ศปมผ.เชื่อไทยแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายจนได้ระดับสากล

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.01.22
TH-EU-IUU-620 เอกสารของบุคลากรในเรือประมง ที่ ศปมผ. นำมาแสดงในการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

พลเรือโทจุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในนามศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงมือแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายจนได้ระดับสากล และไม่ได้มีความกังวลต่อการที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปจะยกเลิกใบเหลืองการประมงให้กับประเทศไทยหรือไม่

“เรียนตรงๆ ว่าเรามีความก้าวหน้าไปมาก เพราะมีการเร่งรัดให้แก้ไขปัญหา จะได้ใบเขียว เหลือง แดง ไม่ได้เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่เราได้แสดงความก้าวหน้าไปมากในระดับสากล” พลเรือโทจุมพล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ หลังคณะตรวจสอบทางเทคนิกของอียู เสร็จสิ้นการติดตามตรวจสอบแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเมื่อวันพฤหัสบดี

อียู ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยที่ล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม และขาดการรายงาน (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 และได้ให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาและยืดเส้นตายให้ประเทศไทย จนถึงวันที่ 21 มกราคมนี้ หากอียูประเมินว่าประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ก็อาจจะให้ใบแดงที่หมายถึงการไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าประมงจากประเทศไทย นับมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ คณะผู้แทนด้านการประมงของอียู นำคณะโดยนายซีซาร์ เดเบน (Cesar Deben) ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ปัญหาการประมงเมื่อวันที่ 18 มกราคมนี้ และในวันนี้ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กล่าวในวันศุกร์นี้ หลังการพบปะหารือกับนายซีซ่าร์ เดเบน ว่า “เขามาแนะนำเพื่อเป็นหลักสากล ตามความเป็นจริงแล้ว เราก็ทำได้เยอะแล้ว แต่ยังมีบางเรื่องในการบังคับใช้กฏหมาย เนื่องจาก พรก. เพิ่งออก ก็ได้ดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ.. การดำเนินการจับกุมเกี่ยวกับเรือที่ผิดกฏหมายต่างๆ ที่อยู่นอกน่านน้ำ.. เพื่อให้เป็นไปตามกฏหมาย ถ้าเป็นเรือคนไทยเราเรียกกลับมา ถ้าไม่กลับก็คงต้องให้กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ ไปดำเนินการจับกุม เพื่อให้เป็นไปตามกฏหมาย มีทั้งเจ้าหน้าที่กรมประมง กรมเจ้าท่าที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรือนอกน่านน้ำ”

“...ตามจริงเขาก็ว่าตามระยะเวลา ปีกว่าๆ ที่เราทำมาดีขึ้นมาก แต่ก็ต้องทำตามหลักสากล เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและต่อไป ในอนาคตต้องไม่มีอีก โดยเฉพาะพวกที่ประกอบอาชีพประมง เจ้าของเรือ ต้องทำให้ถูกต้อง มีใบประกอบอาชญาบัติที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง.. ส่งผลต่อรัฐบาล และทำให้อาชีพประมงเสียหาย” พล.อ.ประวิตร กล่าว

“ส่วนเรื่องระยะเวลาในการปรับแก้ ยังไม่ได้แจ้ง ต้องรอให้ทางอียูตรวจสอบให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ทางอียูต้องการให้เราทำต่อไป.. ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องทำต่อไป”

ทางด้านพลเรือโทจุมพล ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาการประมงของไทยนั้น ยังได้ทำไปเพื่อรองรับกรณีที่มีรายงานข่าวว่าประเทศสหรัฐอเมริกา อาจจะมีมาตรการการประมงไอยูยูเพื่อแนะนำให้ไทยปฏิบัติอีกด้วย

“ไม่เพียงแค่ได้มาตรฐานของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่เราได้แสดงถึงความคืบหน้าจนได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อตอบโจทย์ของคู่ค้ารายอื่นๆ อีกด้วย” พลเรือโทจุมพล กล่าว

มีรายงานว่า องค์กรบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmosphere Administration)  ของสหรัฐอเมริกาได้มีแนวคิดการออกกฎหมายว่าด้วยปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม ขาดการรายงาน และแผนปฏิบัติการแก้ไขการฉ้อฉลในภาคอาหารทะเลที่อาจจะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนั้น รายงานข่าวของสื่อมวลชนต่างประเทศเกี่ยวกับการใช้แรงงานเยี่ยงทาส ในหมู่เกาะเบนจินา ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีคนไทยเกี่ยวข้อง และรายงานการใช้แรงงานเยี่ยงทาสในล้งกุ้งหรือโรงงานแกะกุ้ง ยังทำให้มีกระแสต่อต้านการประมงไทยอีกด้วย

ข้อแนะนำของอียูและการแก้ไขปัญหา

พลเรือโทจุมพล กล่าวว่า สหภาพยุโรปได้ตั้งข้อสังเกตและแนะนำให้ไทยดำเนินการในเรื่องสำคัญสามอย่างคือ หนึ่ง การมีกฏหมายที่ครอบคลุมการทำการประมงให้ถูกต้องและตรงตามพันกรณีกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง สอง การมีระบบควบคุมติดตามเรือและระบบตรวจสอบย้อนกลับ และสาม การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จากนั้น ได้มีการตั้งเงื่อนไขเรื่องแรงงานและเรื่องการค้ามนุษย์เพิ่มเติมอีกสองเรื่อง

นับตั้งแต่การก่อตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 ประเทศไทยได้แก้ไขปัญหาทั้งสามประการ ล่าสุด มีการออกพระราชกำหนดการประมงในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

นางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดี กรมเจ้าท่า กล่าวว่า ได้ปรับปรุงทะเบียนเรือและใบอนุญาตทำการประมงให้ถูกต้อง มีการทำระบบทะเบียนเรือประมงออนไลน์แบบเรียลไทม์ จากเดิมมีเรือในฐานข้อมูลกว่าห้าหมื่นลำ ปรับปรุงเหลือ 41,753 ลำ โดยลบออกจากสารบบจำนวน 8,024 ลำ แต่ยังเปิดโอกาสให้เจ้าของเรือที่ตกสำรวจให้ร้องสิทธิคืน ทั้งจำนวนเรือที่นำเสนอต่อให้กรมประมงจะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณผลผลิตสูงสุดต่อเนื่อง (Maximum Sustainable Yield) ที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียหายต่อวงจรชีวิตของสัตว์น้ำอีกด้วย

นอกจากนั้น กรมเจ้าท่า ที่เป็นผู้จดทะเบียนเรือและรายชื่อเจ้าหน้าที่ประจำของลูกเรือต่างด้าว สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเรียลไทม์ไปยังกรมแรงงาน ศูนย์รับแจ้งเรือเข้าออก และศูนย์ประสานการปฏิบัติการในการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล (ศรชล.) ทำให้แต่ละหน่วยงานสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ณ ที่ตั้งของตนเอง โดยไม่ต้องมาที่กรมเจ้าท่าอีกด้วย

พลเรือโทจุมพล กล่าวว่า มีการพัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวัง (Monitoring Control and Surveillance – MCS) โดยได้ติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System – VMS)  ให้เรือขนาดเกิน 30 ตันกรอส แล้วเกือบหนึ่งหมื่นลำ และกับเรือ 60 ตันกรอสขึ้นไป รวม 2,076 จากจำนวนทั้งหมด 2,216 ลำ มีการตรวจสอบการเข้า-ออกท่าเรือ (Port-In Port Out) ห้ามการใช้เครื่องมือทำลายล้าง เช่น อวนรุน ลอบพับหรือไอ้โง่ ซึ่งป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เป็นต้น รวมทั้ง ได้ลดแรงประมง กำหนดวันเวลาการออกเรือทำการประมงอีกด้วย

ในส่วนของแรงงาน พ.อ.หญิง รภัสกุล รอดทิพย์ รองโฆษก กอ.รมน. กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า ถึงวันที่ 5 ม.ค. 2559 มีแรงงานมาจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 87,266 คน หากเปรียบเทียบระหว่างจำนวนแรงงานที่มาขึ้นทะเบียนกับจำนวนเรือประมง ซึ่งมีมากกว่า 40,000 ลำ จะเห็นว่ายังมีแรงงานต่างด้าวจำนวนน้อยอยู่ สำหรับยอดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 2558 จนถึงวันที่ 5 ม.ค. 2559 มีจำนวน 53,694 คน

ทางด้านกรมประมง นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ได้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ติดตามเรือประมงขนาดใหญ่ เพื่อตรวจสอบการทำประมง โดยในชั้นแรก มีเจ้าหน้าที่ของกรมประมงเองได้รับการอบรม รวม 20 ราย ส่วนการตรวจสอบที่มาของผลิตภัณฑ์นั้นได้เริ่มทำแล้ว ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศด้วยระบบเอกสาร และจากต่างประเทศด้วยระบบอิเลคโทรนิกส์ ที่คาดว่าจะเป็นระบบอิเลคโทรนิกส์ที่สมบูรณ์ทั้งหมดภายในเดือนมีนาคมนี้

ในส่วนการจับกุมผู้กระทำผิดในการค้ามนุษย์ พล.ต.ท. ธรรมศักดิ์ วิรชาระยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า นับตั้งแต่การตั้ง ศปมผ. มา มีผลการจับกุมรวม 35 คดี มีผู้ต้องหา 73 คน ผู้เสียหาย 111 คน ในจำนวนนี้ เป็นนายหน้าค้ามนุษย์ 48 คน

ผลกระทบต่อชาวประมง

ความเข้มงวดในการจัดระเบียบการประมง ได้มีผลกระทบต่อชาวประมงที่ไม่มีทะเบียนเรือ หรือมีทะเบียนเรือ แต่มีเครื่องมือทำการประมงที่ไม่ตรงกับใบอนุญาตทำประมง รวมทั้ง ชาวประมงพื้นบ้านบางส่วนที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย โดยไม่สามารถออกเรือได้ ทำให้มีเรือจอดเทียบท่านับหมื่นลำตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ทำให้ชาวประมงหลาย ๆ คน ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง มีการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายของชาวประมงหลายราย

ล่าสุด ที่จังหวัดปัตตานี สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ประจำอำเภอปาราเนะ จังหวัดปัตตานี จัดแถลงข่าวและอ่านแถลงการณ์ของสมาคม ฉบับที่ 3 ต่อกรณีพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่กระทบประมงพื้นบ้าน

นายสะมะแอ แจะมูดอ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า เนื้อหาในแถลงการณ์ที่สำคัญ คือ ขอให้ยกเลิกมาตรา 34 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กออกทำการประมงได้ไม่เกินระยะ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง และทบทวน มาตรา 10 ที่ห้ามเรือไร้สัญชาติทำการประมง ซึ่งชาวประมงไม่ได้จดทะเบียนเรือขนาดเล็ก

นายสะมะแอ กล่าวว่า สองมาตรานี้ จำกัดสิทธิชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก โดยไม่มีเหตุจำเป็นอันควร ซึ่งเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน 17  จังหวัดชายฝั่งทะเลไทย ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านจังหวัดต่างๆ แล้ว

นายสะมะแอกล่าวว่า ตนทราบว่ากรมประมง และศป.มผ. ได้เร่งรัดให้จังหวัดต่างๆ จัดประชุม “คณะกรรมการพหุภาคีแก้ไขปัญหาการประมงจังหวัด” ให้พิจารณาแบ่งเขตตามมาตรา 34 โดย “ไม่รอผลการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี” ว่าจะพิจารณาข้อเสนอของชาวประมงพื้นบ้านอย่างไร และเราเห็นว่า “คณะกรรมการพหุภาคีฯ” ดังกล่าวมิได้เป็นกลไกใดๆ ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ล้วนเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อการใช้กฎหมายฉบับใหม่ ที่หน่วยงานรัฐกระทำละเมิดขั้นตอนกฎหมายเองทั้งสิ้น

“อยากขอเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล เร่งพิจารณายกเลิกมาตรา 34 และปรับปรุงประเด็นอื่นๆ ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยเปิดโอกาสให้เราได้ร่วมเสนอข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหาการประมงทะเลไทยให้ยั่งยืนต่อไป” นายสะมะแอกล่าว

“ในส่วนมาตรา 10 ที่ห้ามเรือไร้สัญชาติทำการประมงนั้น มีผลทำให้ผู้ที่ใช้เรือทำการประมงแบบหาอยู่หากิน หรือทำการประมงเพื่อบริโภคในครัวเรือน ไม่สามารถทำประมงได้อีกต่อไป”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง