ทางการไทยพอใจ เหตุร้ายเดือนรอมฎอนลดลงจากปีก่อน

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.07.23
TH-ISOC4-620 เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการฉีดน้ำเพื่อสกัดเพลิงไหม้บนตึกที่เกิดไฟลุกไหม้ จากเหตุการณ์วางระเบิด โดยกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน ในอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2558
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดีที่ 23 ก.ค. 2558 นี้ หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแลปัญหาความรุนแรง ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมแถลงข่าวที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยได้กล่าวแสดงความพอใจต่อสถานการณ์รุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนที่ลดลงจากปีก่อน

ในการแถลงข่าวร่วมที่ประกอบด้วย กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในวันนี้ พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แสดงสถิติเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน ปี 2558 ว่ามีทั้งสิ้น 33 เหตุการณ์ เป็นการยิงด้วยอาวุธปืน 8 ครั้ง เหตุระเบิด 20 ครั้ง เหตุวางเพลิง 1 ครั้ง เหตุฆ่าด้วยวิธีทารุณกรรม 1 ครั้ง เหตุประสงค์ต่ออาวุธ 3 ครั้ง ซึ่งมีการสูญเสียแยกเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต 6 นาย บาดเจ็บ 25 นาย ส่วนราษฎร เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 19 ราย

ในปี 2557 มีเหตุรุนแรงจำนวน 37 เหตุการณ์ โจมตีที่ตั้ง 1 ครั้ง ยิง 18 ครั้ง เหตุระเบิด 17 ครั้ง ซึ่งมีการสูญเสียแยกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 31 นาย ราษฎรเสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 75 ราย ส่วนสถิติตั้งแต่ปี 2555 จนถึง ปี 2556 นั้น มีสถิติความรุนแรงมากกว่าปีนี้เช่นกัน

“จากภาพรวมสถานการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสถิติเหตุการณ์และการสูญเสียลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการในการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด รวมทั้ง ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการประกอบศาสนกิจได้อย่างเต็มที่” พันเอกปราโมทย์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าว

พันตำรวจเอก ณฐกรณ์ กาญจนาภรณ์ ผู้กำกับการกองบังคับการสืบสวนสอบสวน  และนายรอมฎอน หะยีอาแว โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สะท้อนผลสำเร็จในการปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยว่า เป็นผลจากการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธีภายใต้หลักกฎหมายที่เป็นธรรม และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินภายใต้ยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม

นายรอมฏอน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมในเดือนรอมฎอนเป็นอย่างมาก ด้วยการเปิดทำเนียบรัฐบาล จัดกิจกรรมละศีลอด และเรียนเชิญจุฬาราชมนตรี ผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนา และคณะทูตานุทูตโลกมุสลิมประจำประเทศไทย ร่วมละศีลอด เป็นการส่งเสริมกิจกรรมที่สำคัญของพี่น้องมุสลิมในเดือนรอมฎอน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างรัฐบาล และพี่น้องประชาชนอีกด้วย

“จึงทำให้เหตุการณ์ในเดือนรอมฎอนปีนี้ ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา” นายรอมฏอน กล่าว

สำหรับสถิติเหตุการณ์ในช่วง 20 วันแรก ของเดือนรอมฎอน มีเพียง 11 เหตุการณ์ แต่ในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน กลับมีเหตุการณ์สูงขึ้นถึง 22 เหตุการณ์ ทั้งนี้เป็นเพราะมีการเผยแพร่ความเชื่อที่ผิดๆ ในกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงว่า จะได้ผลบุญเป็นทวีคูณ ด้วยการลอบยิงและลอบวางระเบิดต่อพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนั้น แกนนำผู้ก่อเหตุรุนแรง ยังเคลื่อนไหวชี้นำทางความคิดและบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่ออ้างเป็นความชอบธรรมในการสร้างสถานการณ์รุนแรง

ส่วนนายอาแว ยูโซ๊ะ ชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี ได้แสดงความกังวล โดยกล่าวว่า แม้ว่าจำนวนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ในปีนี้จะลดลงจากปีก่อนก็ตาม แต่ระดับของความรุนแรงยังคงอยู่ในระดับเดิม

ความเห็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพ

พลเอกอักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวชื่นชมและขอบคุณ เจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งสามฝ่าย ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และประชาชนในพื้นที่ ที่ร่วมกันดูแลสถานการณ์ในพื้นที่ และเห็นชัดว่าเหตุความรุนแรงลดลงกว่าในห้วงเวลาเดียวกันของช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายในเชิงบวกต่อการพูดคุยของรัฐกับทุกกลุ่มที่ทางภาครัฐได้เริ่มต้นไปแล้ว

นอกจากนี้ พลเอกอักษรา กล่าวว่า ตนเองได้รับมอบหมายจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มาช่วยในมิติด้านอุดมการณ์เท่านั้น ด้วยการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐ และเชิญชวนให้เข้าสู่กระบวนการสันติสุขร่วมกันภายใต้กรอบของกฎหมายไทย และกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันในทุกกรณี  และยังได้ให้แนวทางกับคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย โดยมีผู้แทนของภาครัฐหลายหน่วยและหน่วยงานความมั่นคง ได้จัดการเตรียมการล่วงหน้าในด้านต่างๆ เพื่อให้กลุ่มผู้เห็นต่างฯ เกิดความมั่นใจว่า ปัญหาที่เป็นที่กังวลจะถูกนำไปสู่การพูดคุยและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยในขั้นตอนของการสร้างความไว้วางใจนั้นถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด

"ปัจจัยแห่งความสำเร็จของความร่วมมือในเบื้องต้นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเขาเชื่อผม แต่เกิดจากเหตุผลสำคัญคือ กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้เห็นถึงความมุ่งมั่น และจริงใจของท่านนายกรัฐมนตรีไทย และท่านนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มิใช่เป็นเกมการเมือง" พลเอกอักษรา กล่าว

ผลสำรวจ: คนชายแดนใต้ยังเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

จากผลการสำรวจแนวโน้มทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงกระบวนการสร้างสันติภาพ ในห้วงรอมฎอน วันที่ 13 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2558 ของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้แสดงข้อมูลการสุ่มตัวอย่างจากประชาชน จำนวน 2,104 ราย ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ สี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 75.1 และศาสนาพุทธ ร้อยละ 24.9

ผลในภาพรวมพบว่า ประชาชนได้ลงความเห็นและให้คะแนนการยอมรับและเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ สูงขึ้นกว่าเมื่อ เดือนมีนาคม และ มิถุนายน 2556 จากเมื่อสองปีก่อน

โดยประชาชนร้อยละ 76.9 ให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และประชาชนร้อยละ 80.2 ให้การยอมรับและเชื่อมั่นว่ากระบวนการจะยังมีความต่อเนื่อง และสามารถเดินหน้าต่อไปได้

นับตั้งแต่การปฏิบัติการปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 หรือค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในจังหวัดนราธิวาส ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 และมีเหตุการณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่องมากว่า 11 ปี  มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายก่อความไม่สงบ และประชาชนชาวไทยทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม ถูกสังหารไปแล้วกว่า 6,300 ราย และบาดเจ็บอีกถึงกว่า 11,000 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง