สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความกังวลต่อการลงโทษตามมาตรา 112

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.08.11
TH-UNCHR-ART112-620 กลุ่มนักเคลื่อนไหวหลายสิบคน ร่วมถือป้ายเดินขบวนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมาย มาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2554
เอเอฟพี

ในวันอังคารที่ 11 สิงหาคม 2558 นี้  นาง ราวีนา ชัมดาซานี โฆษกประจำตัวข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างมากต่อการลงโทษ ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากขึ้น ซึ่งมีการระวางโทษจำคุกอย่างไม่มีสัดส่วน และมีการตัดสินลงโทษที่รุนแรงขึ้น ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา

โดยคำแถลงการณ์ของโฆษกประจำตัวข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ในวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพ ตัดสินจำคุกนายพงษ์ศักดิ์ เจ้าหน้าที่บริษัททัวร์เป็นระยะเวลา 30 ปี (เนื่องจากรับสารภาพ จึงถูกลดลงจาก 60 ปี) จากการละเมิดมาตรา 112 จากการเขียนความเห็นในเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ไทย ในวันเดียวกันศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาจำคุกนางสาวศศิวิมล พนักงานโรงแรมแห่งหนึ่ง เป็นระยะเวลา 28 ปี (เนื่องจากรับสารภาพ จึงถูกลดลงจาก 56 ปี) จากการแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ในเดือนมีนาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพได้มีคำพิพากษาที่รุนแรงโดยตัดสินจำคุกนายเธียรสุธรรม เป็นระยะเวลา 25 ปี (จากโทษเต็ม 50 ปี) จากการโพสต์ความเห็น 5 ครั้งบนเฟซบุ๊กที่มีข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์

“คำพิพากษาข้างต้นนับเป็นคำตัดสินคดีที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่เราเริ่มรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ได้ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายหมิ่นฯ จากการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น” นาง ราวีนา กล่าวในคำแถลงการณ์

“เราเห็นว่าจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นฯ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่การรัฐประหารโดยทหาร ในเดือนพฤษภาคม 2557 เรามีข้อมูลว่าประชาชนจำนวนอย่างน้อย 40 คน ถูกตัดสินจำคุกหรือถูกคุมขังก่อนพิจารณาคดีภายใต้กฎหมายหมิ่นฯ ตามมาตรา 112 ” นาง ราวีนา กล่าวผ่านทางคำแถลงการณ์

“นอกจากนั้น เรายังมีความตื่นตระหนกจากการเพิ่มสูงขึ้นของระยะเวลาการจำคุกที่ศาลทหารได้ระวางโทษ”

“เราเห็นว่าศาลทหารต้องรับประกันตามหลักกระบวนการอันควรของกฎหมาย (Due process of law) ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทุกกรณี” นาง ราวีนากล่าว ในแถลงการณ์ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2558

เบนาร์นิวส์ ได้พยายามติดต่อสำนักงานทูตถาวรประจำสหประชาชาติในนครนิวยอร์ค เพื่อขอความเห็นของผู้แทนรัฐบาลไทยต่อแถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานทูตถาวรประจำสหประชาชาติในนครนิวยอร์ค ขอให้เบนาร์นิวส์ติดต่อผ่านสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งทางเบนาร์นิวส์ไม่สามารถได้รับความเห็นกลับมา ในขณะรายงานข่าววันนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง