รัฐควรยุติการเว้นโทษเจ้าหน้าที่ทหารที่ซ้อมทรมานอิหม่ามถึงแก่ชีวิต 7 ปีที่แล้ว
2015.10.01
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ที่ประชุมมีมติชี้มูล ร.ต.สิริเขตต์ วาณิชบำรุง สมัยมีตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยนายทหารกิจการพลเรือน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ได้ร่วมทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัย ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ในความควบคุมจนเสียชีวิตโดย ร.ต.สิริเขตต์ มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงจึงส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยและมูลความผิดทางอาญา
คดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต เมื่อกว่า 7 ปีมาแล้ว นั้น ศาลจังหวัดนราธิวาส ได้มีการไต่สวนชันสูตรศพของ นายยะผา กาเซ็ง ตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และมีคำสั่งแล้ว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ว่านายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติ การหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะอำเภอรือเสาะ จังหวัด นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ซ้อมทรมาน โดยทำร้ายร่างกาย จนกระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่
โดยคดีดังกล่าว ถือเป็นคดีอาญา เรื่องการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ พนักงาน สอบสวน สภ.รือเสาะ ได้ส่งสำนวนคดีไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 นับเป็นเวลา 3 ปีกว่าแล้ว แต่การสอบสวนของ ป.ป.ช. ก็ยังไม่แล้วเสร็จและไม่มีความคืบหน้า ทำให้อิหม่ามยะผาผู้เสียชีวิตและ ครอบครัว ไม่สามารถเข้าถึงขบวนการยุติธรรมได้
จนกระทั่ง นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่ามยะผา ตัดสินใจเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ซึ่งญาติ และทนายความยังมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม ซึ่งคือ ศาลพลเรือน ที่จะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเช่นในกรณีนี้ได้ เนื่องจากผู้ถูก ละเมิดสิทธิหรือผู้เสียหาย สามารถเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีได้ทุกขั้นตอนและต่อสู้คดี ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
คดีนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนภายใต้ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และหลักนิติธรรม แม้จะอยู่ภายใต้การบังคับใช้ กฎอัยการศึกก็ตาม อ้างอิงข้อมูลจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
คดีที่นำโดย นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่ามยะผา เป็นผู้เสียหายนั้น มีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา แต่คดีที่มีความคืบหน้า ในขณะนี้ซึ่งเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว คือคดีทางแพ่ง
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ศาลแพ่งได้นัดพร้อมไกล่เกลี่ยในคดีซึ่งนางนิม๊ะ และลูกๆของอิหม่ามยะผารวม 4 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ และแถลงร่วมกัน ศาลตรวจสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วเห็นว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงพิพากษาตามยอมให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไป
โดยจำเลยที่ 1 และ 2 ยอมรับที่จะเยียวยาความเสียหายให้กับฝ่ายโจทก์ตามที่ศาลได้มีการไกล่เกลี่ย และเป็นที่ยอมรับของฝ่ายโจทก์ เป็นค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของผู้ตาย ค่าทำศพ และค่าขาดไร้อุปการะภรรยาและบุตร รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,211,000 บาท และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน
โดย กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือจำเลยทั้งสาม แถลงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ที่ทำให้อิหม่ามยะผา เสียชีวิตนั้น เป็นการปฏิบัติการร่วมกันของจำเลยทั้งสามภายใต้กรอบของกฎหมายตามสถานการณ์ ที่เป็นอยู่ขณะเกิดเหตุ เมื่อมีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดจนข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว พบว่านายยะผาผู้ตายและครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ จำเลยทั้งสามรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
องค์กรสิทธิ: เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีโดยทันที และละการเว้นโทษ
องค์กรฮิวแมนไรทซ์วอทช์กล่าว ในวันนี้ที่ 1 ตุลาคม 2558 ว่าทางการไทยควรมีกระบวนการสืบสวนสอบสวน เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารที่มีส่วนในการซ้อมทรมานอิหม่ามจนเสีย ชีวิต ในปี 2551 เนื่องจากคดีนี้ถือเป็นคดีที่สำคัญ โดยสามารถจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการจัดการกับเจ้า หน้าที่ทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และนำความยุติธรรมมาสู่การปฏิบัติการกับสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ของประเทศไทย
"การเสียชีวิตของอิหม่ามยะผา ถือเป็นคดีตัวอย่าง เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ทางการไทย และกองทัพไทยจะมีความพยายามเพียงใด ในการลงโทษเจ้าหน้าที่ทหารที่กระทำความผิด ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรทซ์วอทช์ กล่าว "โดยที่ไม่มีการปกปิดเงื่อนงำและทำให้คดีล่าช้า – ซึ่งคณะกรรมการการค้นหาข้อเท็จจริง เรียกร้องให้มีการติดตามโดยทันที"
ประเทศไทยมีพันธกรณีภายใต้ภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ว่าจะปฏิบัติการสอบสวนและดำเนินคดีอย่างยุติธรรม กับคดีที่มีการซ้อมทรมาน คดีเสียชีวิต และคดีกล่าวหาถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่คำนึงว่า ประเทศนั้นๆจะอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองใด หรือจะอยู่ในช่วงการรักษาความมั่นคงของประเทศก็ตาม - ในคำแถลงของ องค์กรฮิวแมนไรทซ์วอทช์
“การใช้มาตรการกดขี่ในการต่อสู้กับฝ่ายกบฏ เท่ากับว่าทางการไทยยิ่งก่อให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่การก่อเหตุรุนแรงให้มากขึ้น” " แบรด อดัมส์ กล่าว
รายงานอ้างอิงข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม