นักศึกษาพระปกเกล้า 99 คน ลงใต้ ศึกษาปัญหาและร่วมเสวนาปัญหาความรุนแรงและแสวงทางออก
2015.09.10
วันนี้ที่ 10 ก.ย. 2558 นักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 6 ของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐสภา จากกรุงเทพมหานคร จำนวน 99 คน ลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อศึกษาดูงาน และเข้าร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อว่าด้วย รากเหง้าความรุนแรงและการแสวงหาทางออกด้วยกระบวนการสันติภาพ ประเด็นปัญหาใจกลางคืออะไร ทางออกคืออะไร สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ที่ห้องประชุมน้ำพราว โรงแรมซีเอส อ. เมือง จ. ปัตตานี
ผู้ร่วมเวทีเสวนา ประกอบด้วย 1. นาย ปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช รองประธานหอการค้า จ.นราธิวาส 2. พ.อ.วิชาญ สุขสง รองผอ. ศูนย์สันติสุข กอ.รมน.4 3. รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด ผู้อำนวยการหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข 4. นางโสรยา จามจุรี นักกิจกรรมในพื้นที่ 5. นาย มูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ในภาคใต้ ผู้ดำเนินรายการเสวนา
"เอกราช"อาจจะยากหน่อย
พันเอกวิชาญ สุขสง รองผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข กอ.รมน.4 กล่าวว่า “ยอมรับว่าในพื้นที่ภาคใต้มีปัญหา ดูจากปรากฏการณ์ วิธีการที่ใช้ ขบวนการพยายามทำสงครามประชาชน ดึงประชาชนเข้ามาเป็นพวก เป็นกองกำลัง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ยังไม่ใช่สงคราม เป็นแค่พื้นที่ ที่มีปัญหา”
“ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็มีการสร้างความเข้าใจ พัฒนา แต่ก็ยังแก้ไม่ได้ตามที่ประชาชนต้องการ ถ้าถามว่า ทหารมาทำเรื่องขบวนการสันติภาพ สันติวิธี ได้หรือไม่ ก็เห็นอยู่ว่า ขบวนการสันติภาพรอบใหม่ ใครทำ ใครเริ่ม เพราะ ทหารเข้ามามีส่วนร่วม และถ้าไม่มีทหาร สันติภาพก็เดินยาก”
“ยอมรับว่ากระบวนการสันติภาพ ความรุนแรงจะไม่หยุด แต่แน่นอนที่ผู้เห็นต่างต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง แม้เป้าหมายสูงสุด คือ เอกราช ก็เชื่อว่ายากหน่อย แต่การปกครองพิเศษ อาจเป็นไปได้ ถ้าไม่ได้อีก ก็ให้มีนิรโทษกรรม แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความเข็มแข็งของรัฐไทยด้วย ซึ่งหากสู้มา 12 ปี ก็ยังไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ก็เอานิรโทษกรรมก็พอ เชื่อว่ารัฐบาลเข้าสู่โต๊ะเจรจา ต้องรู้แล้วว้าผู้เห็นต่างต้องการอะไร และรัฐบาลต้องวิเคราะห์ แล้วยอมเสียอะไรบางอย่างได้ และเชื่ออีกว่าระดับนโยบายมีคำตอบแล้ว เพียงแต่เรายังไม่รู้เท่านั้นเอง”
“ขบวนการสันติภาพถือว่ายังอีกยาวไกล การพูดคุยเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2558 ที่ผ่านมา มีประเด็นเสนอข้อเรียกร้องจากทั้งสองฝ่าย คิดว่า เป็นแค่ข้อเรียกร้องระหว่างทาง ไม่ใช่จุดหมายแท้จริง ตอนนี้ ขบวนการมีอำนาจเดียวที่สามารถต่อรองกับรัฐ คือ อำนาจการต่อสู้ด้วยการสร้างความรุนแรงอย่างเดียว และไม่มีอำนาจอื่นเลยในการต่อรอง” พันเอกวิชาญ กล่าวในการเสวนา
ปัญหาการออกกฎหมายหลายตัวที่สำคัญ
นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช รองประธานหอการค้า จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “สิ่งที่น่าสนใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาไม่ใช่เรื่องของความมั่นคงเท่านั้น ยังมีเรื่องยาเสพติด เรื่องของเถื่อนหนีภาษี รวมทั้งปัญหาในการออกกฎหมายการป้องกันการฟอกเงิน และกฎหมายการป้องกันการก่อการร้าย ทำให้ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ”
“อีกเรื่องที่เป็นปัญหา คือเยาวชนในพื้นที่มีปัญหา คนที่นี่มักเป็นผู้รับจากการให้ของรัฐโดยไม่ยอมยืนด้วยตนเอง เมื่อขอรัฐ รัฐก็ให้ ซึ่งเมื่อจะมาทำเรื่องที่ให้ยืนด้วยตัวเอง เขาก็ไม่คิดที่จะยืนให้ได้”
“สิ่งที่น่าสนใจในพื้นที่สามจังหวัดอีกเรื่อง คือตอนนี้พี่น้องพุทธ ต้องอยู่อย่างเจียมตัวจริงๆ พูดน้อย ไม่ค่อยพูด แต่มีความรู้สึก และมักจะพูดในทางที่เป็นความรู้เท่านั้น” นายปกรณ์ กล่าว
ศึกษาประวัติศาสตร์ มลายูปัตตานี อิสลาม ก่อนถกปัญหา
ด้าน นาย มูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า “ถ้าจะศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเข้าใจเรื่อง มลายูปัตตานี อิสลาม ประวัติศาสตร์ เพราะปัญหาที่นี่เป็นประเด็นซับซ้อน
“ปัญหาในภาคใต้ กลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐได้มีการต่อสู้กับรัฐ นี่คือเรื่องจริง เป็นเรื่องอุดมการณ์ล้วนๆ ไม่ใช่ถูกจ้าง 300 บาท อันนี้คิดว่าดูถูก BRN มากเกินไปหน่อย และเวลาเข้าใจเรื่องโครงสร้าง เราก็ต้องเข้าใจเรื่องความขัดแย้งด้วย ปัญหาภาคใต้ต้องตัดสินใจด้วยความรู้ อย่าไปตัดสินใจด้วยการใช้พวกพ้องและอำนาจ” นาย มูฮำมัดอายุบ กล่าวในการเสวนา