ไทยพบผู้ติดเชื้อ 17 ราย กลับมาจากตะวันออกกลาง
2020.06.04
กรุงเทพฯ
ในวันพฤหัสบดีนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 17 คน โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากตะวันออกกลาง และอยู่ระหว่างการกักตัวในสถานที่กักกันโรคที่รัฐจัดให้
ด้านกระทรวงคมนาคม ได้แจ้งไปยังผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะว่า การขนส่งทุกประเภทสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ทั้งหมดแล้ว ทั้งรถโดยสารสาธารณะ (รถทัวร์) รถไฟทางไกล และเครื่องบิน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 17 ราย เป็นคนไทยทั้งหมด ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 3,101 ราย หายป่วยแล้ว 2,968 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ผู้เสียชีวิตสะสมคงที่อยู่ที่ 58 ราย
“ตัวเลขวันนี้ที่พบ เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 17 ราย ทั้ง 17 รายนี้อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้… พบว่า ทั้งสามกลุ่มก้อนมาจาก 3 ประเทศ ประเทศแรกจากคูเวต 13 ราย กลุ่มนี้เป็นผู้ชาย 12 ผู้หญิง 1 มาถึงเมืองไทยเมื่อ 24-26 พฤษภาคม เข้าพักที่สเตทควอรันทีนที่รัฐจัดให้ ในกรุงเทพ 5 ราย สมุทรปราการอีก 8 ราย ทุกรายตรวจเชื้อไม่พบในครั้งแรก มาพบในครั้งที่สอง คือ วันที่ 2 มิถุนายน ใน 13 ราย มีรายเดียวที่มีอาการ คือ ไอ หายใจขัด นอกนั้นไม่มีอาการเลย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
“กลุ่มก้อนที่สอง มาจากประเทศกาตาร์ เป็นชาย 1 ท่าน และหญิงอีก 1 ท่าน กลับมาถึงเมืองไทยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม เข้าพักสเตทควอรันทีนที่สมุทรปราการ ผู้ป่วยหญิงไอ และมีเสมหะ ปวดศีรษะ ส่วนผู้ชายไม่มีอาการใด ๆ ทั้งสองรายตรวจครั้งแรกไม่เจอ มาเจอครั้งที่สอง 2 มิถุนายน กลุ่มก้อนที่สาม คือจากซาอุดิอาระเบีย 2 ราย เป็นผู้ชายทั้งคู่ ลงเครื่องที่ประเทศมาเลเซีย เข้ามาผ่านด่านปาร์ดังเบซาร์ วันที่ 21 และ 25 พฤษภาคม แล้วก็เข้าพักที่สเตทควอรันทีนที่สงขลา ตรวจครั้งที่หนึ่งไม่พบ มาพบครั้งที่สองคือ 1 มิถุนายน ไม่มีอาการทั้งหมด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อที่มีประวัติกลับมาจากต่างประเทศ 640 ราย โดยในนั้น 55 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ โดยในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 จะมีคนไทยกลับมาจากประเทศอินเดีย 438 คน สหรัฐอเมริกา 225 คน โดยในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากประเทศเอธิโอเปีย ปากีสถาน อินเดีย และเกาหลีใต้ อีกราว 500 คน
ขณะเดียว สถิติระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ที่เดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน ถึงปัจจุบัน 16,620 คน ทั้งหมดเข้าสู่การกักตัวในสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ และวันนี้มีคนไทยเดินทางผ่านเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย 173 คน ลาว 9 คน กัมพูชา 4 คน และเมียนมา 1 คน เมื่อรวมทั้งหมด ประเทศไทยมีผู้ที่ถูกกักตัวใน สถานกักกันโรคของรัฐทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคสะสม 31,855 คน กลับบ้านได้แล้ว 22,470 คน โดยเดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซียมากที่สุด 15,124 คน สหรัฐอเมริกา 2,012 คน อินเดีย 1,883 เกาหลีใต้ 1,126 คน และที่เหลือมาจากประเทศอื่นๆ ปัจจุบัน สำหรับการติดตามโรค มีร้านค้าลงทะเบียนกับแพลตฟอร์มไทยชนะแล้ว 151,633 ร้าน ผู้ใช้งานผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ 20,811,016 คน
รัฐศึกษามาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4
นพ.ทวีศิลป์ ยังได้เปิดเผยอีกว่า มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 ซึ่งรัฐอาจผ่อนคลายในอนาคต จะให้ผู้ประกอบการแจ้งแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อรัฐบาลได้ ซึ่งจะมีกิจกรรม และกิจการ 12 ประเภท ที่จะผ่อนปรนในระยะที่สี่ ประกอบด้วย 1. โรงเรียนและสถาบันการศึกษา อนุญาตให้ จัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรมและกิจการอื่นๆ รวมทั้งสถาบันกวดวิชา 2. สถานรับเลี้ยงเด็กและสถานดูแลผู้สูงวัย แบบรายวัน 3. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 4. ห้องประชุมโรงแรม หรือศูนย์ประชุม เพื่อการประชุม อบรม สัมมนา ที่มีการรวมกลุ่มคนมากกว่า 200 คน 5. การถ่ายทำรายการ ภาพยนตร์ และวิดีทัศน์ 6. อุทยานแห่งชาติ สวนรุกขชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สวนป่า น้ำตกธรรมชาติ
7. ชายหาด ชายทะเล เฉพาะพื้นที่ที่ส่วนราชการกำหนด และสามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคได้ 8. สวนสนุก สวนน้ำ สนามเด็กเล่น ร้านเกมส์ ตู้เกมส์ เครื่องเล่นหยอดเหรียญ 9. สนามกีฬา โรงยิม สถานที่ออกกำลังกาย สำหรับการสอน ฝึกซ้อม หรือแข่งขันกีฬา เช่น บิลเลียด สนุกเกอร์ มวย คาราเต้ ยูโด เทควันโด และศิลปะการต่อสู้อื่นๆ เดินวิ่งการกุศล ไตรกีฬา รวมทั้งสนามแข่งขัน 10. การจัดแสดงคอนเสิร์ต ดนตรี งานอีเวนต์ งานจัดแสดงสินค้า พื้นที่เกิน 20,000 ตารางเมตร 11. สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และ 12. สถานบริการ อาบอบนวด
ในวันเดียวกัน นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า กระทรวงคมนาคมอนุญาตให้มีการเดินทางข้ามจังหวัดสำหรับ รถโดยสารสาธารณะ (รถทัวร์) รถไฟ และเครื่องบิน ในทุกจังหวัดแล้ว หลังจากได้หารือเรื่องดังกล่าวร่วมกับ ศบค. ชุดเล็ก โดยการอนุญาตให้กลับมาให้บริการนั้นเพื่อความสอดคล้องกับมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 โดยการอนุญาตดังกล่าว จะอนุญาตทุกจังหวัด แต่ยกเว้นจังหวัดที่ยังห้ามการเดินทางเข้าออก โดยจากการตรวจสอบจังหวัดที่เคยมีมาตรการห้ามเข้าออก 19 จังหวัด พบว่าปัจจุบันมี 11-12 จังหวัด ยกเลิกมาตรการห้ามเข้าจังหวัดแล้ว ส่วนอีก 7-8 จังหวัดที่เหลือ คมนาคมได้ติดต่อขอข้อมูลไปแล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม นายอานนท์ระบุว่า ผู้ให้บริการการขนส่งต้องรอการประกาศจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างเป็นทางการก่อน จึงจะสามารถเปิดให้บริการได้จริง โดยรถทัวร์ต้องรอประกาศจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) รถไฟทางไกลต้องรอประกาศจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ สายการบินต้องรอประกาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ขณะที่ผู้โดยสารจำเป็นต้องตรวจสอบเส้นทางเองว่า ประเทศที่ต้องการจะเดินทางไป มีการปิดการเข้าออกหรือไม่ และหากเปิดให้บริการแล้ว ผู้ให้บริการต้องดำเนินกิจกรรมตามมาตรการป้องกันโรคของรัฐอย่างเคร่งครัด
UNOHCHR ห่วงเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนถูกลิดรอน ช่วงโควิด-19
เมื่อวานนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) ได้เตือนว่าประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนในณะที่กำลังต่อสู้กับวิกฤตโรคโควิด-19 โดยระบุว่า หากรัฐบาลประเทศใด ๆ ต้องการยุติการกระจายข่าวปลอม ก็ควรทำโดยพอสมควรแก่เหตุ
สำหรับประเทศไทย ศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ ภายใต้กระทรวงดีอี และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในการดำเนินการกับเนื้อหาทางโซเชียลมีเดียที่เห็นว่า เป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไปจากบริบทที่แท้จริงของสถานการณ์โควิด
“มีข้อกังวลว่า เมื่อมีประชาชนได้หยิบยกหัวข้อที่เหมาะควร เพื่อผลประโยชน์ต่อสาธารณะเกี่ยวเรื่องโควิดแล้ว แต่อาจจะตกเป็นหมายของทางการ และสร้างบรรยากาศการเซ็นเซอร์ตัวเองขึ้นมา มีกรณีตัวอย่างคือ เมื่อวันที่ 23 เมษายน มีศิลปินคนหนึ่ง ได้โพสต์เรื่องการขาดการเอาใจใส่ในการคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อตอนที่เขาเดินทางกลับมา เมื่อวันที่ 16 เมษายน จากนั้นได้ประกันตัวและถูกฟ้องร้องในเวลาต่อมา” มิเชล เบเชอร์เลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน