ครูและบุคลากรทางการศึกษา รำลึกผู้เสียชีวิตในเหตุรุนแรงชายแดนใต้

มารียัม อัฮหมัด
2018.09.19
ปัตตานี
180919-TH-teachers-800.jpg พล.ต.ต.ธัมมศักดิ์ วาสะศิริ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีรำลึกถึงครูที่เสียชีวิตจากเหตุรุนแรง ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี วันที่ 19 ก.ย. 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ร่วมในงานรำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ ครั้งที่ 9 เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ และน้อมรำลึกถึงความเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ของครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ทำหน้าที่จนวาระสุดท้ายของชีวิต

พิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ปัตตานี โดยมี พล.ต.ต.ธัมมศักดิ์ วาสะศิริ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธี โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา คณะครู บุคลากรทางการศึกษา และทายาทของครูผู้เสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา เข้าร่วมพิธีทั้งทางศาสนาทั้งพุทธและอิสลาม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณของครูผู้เสียสละได้สู่สุคติ มีการยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 89 วินาที

ซึ่งโดยตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ผ่านมา มีครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องสังเวยชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ จำนวน 182 ราย บาดเจ็บ 162 ราย และบาดเจ็บถึงขั้นพิการ 11 คน ตามข้อมูลของสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีโรงเรียนของรัฐบาล โรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนเด็กเล็ก) โรงเรียนปอเนาะ (โรงเรียนชั้นประถมศึกษา) และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา รวมกันประมาณ 4,000 โรงเรียน มีครูรวมกัน 52,295 คน และนักเรียนรวมกันกว่า 500,000 คน

"ในพื้นที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ครูถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตคนสุดท้ายในปี 2558 นายสกล ชฎารัตน์ รายที่ 182 ผมต้องขอโทษทุกคนที่ครูต้องสูญเสียในเหตุการณ์ และรัฐบาลก็มีแนวทางการแก้ปัญหาทุกด้าน อย่างต่อเนื่องให้กับครอบครัวครู" นายกองเอกภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในพิธี

ด้านนายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการตอกย้ำถึงจำนวนของการสูญเสีย แต่อยากให้สังคมรับรู้ว่าการเสียชีวิตของครูนั้นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่

“แม้ว่าขณะนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์อาจจะดีขึ้นมาตามลำดับ แทบไม่พบความสูญเสียของบุคคลากรทางการศึกษา แต่ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา มีครูต้องสังเวยเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ความไม่สงบถึง 182 ราย ได้รับบาดเจ็บ 162 ราย พิการ 11 ราย ถือว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในแวดวงการศึกษาไทย" นายบุญสมกล่าว

"ต้องขอขอบคุณในทุกภาคส่วนที่เข้ากำกับดูแลครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะด้านการรักษาความปลอดภัย ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีขวัญ และกำลังใจในการที่จะทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษา" นายบุญสมกล่าวเพิ่มเติม

นายบุญช่วย เพชรมณี ผอ.โรงเรียน ในจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงความเสียใจที่ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายต่อครูและบุคลากร

"นับจากเหตุการณ์ครูจูหลิง ปงกันมูล ถูกทำร้ายเสียชีวิต ที่โรงเรียนกูจิงลือปะ อ.ระแงะ ในจังหวัดนราธิวาส ได้รับมอบจาก ผอ.เขตการศึกษานราธิวาส แต่งตั้งให้รับหน้าที่เป็นผู้ทำพิธีพระราชทาน ข้าราชการ ครูและเจ้าหน้าที่ ตลอด 14 ปี ได้ทำหน้าที่ในพระราชทานพิธีเพลิงศพครู มาแล้ว 17 ศพ วันนี้ ก็มางานรำลึกครูที่เสียชีวิตมาทุกปี ไม่มีคำสั่งก็มา เรามาด้วยใจ เพราะเราไม่ทิ้งคนข้างหลัง และเราจะจับมือคนข้างหน้าไปพร้อมกันเพราะในพื้นที่ยังมีเหตุการณ์" นายบุญช่วยกล่าว

“ผมดีใจที่ทุกคนมาร่วมรำลึกครูที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ ความไม่สงบในพื้นที่ แม้ช่วงหลังๆ ครูจะสูญเสียไม่มาก แต่ในพื้นที่ยังมีเหตุการณ์ ก็ยังต้องระมัดระวังและต้องดูแลความปลอดภัยกันต่อไป

ไฟใต้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง โดยเริ่มจากการที่ขบวนการก่อความไม่สงบปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็งไปกว่า 400 กระบอก เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จากนั้น ได้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงที่มาอย่างต่อเนื่องแล้วประมาณ 7,000 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง