พลเอกประวิตรเตรียมเสนอ พรก. แก้ปัญหาการประมงให้ ครม. พิจารณาสัปดาห์หน้า
2015.10.30
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายก ฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ได้เตรียมเสนอออกพระราชกำหนด รวมทั้ง แผนบริหารจัดการประมง และแผนปฏิบัติการการประมงระดับชาติ ต่อคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
พลเอกประวิตร กล่าวต่อผู้สื่อข่าว หลังจากการประชุมกับผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เมื่อวานนี้ว่า ทางสหภาพยุโรปได้เลื่อนการพิจารณาว่าด้วย ประเทศไทยแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, Unregulated Fishing) โดยประเทศไทยมีเวลาในการจัดการปัญหาให้เสร็จสิ้น ภายในเดือนธันวาคม เพื่อให้ทันการประเมิน
อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนสหภาพยุโรปในประเทศไทย ยังไม่สามารถให้คำยืนยันในเรื่องการยืดระยะเวลาในการพิจารณาใบเหลืองได้ โดยเฉพาะการชี้ชัดถึงวันที่จะแจ้งผลการพิจารณา
พลเอกประวิตร ได้กล่าวถึงสาระที่สำคัญของมาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยูเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานเรือประมง โดยเล็งเป้าหมายไปที่เรือประมงที่มีขนาดระวางขับน้ำ 60 ตัน ขึ้นไป ที่ออกทำการประมงนับแรมปี
“เรือประมงขนาด 60 ตันกรอส ที่ติดธงไทย ออกไปทำประมงในน่านน้ำสากล อาจไม่ใช่เรือไทยก็ได้ ออกไปทำประมงแล้วไม่กลับ ไปเป็นปีหรือ หลายเดือน เราก็เป็นห่วงว่าลูกเรือประมงว่าตอนอยู่ในทะเลมีความเป็นอยู่อย่างไร อันเป็นสิ่งที่อียูเป็นห่วงและต้องการให้เราตรวจสอบ โดยจะต้องตรวจสอบให้ได้ว่าไปอยู่ไหน” พลเอกประวิตรกล่าว
พลเอกประวิตรกล่าวต่อไปว่า คณะตัวแทนของคณะกรรมการสหภาพยุโรป ได้เดินทางมาตรวจสอบการแก้ไขปัญหาการทำประมงของไทยในตอนต้นเดือนนี้ และตนคาดว่าทางอียูจะเห็นความตั้งใจจริงในการแกปัญหาของประเทศไทย ที่ได้พยายามที่จะทำทุกอย่างให้ดีขึ้น
"เขาให้เวลาถึงธันวาคมนี้ เขาก็จะประเมินผล แต่ไม่รู้ว่าผลออกมาจะเหลืองจะแดง จะพอใจหรือไม่ แต่เราตั้งใจทำ" พลเอกประวิตร กล่าวเพิ่มเติม
ปัญหาเรื่องแรงงาน
พลเอกประวิตรกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมานั้นทุกอย่างดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในทะเล และความเป็นอยู่ของแรงงานประมง ซึ่งเป็นประเด็นที่อียูเองให้ความสนใจ
โดยสองเรื่องนี้ ทางอียูให้ความสนใจมาก และเราเองก็ยังทำไม่ผ่าน เพราะแรงงานประมงพวกนี้ เป็นแรงงานต่างด้าว และอาศัยอยู่บนเรือที่ไม่ทราบว่าเป็นเรือของใคร แต่ติดธงชาติไทย และเป็นเรือประมงที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักเกินกว่า 60 ตันกรอส ไปอยู่ในน่านน้ำสากล หรืออยู่ในน่านน้ำเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง
“ส่วนตัวผมมั่นใจว่าจะหลุดจากใบเหลือง แต่คนตรวจมีความมั่นใจหรือไม่ ที่ผ่านมาเราเชื่อว่าทำดีขึ้นแน่นอน เพียงแต่จะดีพอจนเขาพอใจหรือไม่ ก็เท่านั้น เพราะมีหลายเรื่องที่เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้ง เรื่องการเมืองด้วย” พล.อ. ประวิตรกล่าว
นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทยแสดงความกังวลต่อเนื้อหาของ พรก.
นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมง จังหวัดปัตตานี ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันนี้ว่า ตนเองมีความกังวลต่อสาระของพระราชกำหนดฉบับใหม่ เพราะยังไม่มีใครได้อ่านเนื้อหาเลย หลังจากที่ร่าง พรก. ที่ตนได้อ่านก่อนหน้าถูกนำไปปรับปรุงบ้างแล้ว
"นี่คือปัญหา ที่ทุกคนกังวลที่สุด จนถึงตอนนี้เรายังไม่เคยเห็นตัวข้อกฏหมายที่ปรับแก้แล้ว และที่กำลังจะนำเข้า ครม. คือ ตัวเดิมเราเคยเห็น และเคยมีการท้วงติงมาพอสมควร เพราะโทษที่มีกับประมงไทยหนักมาก แต่สำหรับเรือประมงต่างประเทศที่เข้ามาเบามาก” นายภูเบศกล่าว
“แต่ของใหม่ยังไม่มีใครได้เคยเห็น เราก็อยากให้กฏหมายออกมาแล้ว มีการบังคับใช้ และสามารถปฏิบัติได้ ที่ผ่านมายอมรับว่ามีการทำแบบผิดถูกอยู่ แต่เมื่อจะมีการปฏิวัติ ก็ควรทำให้เป็นขั้นเป็นตอนค่อย ๆ ไป ไม่ใช่กระโดดแบบสปริง” นายภูเบศ กล่าวเพิ่มเติม
นายภูเบศ ได้กล่าวต่อว่า อาชีพประมงเป็นอาชีพที่มีปัญหาที่ มีความซับซ้อนมากมาย และคนที่จะมาร่างกฏหมายก็ควรเป็นคนที่เข้าใจปัญหาและยอมรับปัญหาได้
สหภาพยุโรปได้ออกใบเหลืองให้แก่ประเทศไทย เมื่อ 21 เมษายน ปีนี้ และในเบื้องต้นได้ให้เวลาแก่ประเทศไทยในการแก้ปัญหาเป็นเวลา 6 เดือน โดยให้ไทยเร่งรัดให้ได้มาตรฐานในการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, unregulated, and unreported หรือ IUU) มิฉะนั้น อาจโดนใบแดง ที่หมายถึงการงดนำเข้าสินค้าอาหารทะเลไปทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งถ้าหากโดนใบแดง ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้ประมาณ 32,000 ล้านบาทต่อปี
จากการประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 10/2558 ที่มีการห้ามมิให้เรือประมงผิดกฎหมายทำการประมง ซึ่งได้แก่ เรือที่ไม่มีทะเบียน เรือไม่มีใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตทำการประมงที่ไม่ถูกต้องตรงกับเครื่องมือที่ใช้ การใช้แรงงานผิดกฎหมาย ได้มีผลกระทบ ทำให้เรือประมงรวม 2,658 ลำ ต้องหยุดทำการประมงทันที ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2558