นักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย เรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนที่ถูกคุมขัง
2015.04.06
เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ยังคงคุมขังนักศึกษาและอดีตนักศึกษาอีก 7 คน จากควบคุมตัวนักศึกษา อดีตนักศึกษารวมทั้งบุคคลทั่วไปรวม 22 คน ไปซักถามเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา
การเคลื่อนไหวหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้าตรวจค้น 4 จุดในเขต อ.เมืองนราธิวาส และควบคุมตัวนักศึกษา อดีตนักศึกษาจากหลายพื้นที่ในมหาวิทยาลัย รวมทั้งบุคคลทั่วไปรวม 22 คน ไปซักถาม ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.2558 เพราะสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับเหตุคาร์บอมบ์ และลอบวางระเบิดรวม 3 จุดในย่านคาราโอเกะของเมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2558
ในวันจันทร์นี้ พล.ต.ต.พัฒนวุธ อังคะนาวิน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า มีนักศึกษาที่ถูกจับคุมขัง ยอมรับสารภาพแล้ว 4 ราย ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารขอสงวนนามไว้ก่อน (ข้อมูลข่าวรายงาน จากเดอะเนชั่น)
นายสุไฮมี ดูละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Persekutuan Mahasiswa Sempadan Selatan Thai - PERMAS) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ว่า “เราไม่ได้ปฏิเสธว่า ในจำนวนนักศึกษาทั้งหมดไม่มีใครร่วมกับขบวนการติดอาวุธ ทุกคนก็รู้ว่าสมาชิกของกระบวนการจะแทรกซึมอยู่ทุกฝ่าย ในกลุ่มของเจ้าหน้าที่เองก็มี ในกลุ่มนักศึกษาเราก็มี”
“เราเพียงแค่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ทำตามกระบวนการที่ถูกต้องไม่ละเมิดสิทธิ ถ้าจับก็ขอให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม คนที่โดนจับ เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิทรมาน ไม่มีสิทธิยัดข้อหา สมมุติเขามีความผิด หรือเป็นผู้บริสุทธิ ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน พยานหลักฐานจะบอกได้เอง”
“กลุ่มที่ถูกเชิญตัวมาได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ขณะที่การซักถามก็ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก” ด้าน พล.ท.ปราการ ชลยุทธ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 ซึ่งเปิดเป็นศูนย์ซักถาม และตรวจเยี่ยมการดำเนินการซักถามกลุ่มนักศึกษา กล่าว
การจับกุมโดยพลการ
ฮิวแมนไรทส์วอชท์ องค์กรสิทธิมนุษยชน ของ สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ เมื่อวันศุกร์ว่า "นักกิจกรรม เคลื่อนไหวเพื่อสังคมอย่างน้อย 17 คน ถูกจับกุม จากมหาวิทยาลัย ในจังหวัดนราธิวาส"
ฮิวแมนไรทส์วอทช์ยังวิจารณ์การคุมขังครั้งนี้ว่า "นักเคลื่อนไหวควรจะเป็นอิสระ จนกว่าพวกเขาจะถูกตั้งข้อหาที่น่าเชื่อถือ โดยศาลว่าเป็นผู้ละเมิดกฎหมายอาญา"
ฮิวแมนไรทส์วอทช์กล่าวอีกว่า “นักศึกษาถูกบังคับให้ให้ตัวอย่างดีเอ็นเอ จากนั้นก็ถูกคุมตัวเข้าห้องขัง”
“การจับกุมโดยพลการ คุมขังแบบลับๆ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัตรการอย่างไม่น่าเชื่อถือนั้น ถือเป็น สูตรสำเร็จของการละเมิดสิทธิมนุษยชน” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรทส์วอทช์ กล่าว
“การก่อเหตุการไม่สงบอย่างรุนแรง ไม่ได้เป็นข้ออ้าง สำหรับเจ้าหน้าที่ ทหาร เพื่อหาข้อสรุป และใช้เป็นมาตรการในการคุกคามละเมิดสิทธิ กับประชาชนชาวมุสลิม มาเลย์” เขากล่าวเสริม