แม่ทัพภาคสี่ เริ่มโครงการนำผู้เห็นต่างกลับบ้านหนึ่งพันคนต่อปี จังหวัดชายแดนใต้
2015.11.03
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ที่อาคารชั้น 5 ห้องประชุมพระนราภิบาล ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส พันเอก สุรสัณห์ ช่วยบุญนำ รอง ผอ. อำนวยการสันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 หรือ กอ.รมน. ได้เป็นประธานสัมมนา การขับเคลื่อนโครงการพาคนกลับบ้าน ในระดับผู้ปฎิบัติการ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีการเคลื่อนไหว มีหมายพรก. ป.วิอาญา จำนวนผู้เห็นต่างกว่า 8,000 คน และเป้าหมายโครงการพาคนกลับบ้านอยู่ที่ 1000 กว่าคน ต่อปี
โดยมี เจ้าหน้าที่ทหารระดับผู้บังคับการเฉพาะกิจ เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกิจการพลเรือน ฝ่ายการข่าว ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ระดับสารวัตรตำรวจ ทั้ง 13 อำเภอ กว่า 100 นาย ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ร่วมประชุมเสวนา และรับฟังแนวทางปฎิบัติ โดยแนวทางศูนย์สันติวิธี
พันเอก สุรสัณห์ ช่วยบุญนำ รอง ผอ. อำนวยการสันติวิธี กอ.รมน. ภาค 4 กล่าวในที่ประชุมว่า “คำสั่งแม่ทัพภาคที่ 4 คือ ต้องการให้พื้นที่ เกิดความสงบสุข และสันติสุข ด้วยกระบวนการสันติวิธี ลดความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
“ซึ่งในสถานการณ์ความไม่สงบ ฝ่ายตรงข้ามหรือผู้เห็นต่าง ใช้วิธีการ การเคลื่อนไหว 2 รูปแบบ คือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกประเทศ และ การเคลื่อนไหวภายในประเทศ” พันเอก สุรสัณห์ กล่าว
“โดยจะเห็นว่า มีการวางแผนเพื่อสร้างเงื่อนการก่อเหตุในประเทศ เพื่อให้ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์กร OIC หรือ UN เข้าใจว่า ทหารหรือประเทศไทยไม่สามารถคุ้มครองประชาชนในพื้นที่ได้ และให้เข้าใจถึงการทารุณกรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชนความเป็นมนุษย์ [ของรัฐ]”
“เป้าหมายของกลุ่มขบวนการ ฯ [ผู้เห็นต่าง] คือ ต้องการให้องค์กรระหว่างประเทศดังกล่าว ยื่นมือเข้ามาจัดระบบ “การปกครองพิเศษ” ตลอดจนการเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดน” พันเอก สุรสัณห์ กล่าว
“ดังนั้น ทางการจึงเห็นว่า โครงการนี้จะเป็น การกำจัดความขัดแย้ง โดยไม่ใช้ความรุนแรง ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เน้นการพูดคุยเจรจา โดยผ่านภาคประชาสังคม คือ บุคคลที่เป็นเครือญาติ ครอบครัว ของในพื้นที่ นำสารไปถึงบุคคลที่หลงผิด หรือผู้เห็นต่าง ให้เข้ามาสู่กระบวนการ“พาคนกลับบ้าน” เพื่อมาร่วมสร้างพื้นที่ให้เกิดความสงบ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในชายแดนภาคใต้ มีผู้หลงผิด ซึ่งมีหมาย พรก. และ ป.วิ.อาญา กลับมารายงานตัวเป็นผู้ร่วมสร้างสันติสุขแล้วถึง 1996 คน” พันเอก สุรสัณห์ กล่าวทิ้งท้าย
นโยบายพาคนกลับบ้าน เป้าหมายในไตรมาศแรก 200 คน
ทางด้าน พ.อ. สมชาย โปณะทอง หัวหน้าแผนกพาคนกลับบ้าน ศูนย์สันติวิธี ค่ายสิรินธร จ. ปัตตานี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “โครงการหรือนโยบายพาคนกลับบ้าน กองทัพภาคที่ 4 ได้ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย และนำผู้หลงผิด หรือผู้เห็นต่าง”
“ในไตรมาศแรก มีเป้าหมายประมาณ 200 คน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และในรอบ 1 ปี เป้าหมายอยู่ที่ประมาณ 1,000 กว่าคน” พ.อ. สมชาย กล่าวต่อ
“ในส่วนผู้หลงผิดหรือผู้เห็นต่าง ที่ทางกอ.รมน.ภาคที่ 4 และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีอยู่ และมีการเคลื่อนไหว มีหมายพรก. ป.วิอาญา หรือ แนวร่วมกลุ่มฝ่ายตรงข้าม ตัวเลขอยู่ที่ 8,000 กว่าคน”
“ซึ่งเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเพื่อนำพาบุคคลเหล่านั้นกลับบ้าน ร่วมกันสร้างสันติสุข อาจต้องใช้เวลา แต่ดำเนินการได้ทันที ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ควรเข้าถึงโดยสร้างความเข้าใจ ส่วนประชาชนที่เป็นญาติพี่น้อง และคนในพื้นที้ควรช่วยกัน ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มผู้เห็นต่าง ก็มีความพยายามเช่นกันที่จะดึงมวลชน ถือเป็นสงครามแย่งชิงมวลชน” พ.อ. สมชาย กล่าว
“เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อให้ทุกคนปฎิเสธความรุนแรง เดินเข้าหารัฐ มาพัฒนาบ้านเกิด และสร้างสันติสุข ทั้งนี้ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการ พาคนกลับบ้าน จะได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงขอบอกผ่านสื่อว่า ภาครัฐเปิดโอกาสทุกคน คนที่หลงผิด มาพูดมาคุยกัน และร่วมสร้างบ้านเมืองให้สงบสุขด้วยกัน” พ.อ. สมชาย กล่าวแก่สื่อมวลชน