ศาลสั่งจำคุกจำเลย 9 ราย ยกฟ้อง 5 ราย คดีระเบิดน้ำบูดู

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.09.25
กรุงเทพฯ
180925-TH-court-jail-1000.jpg นางฮานีละห์ ดือรามะ (สวมผ้าคลุมผม) มารดาของหนึ่งในจำเลยคดีระเบิดน้ำบูดู ร้องไห้หลังจากทราบคำพิพากษาตัดสินจำคุกบุตรชาย วันที่ 25 กันยายน 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ ศาลอาญา พิพากษาจำคุกจำเลย 9 ราย จากจำนวน 14 ราย ในความผิดฐานร่วมกันอั้งยี่ ซ่องโจร และครอบครองวัตถุระเบิด เป็นเวลา 4 ถึง 6 ปี จากการถูกกล่าวหาว่าร่วมกันวางแผนก่อเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อปี 2559 โดยศาลได้ยกฟ้องจำเลย 5 ราย

ศาลได้พิพากษาจำคุก นายมูบาห์รี กะนา จำเลยที่สาม สูงสุดเป็นเวลา 6 ปี ในสามข้อหา เพราะพบหลักฐานว่าเป็นร่องรอยของสารพี.อี.ที.เอ็น. ซึ่งเป็นส่วนประกอบของระเบิดที่มือทั้งสองข้าง ส่วนอีก 8 คน ถูกสั่งจำคุกคนละ 4 ปี ในข้อหาอั้งยี่และซ่องโจร

“จำเลยที่ 1-2, 4 และ 9-13 เชื่อว่ามีความผิดจริงในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจร จำเลยที่ 3 เชื่อว่ามีความผิดจริงในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากการตรวจสอบพบสาร พี.อี.ที.เอ็น. ซึ่งเป็นส่วนประกอบของระเบิด และไม่สามารถพบได้ทั่วไป จากมือข้างซ้ายและขวาของจำเลย” ตอนหนึ่งของคำพิพากษาโดยสรุประบุ

“คำกล่าวอ้างเลื่อนลอยของจำเลยอ้างว่า ถูกข่มขู่และบังคับให้รับสารภาพ เชื่อไม่ได้ เนื่องจากไม่พบร่องรอยบนร่างกาย และแม้ไม่พบวัตถุระเบิด แต่จากการพบสารประกอบระเบิดบนร่างกาย ทำให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 3 ครอบครองระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ขณะที่จำเลยที่ 5-8 และ 14 ไม่พบความเกี่ยวข้องกับขบวนการ ให้ยกฟ้อง” คำพิพากษาโดยสรุประบุ

ในรายละเอียดคำพิพากษา มีดังนี้ คำพิพากษาตัดสินให้ลงโทษจำเลยในความผิดร่วมกันอั้งยี่ 1 กรรม จำคุก 3 ปี ร่วมกันเป็นซ่องโจร 1 กรรม จำคุก 3 ปี และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย 1 กรรม จำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การอันเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพิจารณา ให้ลดโทษ 1 ใน 3 ของแต่ละกรรม รวมให้จำคุก จำเลยที่ 1-2,4 และ 9-13 ทั้งสิ้น 4 ปี และจำเลยที่ 3 ทั้งสิ้น 6 ปี โดย จำเลยที่ 5-8 และ 14 ให้ปล่อยตัวระหว่างการรอยื่นอุทธรณ์ ขณะที่จำเลยรายอื่นจะถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

คดีหมายเลขดำที่ อ.561/2560 หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า “คดีระเบิดน้ำบูดู” คือ คดีที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวนักศึกษา และประชาชนชาวไทย-มุสลิม ใกล้มหาวิทยาลัยรามคำแหงกว่า 40 ราย ในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับการแจ้งข่าวจากหน่วยข่าวกรองความมั่นคงว่า คนกลุ่มดังกล่าวมีการซ่องสุม และวางแผนวางก่อเหตุคาร์บอมบ์ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล นำไปสู่การขยายผลจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกจำนวนหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนราธิวาส แต่จากการสอบสวนและตรวจค้นในชั้นต้น เจ้าหน้าที่ไม่พบวัตถุระเบิด หรือวัตถุประกอบระเบิดโดยตรง พบเพียงกล่องบรรจุอาหารพื้นเมือง ข้าวยำ และน้ำบูดู

เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 กฎอัยการศึก และพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยบางรายเข้าสู่กระบวนการซักถาม ในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) กรุงเทพฯ และ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ต่อมา พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เจ้าพนักงานฝ่ายกฎหมาย คสช. ได้ฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาผิดผู้ต้องสงสัยซึ่งประกอบด้วย นายตาลมีซี โต๊ะตาหยง และพวกรวม 14 คน ในข้อกล่าวหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ก่อนที่คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาในปี 2560

นางฮานีละห์ ดือรามะ มารดาของนายอุสมาน กาเด็งหะยี จำเลยที่ 4 กล่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังฟังคำพิพากษาว่า บุตรชายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย

“ที่แม่น้อยใจก็คือ แค่เราเป็นคนสามจังหวัด เขาไม่เชื่อเลยเหรอ โดนอะไรมาบ้าง เราพูดความจริงเขาก็ไม่เชื่อ มันเหนื่อย แม่เชื่อว่าลูกแม่ไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย เขามาทำงานที่กรุงเทพฯ มันเป็นความผิดของแม่ด้วยที่ให้เขามาทำงานที่กรุงเทพฯ ทั้งที่เขาไม่อยากมา” นางฮานีละห์ กล่าว

ด้าน นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความในคดีจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า กลุ่มทนายความจะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน และยังยืนยันว่าจำเลยหลายคนบอกกับตนและศาลว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวในค่ายทหารจริงๆ

“เกือบทุกคนที่เบิกความในชั้นสืบพยานจำเลย บอกว่าถูกซ้อมทรมานในชั้นกฎหมายพิเศษกรุงเทพฯ ถึงค่ายอิงคยุทธฯ ก็มี ผมให้เขาเขียนรายละเอียด เขาก็บอกว่ามีการปิดหู ตบบ้องหู ให้อยู่ในห้องเย็น เปิดแอร์อุณหภูมิต่ำ คือทำยังไงก็ได้ไม่ให้เกิดบาดแผล”  นายกิจจากล่าว

ขณะเดียวกัน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในผู้สังเกตการณ์การอ่านคำพิพากษาในวันนี้กล่าวว่า การใช้หลักฐานจากคำให้การของจำเลยระหว่างถูกควบคุมตัวโดยกฎหมายพิเศษ เป็นเรื่องอันตรายกับกระบวนการยุติธรรม เพราะกระบวนซักถามในค่ายทหาร ไม่มีพยานจากหน่วยงานอื่นรู้เห็นกับการทำให้รับสารภาพ

“เมื่อสองปีที่แล้ว มีคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษาโดยเชื่อหลักฐานจากกระบวนการซักถาม เลยกลายเป็นบรรทัดฐานให้กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดโน้มเอียงไปทางโน้น เมื่อประชาชนฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ในข้อหาซ้อมทรมาน มีหลายกรณีที่ชนะในคดีแพ่ง ได้รับเงินชดเชย แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ถูกพิพากษาให้รับโทษทางอาญา ผู้ถูกทรมานหลายคนไม่เอาความทางอาญา เพราะพอใจที่ได้รับการชดเชยเป็นเงินแล้ว” น.ส.พรเพ็ญ กล่าว

สำหรับผู้ที่มาฟังคำพิพากษา ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีผู้ต้องหาทั้งหมด 14 ราย สมาชิกครอบครัว ผู้สังเกตการณ์ และสื่อมวลชนร่วมฟังคำพิพากษากว่า 40 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง