สหรัฐฯ จัดให้ประเทศไทยคงระดับที่ 3 ต่ำสุด ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.07.27
TH-TIPReport-620 เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพได้นำโลงบรรจุศพของผู้อพยพข้ามชาติ ที่ขุดได้จากหลุมฝังศพ ในค่ายกักกันร้างในป่า อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ภาคใต้ของไทย อันมีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย เพื่อประกอบพิธีฝังศพที่สุสานนอกอำเภอ หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2558
เอเอฟพี

ในวันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2558 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ซึ่งประเทศไทยยังคงติดอยู่ในรายชื่อกลุ่ม 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุด โดยรายงานประจำปี พ.ศ. 2558 นี้ได้ครอบคลุมสถานการณ์และความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลนานาประเทศ ในช่วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี เป็นการจัดระดับของ 188 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการสะท้อนผลการประเมินโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าด้วยความพยายามของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในช่วงระยะเวลาของการรายงานแต่ละปี อันมีทั้งสิ้นสี่ระดับ: ระดับ 1, ระดับ 2, ระดับ 2 เฝ้าติดตาม (Watch List) และระดับ 3 ต่ำสุดและเลวร้ายที่สุด

การค้ามนุษย์เป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาใหญ่ที่มีความซับซ้อน และต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานร่วมกัน รวมทั้งความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลทุกประเทศ มุ่งสืบสานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานในหลายระดับภาคีร่วม รวมถึง เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคมของไทย และองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุผลอันพึงประเมินได้

นายกรัฐมนตรีไทยกล่าว มั่นใจสิ่งที่ทำลงไปว่าดีกว่าเดิม

ก่อนหน้าที่ทางการสหรัฐอเมริกาจะประกาศรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2558 กรมอัยการสูงสุด ในประเทศไทย ได้มีคำสั่งส่งฟ้องผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายการค้ามนุษย์ที่ถูกกล่าวหาและจับกุมแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 72 ราย รวม 16 ข้อหา เมื่อวันศุกร์ที่ 24 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมา

โดยในวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว ซึ่งเป็นเวลาก่อนหน้าที่ ทางการสหรัฐอเมริกาจะเผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2558 ว่า ตนเองไม่ได้คาดหวังว่า สหรัฐอเมริกาจะยกระดับรายงานการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้ดีกว่าอันดับ 3 (เทียร์ 3) โดยได้กล่าวว่า

“ผมไม่ได้คาดหวังว่าผลที่ออกมาจะดีหรือไม่ดีขึ้น คาดหวังสิ่งที่ทำลงไปนั้นให้สำเร็จก่อน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ตอนนี้ เราทำทุกอย่างดีกว่าเดิมมาก แต่ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเชื่อมั่นหรือไม่” พลเอกประยุทธ์กล่าว

“ต้องรอฟังเขาแถลงออกมา จะพูดอะไรก่อนไม่ดี ผมมั่นใจสิ่งที่ทำลงไปว่าดีกว่าเดิม ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่การพิจารณาของเขา ต้องยอมรับกติกา”

นอกจากนั้น พลเอกประยุทธ์ ได้แสดงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการประมงอีกด้วย

ความเห็นขององค์กรสิทธิฯ สำหรับอันดับของไทย และ มาเลเซีย

เมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยและมาเลเซียถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 3 ที่มีอันดับเลวร้ายต่ำสุด แต่ในรายงานล่าสุด 2558 นี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้อัพเกรดมาเลเซียขึ้นมาอยู่ในระดับ 2 เฝ้าติดตามดู  (Tier 2 watch list) แม้จะมีการคัดค้านจากกลุ่มสนับสนุนสิทธิมนุษยชน และยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า มาเลเซียไม่สมควรจะได้รับการเลื่อนอันดับ

กลุ่มสิทธิมนุษยชนสากลร่วมลงนามในจดหมาย ถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อชมเชยและสนับสนุนในการจัดอันดับของประเทศไทย ให้ยังคงระดับต่ำสุดเหมือนเดิม แต่ขณะเดียวกันก็มีการตอบโต้กลับอย่างแรง ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐ เนื่องมาจากการร่วมเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ทีพีพี (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) กับมาเลเซีย จึงทำให้มีการอัพเกรดระดับของมาเลเซียขึ้นมา

องค์กรฮิวแมนไรทซ์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งใน 25 องค์กร ที่ส่งจดหมายลงนามร่วม ในวันจันทร์ ถึงนาย จอห์น แคร์รี ณ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ เกี่ยวกับการจัดอันดับประเทศไทยว่า

"การตัดสินของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ จะช่วยกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ" กล่าวใน จดหมาย

แต่ในทางตรงข้าม องค์กรฮิวแมนไรทซ์วอทช์ ไม่เห็นด้วยอย่างมาก กับการตัดสินใจอัพเกรดระดับแก่ประเทศมาเลเซีย ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี (หรือ TIP report)

"การดำเนินการของมาเลเซียในการยุติการค้ามนุษย์ยังไกลและไม่เพียงพอ กับการถูกพิจารณาเลื่อนระดับ ของสหรัฐฯ... รายงาน TIP ในส่วนของมาเลเซียนั้น เป็นการเขียนที่ไม่มีองค์ประกอบหนักแน่นพอ ล้วนเป็นการประกาศป่าวร้องแบบการทูตมากกว่าการรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง" ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรทซ์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์

นาตาลี มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง