ ในช่วงโควิด-19 ระบาด วันที่ 12 เมษายน 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีมติเห็นชอบดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 6 โดยจะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานในประเทศได้ กว่า 100,000 คน รวมทั้งเสนอให้ต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ออกไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า ที่ประชุม ศบค. มีมติเห็นชอบเสนอมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 6 และการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า

“เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาดของโรคภายในประเทศ… จึงขอขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีความจำเป็น ที่ต้องมีอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ อาทิ 1. การควบคุมการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง 2. การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย และ 3. มาตรการการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรมกิจการที่เกี่ยวข้อง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

“มาตรการหลักเกณฑ์ของการนำแรงงาน 3 สัญชาติ คือ เมียนมา กัมพูชา และลาว เข้ามาในประเทศโดยทางกระทรวงแรงงาน มีความต้องการใช้แรงงานไร้ฝีมือจากทางกัมพูชา ลาว เมียนมา มีความต้องการ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีใบอนุญาตการทำงาน และมีวีซ่าอยู่แล้ว กลุ่มนี้ต้องการกลับเข้ามาทำงานใหม่ 69,235 คน แล้วแรงงานที่ยังไม่มีเวิร์คเพอร์มิต หรือวีซ่ามาเลย แต่ต้องการที่จะเข้ามา นายจ้างก็ได้มีการยื่นติดต่อกันแล้ว 42,168 คน กระทรวงแรงงานคงจะได้นำข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาพิจารณา” นพ. ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ ยังไม่ได้ระบุว่า จะอนุญาตแรงงานและชาวต่างชาติเข้าประเทศได้เมื่อใด แต่หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเตรียมการ

นอกจากนั้น นพ.ทวีศิลป์ ยังได้เปิดเผยถึงมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 6 โดยจะมีการอนุญาตให้กลุ่มชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม เดินทางเข้าประเทศ คือ กลุ่มที่ 1 ชาวต่างชาติที่เข้ามาจัดการแสดงสินค้าซึ่งในเดือนกันยายน 2563 จะมีจัด 1 งาน ผู้เข้าร่วมประมาณ 680 คน, ตุลาคม 8 งาน กว่า 400 คน และพฤศจิกายน 4 งานกว่า 4,000 คน กลุ่มที่ 2 ชาวต่างชาติที่มาถ่ายทำภาพยนตร์ กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาพยาบาล และกลุ่มที่ 4 ชาวต่างชาติที่ถือบัตรสมาชิกพิเศษของประเทศไทย (Thailand Elite Card) ซึ่งมี 10,363 ราย อยู่ในประเทศไทยแล้ว 3,108 ราย และอยู่นอกประเทศ 7,255 ราย โดยกลุ่มแรกจะอนุญาตให้เข้ามาก่อน 200 คน โดยการอนุญาตให้เข้าประเทศทุกกลุ่มจะต้องมีการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของไทยอย่างเคร่งครัด

ในวันเดียวกัน ศบค. เปิดเผยว่า ไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 6 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ ทำให้มีตัวเลขผู้ป่วยสะสมรวม 3,261 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ผู้เสียชีวิตสะสมจึงคงที่ 58 ราย

สาธารณสุขเปิดสถานกักกันโรคใน 44 จังหวัด

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในวันเดียวกันว่า สบส. เตรียมพร้อมที่จะเปิดสถานกักกันโรคใน 44 จังหวัด ท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเปิดประเทศแล้ว โดยภาคเหนือจะเปิดใน 10 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก ลำปาง แพร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด คือ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ ภาคตะวันออก 5 จังหวัด คือ สระแก้ว ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ภาคตะวันตก 2 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ 10 จังหวัด คือ ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา ยะลา นราธิวาส และภาคกลาง 3 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี

ด้าน พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า สตม. ได้เตรียมพร้อมสำหรับอำนวยความสะดวกในการเปิดรับชาวต่างชาติเข้าประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลแล้วเช่นกัน

“ถ้าหากมีการเข้ามา เราก็พร้อมที่จะอำนวยความสะดวก ตรวจคัดกรอง โดยคำนึงถึงมาตรการของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข คำนึงถึงความปลอดภัยทางสุขภาพเป็นหลัก ในส่วนของแรงงานผู้ที่อยู่ในประเทศ และรัฐให้ต่อวีซ่า เราก็จะไม่ได้ทำการจับกุมอยู่แล้ว ขณะที่สถิติการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองเดือนที่แล้ว เราจับได้ 3 พันกว่าคน เราก็มีการตรวจเข้มประสานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ก็มีการจับได้จำนวนมาก แต่สถิติเดือนนี้ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมเข้ามา” พล.ต.ท.สมพงษ์ ระบุ

ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบให้แรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานตามเอ็มโอยูด้านแรงงาน (ปกติ) อยู่ต่อไปและทำงานในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว ได้จนถึงวันที่ 26 กันยายน 2563 เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยถือเป็นการต่ออายุที่จากเดิม แรงงานเอ็มโอยู (ปกติ) จะสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 เท่านั้น

นักธุรกิจเห็นด้วย ต่างด้าวกลับมาทำงานในไทย

นายชัยวัฒน์ วิฑิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเห็นด้วยกับมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาลที่จะให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานในประเทศ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างมาก

“เห็นด้วยที่ผ่อนปรนให้แรงงานเข้ามาทำงาน แต่ต้องผ่านมาตรการควบคุมโรคติดต่อกักตรวจโรค 14 วัน เพื่อให้ปลอดเชื้อสำหรับคนไทย มันมีความจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะขาดแคลนแรงงานในประเทศ จำเป็นต้องใช้แรงงานบางจำพวก แรงงานกลุ่มที่เดือดร้อนหนัก คือ ก่อสร้าง กับผลิตอาหาร ธุรกิจไปไม่ได้ ช่วงที่ไม่มีแรงงาน ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจมันหยุดตั้งแต่มีการระบาดของโควิด แรงงานส่วนใหญ่ก็เดินทางกลับบ้าน ภาคธุรกิจเดือดร้อน เมื่อเปิด ผมในฐานะภาคธุรกิจก็เห็นด้วย” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ส่วน นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า บริษัทที่มีความพร้อมควรให้ความช่วยเหลือแรงงาน ด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับมา

“บริษัทที่จะพร้อมก็คงเป็นบริษัทที่พร้อมจะลงทุน ต้องให้คำมั่นสัญญากับแรงงานว่า ตัวแรงงานต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย กลับมาต้องฟรี บริษัทต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากแรงงาน” นายสมพงค์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน นายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เห็นด้วยกับการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากภาคธุรกิจมีความต้องการแรงงาน แต่รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการที่ดีพอในการรองรับ

“รัฐควรเปิดให้กลับเข้ามา เพราะถ้าไม่เปิดก็จะมีการลักลอบ แต่ต้องแบ่งการเข้ามาเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกให้กลุ่มที่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่าเข้ามาก่อน เพราะปัญหาน้อยมีนายจ้างรองรับ ระยะที่สองให้กลุ่มที่ทำเอ็มโอยูแล้วกลับเข้ามา ก่อนที่สุดท้าย ให้กลุ่มแรงงานใหม่ ที่ยังไม่มีใบอนุญาต โดยกลุ่มสุดท้ายน่าจะให้รอถึงสิ้นปี” นายอดิศร กล่าว

“การทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้าง คือ ให้นายจ้างที่อยู่ห่างจากชายแดนไม่เกิน 4 ชั่วโมง จัดการเรื่องสถานที่กักตัวให้ได้มาตรฐาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ และนายจ้างเอง ส่วนประเทศต้นทาง รัฐควรคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้ทำศูนย์กักตัวใกล้ชายแดน เพื่อให้กักก่อนข้ามประเทศมา และขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก หรือสหประชาชาติให้ช่วยจัดการเรื่องนี้ เนื่องจากองค์กรนานาชาติมีงบประมาณ ที่น่าจะแบ่งเบาภาระภาครัฐได้” นายอดิศร กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง