กอ.รมน.4 พบคนไทยที่มาเลเซียสงสัย ไม่ใช่ไอเอส
2018.04.18
นราธิวาส
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวในวันนี้ว่า ทางทหารได้เชิญตัวนายอะแว แว-เอยา ที่ถูกทางการมาเลเซียสงสัยว่าเป็นสมาชิกขบวนการไอเอสมาสอบปากคำ แต่ไม่พบความสัมพันธ์กับกลุ่มไอเอส เพียงแต่เป็นบุคคลที่ชอบอวดอ้างทางสื่อโซเชียลเท่านั้น
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวในการแถลงข่าวว่า จากการตรวจสอบประวัติ นายอะแว ซึ่งพบตัวในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส ปรากฏว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อเหตุในพื้นที่หรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอสแต่อย่างใด โดยนายอะแว กล่าวยอมรับว่าตนเองเป็นคนที่ชอบสร้างภาพลักษณ์เพื่อให้เกิดการยอมรับ
“จากการตรวจสอบประวัติ นายอะแว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อเหตุในพื้นที่และเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส โดยเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นผู้ที่ชอบสร้างภาพให้เกิดการยอมรับในตัวเอง โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มไอเอสในต่างแดน เกิดการยอมรับในตัวเองมากขึ้น” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในปัตตานี
พ.อ.ปราโมทย์ เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนายอะแว เพราะไม่มีมูล
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายโมฮัมหมัด ฟูซี ฮารุน ผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย ได้ออกใบแถลงการณ์ว่า ในการปฏิบัติการในรัฐยะโฮร์ ในระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม นี้ ตำรวจมาเลเซียสามารถจับกุมสมาชิกกลุ่มไอเอสได้ 6 คน และมีผู้ต้องสงสัยอีก 4 คน หลบหนีไปได้ ในจำนวนนั้น เป็นคนไทยหนึ่งคน คือนายอะแว อายุ 37 ปี ชาวจังหวัดนราธิวาส ซึ่งทางมาเลเซียพยายามติดตามจับกุมตัว
ทางการมาเลเซียเชื่อว่าผู้ต้องสงสัยทั้งหมดเป็นสมาชิกกลุ่มไอเอส ที่วางแผนจะก่อเหตุโจมตีศาสนสถานของศาสนาอื่นที่มิใช่ศาสนาอิสลาม สำหรับรายชื่อของทั้งสี่คน ได้แก่ 1.นายมูฮะหมัด ไฟซาล มูฮะหมัด ฮานาฟี วัย 29 ปี 2.นายมูฮะหมัด ฮานาฟี เยาะห์ วัย 51 ปี (บิดาของนายฮานาฟี) 3.นายนอร์ ฟาร์ฮัน โมห์ อิซา วัย 31 ปี จากรัฐยะโฮร์ และ 4.นายอะแว แว-เอยา
อย่างไรก็ตาม พ.อ.ปราโมทย์ ไม่ได้พูดถึงชาวมาเลเซียทั้งสามคน ว่าทางการไทยจะดำเนินการค้นหาอย่างใดหรือไม่ หากแต่กล่าวว่า ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งเพิ่มมาตรการเข้มในการเข้าออกตามช่องทางบริเวณชายแดนที่เป็นช่องทางตามธรรมชาติ ตามแนวชายแดนทั้งหมด นอกจากนี้ ยังเน้นวางเครือข่ายข้อมูลด้านการข่าว ในทุกพื้นที่
ไม่มีไอเอสเคลื่อนไหวในไทย
สำหรับเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มอุดมการณ์รัฐอิสลามหรือไอเอสในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ไม่ปรากฏมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอส ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบปี 47 เป็นต้นมา
“บุคคลที่ถูกฝ่ายความมั่นคงได้ออกหมายจับนั้น ล้วนแต่เป็นคนไทย มีบัตรประชาชนเป็นคนไทยทั้งหมด ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นเรื่องภายในของประเทศไทย ที่เราใช้กฎหมายของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหา คนที่ทำผิดกฎหมาย ไม่มีการตรวจพบกลุ่มบุคคลหรือบุคคลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติม
ในกรุงเทพ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในเรื่องนี้เช่นกัน โดยได้กล่าว กลุ่มไอเอสอาจจะมีความพยายามเข้ามามีบทบาทในประเทศ เหมือนกับที่พยายามเจาะเข้าไปในทุกประเทศ
“คงมีความพยายามเข้ามา แต่เราป้องกันอยู่แล้วในเรื่องไอเอส โดยเฉพาะคนไทย แต่คงจะไม่ขั้นตั้งสาขาในประเทศไทย” พล.อ.ประวิตรกล่าว
“มีแนวโน้มจะทำ พวกเขาทำทุกประเทศ เราตรวจสอบอย่างละเอียดและป้องกันระมัดระวังเกี่ยวกับไอเอสและการก่อการร้ายที่จะเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” พล.อ.ประวิตรกล่าวเพิ่มเติม