ผู้ลี้ภัยการเมืองจีนสองสามีภรรยา ได้ประกันตัวแล้ว

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2018.09.21
กรุงเทพฯ
180921-TH-CH-dissidents-600.jpg นางหวู ยู่หัว (ซ้าย) ปรากฏตัวพร้อมกับผู้สนับสนุน หลังจากได้รับการประกันตัวออกมา กรุงเทพฯ วันที่ 21 กันยายน 2561
ภาพโดย ผู้สนับสนุน

ในวันศุกร์นี้ ศาลแขวงปทุมวัน ได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายหยาง ชง และนางหวู ยู่หัว สองสามี-ภรรยา ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวจีน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวในข้อหาละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง เมื่อปลายเดือนสิงหาคมนี้ แม้ว่าทั้งสองจะถือบัตรผู้ลี้ภัยของยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ก็ตาม หลังจากสร้างความวุ่นวายที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย โดยศาลตั้งวงเงิน 3 แสนบาทต่อราย แต่มีเพียงนางหวู คนเดียวที่ได้ประกันในวันนี้ เนื่องจากเพื่อนสามารถรวบรวมหลักทรัพย์เพียงพอ สำหรับรายเดียว

"เพราะเราไม่มีเงินค่าประกันตัวพอ สามีของฉัน หยาง ชง จึงยังถูกตำรวจคุมขังต่อ เราไม่สามารถประกันตัวเขาได้ในเวลานี้" นางหวู บอกกับ เรดิโอฟรีเอเชีย องค์กรในเครือข่ายของเบนาร์นิวส์

ผู้พิพากษา ศาลแขวงปทุมวัน ได้อ่านคำพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ ขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาชาวจีนสองราย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นปฏิเสธคำขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งมีวงเงิน 2.4 หมื่นบาทต่อราย โดยผ่านล่ามชาวไทยที่สื่อสารภาษาไทย-จีนได้

“ศาลขอปล่อยตัวชั่วคราว ตามความหนักเบา และพฤติกรรมของผู้ต้องหา อนุญาตปล่อยตัวในชั้นสอบสวน หลักประกัน 3 แสนบาทต่อราย ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น และต้องแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ” ตอนหนึ่งของคำพิจารณาของศาลระบุ

ในการนัดของศาลวันนี้ มีเพื่อนของผู้ต้องหาทั้งสองรายมาร่วมสังเกตการณ์ 7 คน โดยหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณา ผู้สังเกตการณ์ได้ร่วมกันระดมหลักทรัพย์เพื่อนำมาประกันตัวผู้ต้องหา แต่เนื่องจากเป็นจำนวนเงินที่สูง จึงสามารถรวบรวมได้เพียง 3 แสนบาท และตัดสินใจให้ทนายความยื่นขอประกันตัวเฉพาะ นางหวู ยู่หัว ซึ่งในชั้นสอบสวน ถูกฝากขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ขณะที่ นายหยาง ชง ยังคงต้องถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป

นายหยาง ชง และนางหวู ยู่หัว ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากยูเอ็นเอชซีอาร์ และกำลังอยู่ระหว่างการขอไปลี้ภัยยังประเทศที่สาม แต่ร้อยเวรเจ้าของคดีกล่าวว่า ทั้งคู่ไปสร้างความวุ่นวายหน้าสถานทูตนิวซีแลนด์ จนถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนำตัวส่งสถานีตำรวจลุมพินี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561

นอกจากการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาแล้ว วันนี้ ศาลยังได้พิจารณาคำร้องผัดฟ้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีด้วย

“หยาง ชง พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องผัดฟ้องโดยอ้างว่า การสอบสวนไม่เสร็จสิ้น รอการพิมพ์ลายนิ้วมือ… หวู ยู่หัว ขอผัดฟ้อง อ้างว่ารอเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาและพนักงานอัยการ พิจารณาไม่คัดค้านการขอผัดฟ้อง แต่ให้ลดระยะเวลาเหลือ 3 วัน ให้ทำแล้วเสร็จในวันพุธ (26 กันยายน 2561)” ผู้พิพากษากล่าว

ด้าน ร.ต.ท.วิวรรธน์ นาคลดา ร้อยเวรเจ้าของสำนวนฟ้อง กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า ผู้ต้องหาทั้งสองราย เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานอัยการจะฟ้องในฐานความผิดที่ต่างกัน โดยนายหยาง จะถูกดำเนินคดี ในข้อหาอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดอนุญาต ขณะที่นางหวู จะถูกดำเนินคดี ในข้อหาเดินทางเข้าราชอาณาจักรและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

“หยาง ชง เข้าเมืองไทยอย่างถูกต้องด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ผ่านทาง ตม. 2 สุวรรณภูมิ แต่ว่าวีซ่าได้หมดอายุลงเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ส่วนหวู ยู่หัวจะถูกฟ้องในข้อหาเข้าเมืองและอาศัยในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ซึ่งตรวจสอบแล้วไม่พบว่าเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย เขาไปวุ่นวายที่หน้าสถานทูตนิวซีแลนด์ เจ้าหน้าที่เลยคุมตัวมาส่งที่ สน.ลุมพินี” ร.ต.ท.วิวรรธน์ กล่าว

ในช่วงแรก พวกเขาถูกตำรวจจีนเฝ้าติดตาม หลังจากที่มีส่วนร่วมในการประท้วงเกี่ยวกับเสรีภาพข่าว ในเมืองตอนใต้ของมณฑลกวางโจว ในเดือนมกราคม 2556

อาศัยอยู่โดยไม่มีเอกสาร

ทั้งสองหนีออกจากประเทศจีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2558 และเดินทางเข้ามาในประเทศไทย หลังจากที่นางหวูเริ่มจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องที่ นายเกา ซิชิง ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวจีนได้หายตัวไป ซึ่งในประเทศไทย พวกเขาได้อาศัยอยู่ในเขตพัทยา โดยไม่มีเอกสาร

ส่วน นาง หวู จะต้องเตรียมตัวเพื่อจะขึ้นศาล

"คาดว่า ตำรวจจะฟ้องดำเนินคดีกับเรา ถ้าเขา (นาย หยาง-สามี) ถูกฟ้องคดีต่อศาล เขาจะถูกนำตัวเข้าห้องขังของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเขาจะหมดโอกาสที่จะได้รับการประกันตัวออกมา” นางหวูกล่าว

ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้กล่าวแสดงความกังวลว่า จีนจะกดดันให้ไทยส่งตัวทั้งสองกลับประเทศ

“เราเป็นกังวลว่ารัฐบาลจีน อาจจะกดดันรัฐบาลไทยให้ส่งตัวเขากลับจีน ซึ่งในอดีตไทยส่งตัวผู้มีบัตรของยูเอ็นเอชซีอาร์ให้แก่จีนแล้วด้วย ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ไทยจะยอมตามการกดดันของจีนหรือไม่หรือว่าจะพิจารณาตามกระบวนการทางกฎหมาย” มายา หวัง นักวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ ในประเทศจีนกล่าว

ทั้งสองได้รับการอนุมัติให้เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดย ยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ในกรุงเทพฯ ในปี 2560 แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติสำหรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม ในท่ามกลางนโยบายการเข้าเมืองที่เข้มงวดขึ้นในแต่ละนานาประเทศ

ไทยได้ทำการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวจีน กลับประเทศมาแล้ว

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ในเมืองฉงชิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้จำคุกนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสองคน ที่ประเทศไทยส่งกลับ ทั้งๆที่พวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองของ UNHCR และกำลังรอการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม

ดง กวงผิง และ เจียง ยีเฟย หนีจากจีน เข้ามาประเทศไทยพร้อมครอบครัว ในปี 2558 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงาน UNHCR ในกรุงเทพฯ

และในเดือนกรกฎาคม ปี 2558 ประเทศไทยได้กวาดต้อนชาวอุยกูร์ เกือบ 100 คน ส่งกลับไปยังประเทศจีน ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า รู้สึกตกใจกับการเนรเทศคนกลุ่มนี้ ที่มีทั้งผู้หญิงและเด็กที่ไม่ต้องการกลับไปยังประเทศจีน เพราะเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่พูดภาษาเตอร์ก และถูกรัฐบาลจีนปราบปรามอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ประเทศไทย ไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494 และพิธีสารปี พ.ศ. 2510 อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายที่ยอมรับการเข้ามาของผู้ขอลี้ภัย แม้ว่าในบางครั้ง จะยอมรับหลักการไม่ส่งคนกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) ดังนั้น ผู้ลี้ภัยต้องปฏิบัติตามกฎหมายการตรวจคนเข้าเมือง ดังเช่นชาวต่างชาติอื่นๆ ผู้ลี้ภัยสามารถถูกจับกุม กักกัน และเนรเทศออกนอกประเทศได้

เรดิโอฟรีเอเชีย มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง