วิกฤตผู้อพยพ: สิบเจ็ดชาติสัญญาว่าจะดำเนินการ

โดย ภิมุข รักขนาม
2015.05.29
TH-SA-SEA-bangkok-620 ติน ลิน หัวหน้าคณะผู้แทนของเมียนมา กล่าวในที่ประชุมพิเศษว่าด้วย การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
เบนาร์นิวส์

ในกรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ เมียนมากับอีก 16 ชาติ ตกลงที่จะจัดการกับต้นตอของปัญหาวิกฤตการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หัวหน้าคณะผู้แทนของเมียนมากล่าวว่า ไม่ควรตำหนิประเทศเขาเพียงฝ่ายเดียวว่าเป็นต้นกำเนิดของปัญหา

"รัฐเอกราชแต่ละรัฐและทุกรัฐต่างก็มีปัญหาของตัวเอง” ติน ลิน ผู้แทนพิเศษของกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา กล่าวในที่ประชุมพิเศษว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ

“บางรัฐ หรืออาจจะทั้งหมด อยู่ในเขตอำนาจภายในรัฐ ... การชี้นิ้วโทษกันจะไม่ทำให้อะไรดีขึ้น และไม่ทำให้เราหาทางออกแก่ปัญหานี้ได้” เขากล่าว โดยเสริมด้วยว่า สำหรับ “ปัญหาเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายของมนุษย์เรือนี้ จะมาโทษแต่ประเทศของผมอย่างเดียวไม่ได้”

คำพูดข้างบนเป็นการตอบโต้ของเขาต่อคำกล่าวของ โวลเกอร์ เติร์ก ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

"หากไม่จัดการกับต้นตอของปัญหา ก็จะไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้...” เติร์กกล่าว “นอกจากอย่างอื่นแล้ว เมียนมาจำเป็นต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อประชาชนทั้งหมดของตนเอง” เติร์กกล่าวก่อนหน้านั้น

“การมอบสิทธิพลเมืองให้แก่คนเหล่านี้เป็นเป้าหมายขั้นสูงสุด และเรายินดีที่มีการดำเนินการขั้นต้นไปบ้างแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้” เขากล่าวเสริม “ในระหว่างนี้ จำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องให้ราษฎรทั้งหมดที่ยอมรับว่าเมียนมาเป็นประเทศของตัวเอง ได้รับสถานะที่เท่าเทียมทางกฎหมาย”

ความเป็นจริงที่น่าเศร้า

ในเดือนนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรม เมื่อผู้อพยพชาวบังกลาเทศ และชาวมุสลิมโรฮีนจาจากเมียนมาจำนวนกว่า 3,000 คน ได้ขึ้นฝั่งในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

รัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา เป็นที่อยู่อาศัยของชาวโรฮีนจามานานแล้ว แต่คนเหล่านี้จำนวนมากกำลังหนีการกดขี่ในประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุธ ที่ซึ่งรัฐบาลไม่ยอมรับตนเป็นพลเมืองของประเทศ

บรรดาผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายนี้ ต่างก็พยายามไม่วิพากษ์วิจารณ์เมียนมาโดยตรง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค

"วิกฤตปัจจุบันนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็นจริงอันน่าเศร้าที่ว่า คนเหล่านี้ยังถูกกดดันให้จากบ้านและบุคคลอันเป็นที่รักมา เนื่องด้วยสาเหตุหลายอย่าง” พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในที่ประชุม

“การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติได้กลายเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนขึ้น และจำเป็นต้องมีวิธีแก้ไขแบบครบวงจร เราต้องไม่แก้ปัญหาหนึ่ง เพียงเพื่อต่อมาภายหลังพบว่า การแก้ปัญหานั้นกลับทำให้เกิดปัญหาอีกอย่างขึ้นมา” เขากล่าวเสริม

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พล.อ. ธนะศักดิ์ ได้เข้าร่วมการประชุมไตรภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในประเทศมาเลเซีย เพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าว แต่รัฐมนตรีของสองประเทศนี้ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์

การปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลทหารของไทยเมื่อต้นเดือนนี้ บีบให้เรือหลายลำที่บรรทุกผู้อพยพย้ายถิ่นอย่างผิดกฎหมาย ต้องแล่นลงใต้ไปอีก เพื่อหาจุดที่จะขึ้นฝั่งได้

เมื่อวันศุกร์ กองทัพเรือของเมียนมาได้ยึดเรือลำหนึ่งที่ขนผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายจำนวน 727 คน นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศ ตามรายงานข่าวหลายฉบับ

ความรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

เมื่อวันศุกร์ เมียนมา ไทย อินโดนีเซีย และบังกลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ร่วมกับประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ ตกลงที่จะแบ่งปันทรัพยากรกัน เพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ และเพิ่มความพยายามในการช่วยเหลือผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายจำนวนหลายพันคนที่ยังเคว้งคว้างอยู่ในทะเล

แต่การตกลงดังกล่าวไม่มีการเอ่ยถึงคำว่า “โรฮีนจา” เลย

ไทย ประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม และคณะผู้แทนจาก 16 ประเทศในเอเชียและแปซิฟิก ต่างก็รับปากที่จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจขึ้นมา และแบ่งปันข่าวกรองเกี่ยวกับการลักลอบขนมนุษย์ เพิ่มการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยทางทะเลสำหรับเรือของผู้อพยพ และจัดการกับ "ต้นตอของปัญหา” การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ

เมียนมา บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย ตกลงที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของ “ชุมชนในพื้นที่เสี่ยง”

คำอธิบายของข้อตกลงข้างต้นนี้ คือ การยกระดับดังกล่าวจะรวมถึงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาพื้นที่เสี่ยง และ “การสร้างความรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ และการเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน อาทิ ที่อยู่อาศัย การศึกษา และการรักษาพยาบาล ได้อย่างเพียงพอ”

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศว่า จะเริ่มส่งตัวผู้อพยพชาวบังกลาเทศหลายร้อยคน ที่ขึ้นฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา กลับประเทศในเดือนนี้

นายชาฮิดุล ฮัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของบังกลาเทศ ผู้นำคณะผู้แทนของบังกลาเทศเข้าร่วมประชุมในกรุงเทพฯ กล่าวว่า พลเมืองเหล่านั้นจะถูกส่งตัวกลับประเทศภายในหนึ่งเดือน

ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย

ในการประชุมที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ยังประกาศให้เงินช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาวิกฤตนี้ด้วย

รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่า จะให้เงินช่วยเหลือจำนวน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ความพยายามช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)

ออสเตรเลียประกาศให้เงินช่วยเหลือจำนวน 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อส่งเสริมโครงการว่าด้วยการยกระดับความเป็นอยู่และการพัฒนาในรัฐยะไข่ และเมืองค็อกซ์บาซาร์ พื้นที่หนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจำนวนหลายแสนคน

"สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือ หาวิธีช่วยชีวิตและคุ้มครองคนเหล่านี้ให้ปลอดภัย จากนั้น จึงพยายามเปลี่ยนแปลงที่ต้นตอ เพื่อให้คนเหล่านี้รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องหนีออกมา และหันไปพึ่งกลุ่มอาชญากรให้จัดหาเรือสำหรับเดินทางให้” แอนน์ ซี. ริชาร์ด ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ฝ่ายประชากร ผู้ลี้ภัย และการโยกย้ายถิ่นฐาน กล่าวในที่ประชุม

"เราทั้งหมดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คนที่หนีจากพม่า [เมียนมา] มา จะกลับสู่ถิ่นฐานเดิมได้ และอาศัยอยู่ในประเทศพม่าได้อย่างสันติ มีเสถียรภาพ และเป็นประชาธิปไตย”

เมื่อวันศุกร์ กองทัพสหรัฐฯ ยังได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยให้ทำการบินลาดตระเวนในห้วงอากาศของไทย เพื่อค้นหาเรือของผู้อพยพที่ยังลอยลำอยู่กลางทะเล

 

ชาห์รีอาร์ ชาริฟ และ เนอร์ดิน ฮาซัน มีส่วนร่วมในรายงานชิ้นนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง