ศาลรับฟ้องหกแกนนำคนอยากเลือกตั้ง ข้อหายุยง และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.09.27
กรุงเทพฯ
180927-TH-protest-charged-623.jpg นายอานนท์ นำภา หนึ่งในหกแกนนำ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถูกสั่งฟ้อง เมื่อครั้งที่ถูกจับในการนำประท้วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาสครบรอบปีที่สี่ของการรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันที่ 22 พ.ค. 2561
(ภาพโดย นายอานนท์ นำภา)

ในวันนี้ อัยการฝ่ายคดีอาญานำตัว 6 แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุด RDN50 ส่งฟ้องต่อศาลอาญารัชดา กรณีจัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 ศาลรับฟ้องทั้งหมดในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และร่วมกันมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ในที่สาธารณะ จำเลยทั้งหกรายให้การปฏิเสธ และศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

แกนนำกลุ่ม RDN50 ทั้งหก ประกอบด้วย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นายอานนท์ นำภา น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา และนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ พร้อมด้วยทนายความ เดินทางมารายงานตัวต่ออัยการฝ่ายคดีอาญา และถูกนำตัวส่งฟ้องต่อศาลอาญารัชดา ในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และร่วมกันมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ในที่สาธารณะ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 กรณีที่จัดการชุมนุม “หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง:หมดเวลา คสช. ถึงเวลาประชาชน” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธ และขอประกันตัวในชั้นศาล

ซึ่งอัยการฯ ได้ระบุในคำฟ้องว่า “จำเลยกับพวกได้ร่วมกันปราศรัยโจมตีการทำงานของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) โดยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัย และร่วมกันปลุกระดมมวลชนปลุกปั่น ให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล และคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 พร้อมกับชูนิ้วสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง) บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนราชดำเนิน"

"เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ... ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาลและเป็นการยุยง ปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ซึ่งเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือผู้ได้รับมอบหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย” คำฟ้องยังระบุอีก

“คู่กรณีของเราโดยตรง คือ คสช. เป็นคนตั้งข้อหา... เราอยากให้หยุดซะที 4 ปีแล้ว บรรยากาศที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งควรเสรีและเป็นธรรม การใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือคุกคามและปิดปากประชาชนต้องหยุดได้แล้ว และศาลจะต้องมีส่วนหยุดพฤติกรรมแบบนี้ของ คสช.” น.ส.ณัฏฐา หนึ่งในผู้ต้องหาในฐานะแกนนำ RDN50 กล่าวกับผู้สื่อข่าว โดยมีมวลชนเดินทางมาให้กำลังใจกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ประมาณ 30 คน

น.ส.ณัฏฐา ระบุด้วยว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะเชื่อมั่นในความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งข้อหามาตรา 116 กับคนจำนวนมาก แต่ละคนมี 6 คดี ทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมาก เกินกว่าที่กลุ่มจะระดมเงินมาประกันตัวทุกคนได้

นายอานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำคนอยากเลือกตั้งที่ตกเป็นผู้ต้องหา ระบุว่า ตนถูกคุมขังในห้องรายงานตัวชั้นใต้ดินของศาลอาญานาน 5 ชั่วโมง ระหว่างรอการพิจารณาจากศาลว่า จะให้ประกันตัวหรือไม่

ต่อมาในช่วงเย็น ศาลอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยศาลนัดตรวจหลักฐานและสืบพยาน ในวันที่ 29 พ.ย. ศกนี้

ในคดีนี้ นายรังสิมันต์ โรม หนึ่งในแกนนำ RDN50 ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยไม่ได้มาศาลในวันนี้ เนื่องจากอัยการแยกนายรังสิมันต์ฟ้องต่อศาลอาญาก่อนหน้านี้ และได้รับการประกันตัวในชั้นศาลเป็นการชั่วคราวไปแล้ว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง