ประเทศไทย: กฎหมายใหม่เพ่งเล็งแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

ภิมุข รักขนาม
2015.11.04
TH-FISH-1000 ลูกค้ามาซื้อปลาที่ตลาด จังหวัดนราธิวาส วันที่ 4 กรกฎาคม 2558
เอเอฟพี

คณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติพระราชกำหนดกฎหมายฉบับใหม่ที่เข้มงวดในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร เพื่อควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย และหลีกเลี่ยงการการถูกสหภาพยุโรป ห้ามนำเข้าอาหารทะเลมูลค่าปีละกว่าสามหมื่นล้านบาท

ภายใต้กฎหมายนี้ ผู้ประกอบการเรือประมงอาจถูกจำคุก หรือลงโทษปรับ และอย่างอื่น หากมีการจ้างแรงงานประมงผิดกฎหมาย ไม่จดทะเบียนเรือประมง ใช้เครื่องมือไม่ถูกต้อง เช่น ใช้ตาข่ายที่ถี่เกินไป และไม่รายงานการเข้า-ออกท่าเรือถูกต้อง ในส่วนของโรงงานเองนั้น จะมีสัดส่วนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ลมดุลกัน เป็นต้น

“แรงงานส่วนใหญ่ หรือกว่าห้าหมื่นคน ในภาคการประมงเป็นคนต่างด้าว งานของเราคือ เพื่อดูว่าเราจะทำให้แรงงานทั้งหมดเหล่านี้ถูกกฎหมายได้อย่างไร เพื่อจะได้ออกใบอนุญาตทำงานให้” นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวในระหว่างการออกรายการโทรทัศน์เมื่อต้นสัปดาห์นี้

“ถ้ามีการขึ้นทะเบียนแรงงานเหล่านี้ เราจะทราบว่าแรงงานเหล่านี้อยู่ที่ไหน อยู่กับใคร และจะดูแลพวกเขาได้อย่างไร” เขาเสริม

เมื่อสัปดาห์นี้ คณะรัฐมนตรีของไทยได้อนุมัติ พรก. ฉบับหนึ่ง ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

ตามร่างพรก. ฉบับนี้ ซึ่งเบนาร์นิวส์ได้มาเมื่อวันพุธ ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกยึดเรือ หรือถูกถอนใบอนุญาต และอาจถูกจำคุกเป็นเวลาสองปี หรือถูกปรับเป็นจำนวนเงินสูงสุด 6 ล้านบาท (168,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฝ่าฝืน

กำลังจะถูกใบแดง

รัฐบาลไทยผ่านพรก. ฉบับใหม่นี้อย่างเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกอียูห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทย หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรปให้เวลาหกเดือนแก่ไทย เพื่อนำมาตรการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (หรือ ไอยูยู) มาปฏิบัติ

“ใบเหลือง” หมดอายุลงเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม แต่อียูยังไม่ได้ประกาศเส้นตายว่าอาจจะให้ “ใบแดง” แก่ไทยเมื่อใด ใบแดงหมายถึงการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทย

นายเอนริโก บริวิโอ โฆษกฝ่ายกิจการทางทะเล การประมง สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสุขอนามัยอาหาร ประจำสหภาพยุโรป ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ทางอีเมลว่า ถ้าหากสถานการณ์การประมงของไทยยังไม่ได้รับการปรับปรุง อียูก็อาจจะตัดสินใจให้ใบแดง ซึ่งหมายถึงการงดนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากประเทศไทย

“ถ้าหากว่าเรามาถึงจุดที่สรุปได้ว่า ไม่ได้มีการปรับปรุงสถานการณ์อย่างมีนัยยะสำคัญ สหภาพยุโรป อาจจะต้องตัดสินใจให้ “ใบแดง” กับประเทศไทย ซึ่งหมายถึงการงดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปลาและปลากระป๋องด้วย” เอนริโก กล่าวแก่ เบนาร์นิวส์

นายเอนริโก กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือน และพูดคุยเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, unregulated, and unreported หรือ IUU) มาตั้งแต่เดือนเมษายน โดยในชั้นต้น มีเวลาในการแก้ไขปัญหาหกเดือน

“ประเทศที่ถูกจัดว่ามีปัญหา มีเวลาหกเดือนในการเจรจากับทางอียู ซึ่งสำหรับประเทศไทยได้หมดเวลาลงในสิ้นเดือนตุลาคม ดังนั้น ทางสหภาพจะประเมินความคืบหน้าที่ไทยได้ทำไว้ และจะพิจารณาแนวทางข้างหน้าต่อไป แต่จะยังไม่สามารถแจ้งผลได้ในทันที” นายเอนริโก กล่าว

นอกจากนี้ นายเอนริโก้กล่าวว่า เมื่อเร็วนี้ คณะผู้สังเกตการณ์ของอียู ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับความพยายามของไทยในการปฏิบัติตามมาตรฐานของยุโรป

แม้เจ้าหน้าที่ของอียูจะไม่ได้กำหนดเวลาการดำเนินการที่อาจเป็นไปได้ในอนาคต แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล. อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ได้บอกแก่ผู้สื่อข่าวว่า อียูได้ให้เวลาแก่ไทยจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการขั้นต่อไป

การดูแลแรงงานประมง

ตั้งแต่ถูกอียูเตือนด้วยใบเหลืองเมื่อเดือนเมษายน ไทยได้ลงมือดำเนินการสำคัญ ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่ามาตรฐานของยุโรป พล.อ. ประวิตร กล่าว

พรก. ฉบับใหม่มาแทนที่พระราชบัญญัติการประมง ซึ่งรัฐบาลอนุมัติเมื่อวันที่ 28 เมษายน โดยบังคับให้ชาวประมงเพื่อการพาณิชย์และผู้ประกอบการเรือประมงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของอียู

นายวิมล จันทโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คู่กับนายสุวิทย์ สุมาลา กล่าวว่า ในส่วนกรมประมงนั้น จะดูแลเรื่องที่สำคัญสองเรื่อง คือ หนึ่ง การบริหารจัดการประมง ในการนำกฎหมายใหม่นี้ไปปฏิบัติ และสอง การตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ

“ในการจัดการลงแรงประมง ไม่ให้มากเกินไป เราจะควบคุมจำนวนเรือประมง และความถี่ในการอนุญาตให้เรือเหล่านั้นออกประมง เราจะจัดการปัญหาการประมงมากเกินไป โดยเราจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการจับ เพื่อหลีกเลี่ยง [การทำลาย] ทรัพยากรธรรมชาติ” นายวิมล กล่าว

นอกจากนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่จำหน่ายอาหารทะเลที่ผลิตโดยแรงงานผิดกฎหมาย กรมประมงจะทำให้แน่ใจว่า จะสามารถตรวจสอบที่มาของอาหารทะเลที่จับได้ นายวิมลกล่าว โดยหมายถึงข้อกล่าวหาที่ว่า บรรดาบริษัทอาหารทะเลของไทยได้ว่าจ้างแรงงานต่างด้าว และใช้แรงงานเยี่ยงทาสบนเรือประมง

“ประเด็นที่สองที่สำคัญคือ การตรวจสอบย้อนกลับ เนื่องจากสัตว์น้ำจากที่เริ่มจับ ถึงสุดท้ายที่ผู้บริโภค จำเป็นต้องเป็นสัตว์น้ำที่เรารับรองได้ว่า ปราศจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย” นายวิมล เสริม

นายสุวิทย์ สุมาลา ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่า มีแรงงานมากกว่า 50,000 คนที่ทำงานอยู่ในภาคการประมง เป็นแรงงานต่างด้าว โดยทางกระทรวงต้องการจดทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความสะดวกในการดูแล

“แรงงานที่ทำงานในภาคประมง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานคนงานต่างด้าว ซึ่งมีจำนวน 50,000 กว่าคน ภารกิจของกระทรวงแรงงาน คือทำอย่างไรดีให้เขาเป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่เราจะอนุญาตได้ มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง” นายสุวิทย์ กล่าว

“ถ้าเขามีทะเบียนถูกต้องเราจะรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน อยู่กับใครจะได้รับการดูแลอย่างไร”

บทลงโทษที่รุนแรง

นับแต่ที่ได้รับใบเหลือง เมื่อวันที่ 21 เมษายน รัฐบาลไทยได้สั่งพักการออกเรือประมงหลายพันลำที่ไม่มีใบอนุญาต หรือมีอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานของอียู

ลูกเรือประมงที่ดำรงชีพด้วยการประมง ต่างก็ออกมาประท้วงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ซึ่งการประมงเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจในพื้นที่แถบนั้น บางคนสิ้นหวังจนถึงกับฆ่าตัวตาย

ในจังหวัดปัตตานี มีเรือประมงถึง 3,000 ลำ ที่ไม่สามารถออกประมงได้ และยังคงจอดอยู่ที่ท่าเรือ เพราะกฏข้อบังคับของรัฐบาล

"ข้อบังคับของพรก. ฉบับใหม่นี้รุนแรงเกินไป โดยเฉพาะชาวประมง ชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่องกฎหมาย ย่อมมีโอกาสทำผิดได้โดยไม่เจตนา" นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย บอกแก่เบนาร์นิวส์

“ถ้ารัฐบาลอยากให้เป็นไปตามมาตรฐานอียูแล้วล่ะก็ พรก. นี้ก็ไม่ควรที่จะมีบทลงโทษด้วยการจำคุกหรือยึดเรือ” เขากล่าว

นาซือเราะมีส่วนร่วมในรายงานชิ้นนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง