หะยี อิสมะแอ กับประสบการณ์ขบวนการเจรจาในอดีตของพูโล

โดย นาซือเราะ
2015.07.22
TH-PULO-620 นายมะแอ สะอะ หรือ หะยี อิสมะแอ ท่าน้ำ ที่บ้าน ต.ท่าน้ำ อ.ปานาแระ จ.ปัตตานี หลังจากพ้นโทษ และกลับมาอยู่กับครอบครัว เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2558
เบนาร์นิวส์

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2558 ที่บ้าน นายมะแอ สะอะ หรือ หะยี อิสมะแอ ท่าน้ำ เลขที่ 153 ม.2 ต.ท่าน้ำ อ.ปานาแระ จ.ปัตตานี หลังจากได้พ้นโทษ และสามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวเป็นเวลา 6 วัน เกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ยังคงมีเจ้าหน้าที่ จากกองอำนวยการความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอำเภอปานาแระ เดินทางเข้าพบปะ ให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการดูแลรักษาความปลอดภัยจากกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร และอาสาสมัครรักษาดินแดนประจำอำเภอปานาแระ ตลอด 24 ชั่วโมง

นายมะแอ สะอะ กล่าวว่า ตอนนี้ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ คณะสื่อมวลชน กลุ่มภาคประชาสังคม และเพื่อนเก่า ๆ จากในพื้นที่และต่างพื้นที่ มาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก พร้อมกับมีกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่นรอบบริเวณบ้านตลอด 24 ชั่วโมง

ในส่วนเรื่องของการพูดคุยสันติสุข ปัจจุบัน เชื่อว่ารัฐบาลมีความพยายามที่จะเดินหน้า อย่างต่อเนื่องซึ่งหากเทียบกับการพูดคุยกับสมัยที่เป็นตัวแทนประสานงาน ระหว่างขบวนการและรัฐบาล ยุคนี้ ภายใต้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นไปได้สูง

“ขอเล่าย้อนไปเมื่อปี 2552 ในอดีต วิธีการคัดเลือกผู้นำคนใหม่ ไม่ว่า ขบวนการหรือ พรรคการเมือง ก็ไม่ต่างกัน คือเมื่อมีเหตุหรือผู้นำลาออก หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถปฏิบัติหนาที่ได้ หรือเสียชีวิต รองหัวหน้าในขณะนั้นก็จะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ แทนไปก่อน ที่จะมีการคัดเลือกแต่งตั้งผู้นำคนใหม่โดยอัตโนมัต”

ในอดีตผู้ดำรงตำแหน่งขบวนการพูโลตั้งแต่ปี 2519-2536 ตึงกูบีรอห์ กอตอนีรอห์ หรือ กาบีอับดุลห์ ละห์มัน เป็นหัวหน้าขบวนการ ดร.ฮารุน มูรเล็ง หรือ มูฮัมหมัด เบ็นมูฮัมหมัด เป็นรองหัวหน้าขบวนการ รับผิดชอบงานโซน อเมริกา และยุโรป ฮัจยีอับดุลห์ฮาดี ฮัจยีรอห์ชาลี รองหัวหน้าขบวนการ ฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN และ ฮัจยีรุสดี บีงอ รองหัวหน้าขบวนการ ฝ่ายเอเชียตะวันออกกลาง

“เหตุการณ์เมื่อปี 2536 ได้เกิดวิกฤตการณ์ การขัดแย้งกันในกลุ่มผู้นำขบวนการ จนเป็นเหตุให้ขบวนการพูโลได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มขบวนการพูโลเก่า มีตึงกูบีรอห์ เป็นผู้นำ และกลุ่มขบวนการพูโลใหม่มี ฮัจยีอับดุลห์ฮาดี ฮัจยีรอห์ชาลี เป็นผู้นำ ในขณะที่ฮัจยีรุสดี บีงอ ไม่ฝักใฝ่กลุ่มใด จากที่เคยอยู่ในเมืองดัมซิก เมืองหลวงประเทศซีเรีย ก็ได้ย้าย ครอบครัวไปอยู่ประเทศสวีเดนจนถึงปัจจุบัน ทำให้ ซัมซูดิง ข่าน ขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าขบวนการพูโลเก่า และในช่วงนั้นก็เกิดการเจรจาขึ้นในทางลับ ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับตัวแทนกลุ่มขบวนการพูโล จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์  ครั้งที่สองที่เมืองดัมซิก ประเทศซีเรีย ตัวแทนจากประเทศไทยในขณะนั้น มี พล.ต.อัครนิตย์ มิงสวัสดิ์ พ.อ. พิเศษ ชรินทร์ อมรเขียว พ.อ.อภิไทย สุวรรณภพ ดร.มาฮาดี จำนามสกุลไม่ได้ อาจารย์อภิรักษ์ หรือบังเลาะ

"ส่วนรายกลุ่มตัวแทนที่เป็นฝ่ายพูโล มี ตึงกูบีรอห์ กอตอนีรอห์ หรือ กาบีร์ อับดุลห์รอห์มาน ซัมซูดิง ข่าน อารีเป็น ข่าน อะห์หมัด บินฮาเดร์ มะเปอลิส ซูเบร์ ฮุสเซ็น ปะจูเซ็ง หรือเปาะซูเซ็ง ฮัจย์ศาการียา ฮัจยีอิสมาเอล โดยมีผมเป็นตัวแทนในการประสานงาน”

การเจรจาในครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2536 ถึง 2537 ในช่วงเวลานี้ ผมก็มีโอกาสพูดคุยกับตัวเทนรัฐบาลไทย ซึ่งมาจากกองบัญชาการทหารสูงสุด โดยมี พล.อ.วัลลภ สายแสงทอง พล.อ.ปรีชา รุ่งสว่าง พล.ท.โรจน์ เรื่องอรุณ พล.ต.กิตติ อินต๊ะ ส่งค์ และ พ.อ.สิทธิศักดิ์ นุ่มนาม หลายครั้งด้วยกัน ที่ประเทศมาเลเซีย เนื้อหาสาระสำคัญที่พูดคุย เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยขอให้เข้าร่วมช่วยแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผมเองก็ได้ตอบรับ ให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ

ในครั้งแรกของการเจรจาพูดคุยในครั้งนั้นได้มีระดับผู้นำขบวนการในมาเลเซียหลายคนคัดค้านต่อต้านเพราะไม่เชื่อว่า ทางรัฐบาลไทยจะมีความมุ่งมั่น และจริงจังกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จริง

ตอนนั้นผมก็ได้พยายามชี้แจง อธิบายจนทำให้หลายคนเข้าใจ และเห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลไทย แต่ก็ยังมีบางกลุ่มเช่นเดียวกันที่ไม่เชื่อใจ ในระหว่างนี้เองได้เกิดการรวมกลุ่มเบอร์ซาตู มี ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน เป็นแกนนำหลัก กลุ่มนี้ได้ตอบรับเจรจากับรัฐบาลไทย  หลังจากนั้น ผู้นำขบวนการพูโลและกลุ่มเบอร์ซาตู ก็ได้รับเชิญจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ สันนิบาล บุกิต อามาน เพื่อพบปะพูดคุยกัน ที่สมาคมตำรวจ ตาเซ๊ะ ตีติวังซา กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงนั้น พล.อ.กิตติ รัตนฉายา เป็นแม่ทัพภาค 4

การพบปะในครั้งนั้น ผู้นำขบวนการพูโลเก่าได้ปฏิเสธการเข้าร่วมกลุ่มกับกลุ่มเบอร์ซาตู โดยให้เหตุผลว่า การเจรจาระหว่างกลุ่มขบวนการกับรัฐบาลไทย ได้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว จึงไม่ควรเริ่มต้นใหม่ แต่ขบวนการพูโลเก่า ก็ได้มีการสนับสนุนให้กลุ่มเบอร์ซาตูได้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง

“ตอนนั้นปี 2540 ผมก็ถูกจับ ดำเนินคดีข้อหากบฏ ในประเทศไทย จนกระทั่ง 18 ปี ในระหว่างนั้น ก็ไม่มีผู้นำกลุ่มใดออกมาพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย เขามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผม และในขณะที่อยู่ในเรือนจำ ก็คิดเสมอว่า การพุดคุยเจรจาระหว่างกลุ่มขบวนการกับรัฐบาลไทย น่าจะเป็นไปได้ยาก เรื่องนี้เมื่อปี 2552 ในขณะที่อยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง แดน 6 เคยเขียนหนังสือส่งถึงแม่ทัพภาคที่ 4 หน้าด้วย และช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใหม่ ๆ เคยเขียนหนังสือถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นด้วย เพื่อให้มีการพูดคุยเจรจา และ ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ส่งตัวแทนไปมาเลเซียเพื่อพบกับผู้นำกลุ่มเบอร์ซาตู แต่กลับถูกปฏิเสธ”

สำหรับความคืบหน้าการพูดคุย ล่าสุดตอนนี้ ยังรอเข้าพูดคุยกับพลโทปราการ ชลยุทธ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อที่จะขับเคลื่อน ในการพูดคุยสันติสุข ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนหน้านี้ ส่วนตัวหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพูดคุยจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะไม่เคยคิดเลยว่า จะมีวิธีอื่นนอกจากพูดคุย ที่จะทำให้เกิดความสงบสุข ทุกประเทศที่มีความขัดแย้งก็ใช้แนวทางนี้ ในส่วนของความต้องการ ข้อนี้ต้องถามคนในพื้นที่ มีใครสามารถตอบแทนเขาได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง