บรรณาธิการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เรียกร้องบีอาร์เอ็น เปิดตัวทางการเมือง แทนการใช้ความรุนแรง
2015.04.29
นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว เนื่องในวันครบรอบสิบเอ็ดปี เหตุการณ์รุนแรงมัสยิดกรือเซะ ในวันพุธนี้ (28 เมษายน) ว่า ตนเองอยากเห็นขบวนการบีอาร์เอ็น แสดงตนเพื่อรับผิดชอบเหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ และขอให้ยุติการใช้ความรุนแรง กับทั้งหันมาใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมืองแทน
“ผมอยากเห็นกลุ่มบีอาร์เอ็นออกมาพูดต่อสาธารณะบ้าง ว่าตนต้องการสิ่งใด เพราะที่ผ่านมา เหมือนกับว่าทหารได้พูดแทนบีอาร์เอ็น” นายรอมฎอน กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
นายรอมฎอน ยังกล่าวเสริมว่า “สิ่งที่ทหารพูดคงไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด หมดเวลาที่จะให้ทหารพูดแทนแล้ว”
ทั้งนี้ ตั้งแต่ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งชาวพุทธและมุสลิม จำนวนกว่าหกพันคน และบาดเจ็บหมื่นกว่าคน โดยที่ยังไม่มีกลุ่มที่เห็นต่างไปจากรัฐออกมาแสดงความรับผิดชอบแต่ประการใด
โดยในเรื่องนี้ นายรอมฎอน กล่าวว่า ตนมีความเห็นว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นต้องปรับโครงสร้างระดับแกนนำขององค์กร ทั้งที่อยู่ในมาเลเซีย และในพื้นที่ ให้บุคคลที่มีอำนาจสั่งการจริง ขยับเข้ามาแทนแกนนำที่ไม่มีอำนาจ
“บีอาร์เอ็นต้องมีการจัดการในระดับแกนนำ ทั้งที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย และในพื้นที่ ถึงเวลาแล้วที่ขบวนการ ต้องถูกตั้งคำถาม หมดเวลาแล้วสำหรับตัวไม่จริง ถ้าตอนนี้ ขบวนการยังไม่พร้อมที่จะทำงานการเมือง ขอเรียกร้องให้บีอาร์เอ็นประเมินสถานการณ์ อยากรู้ว่าบีอาร์เอ็น มองนักศึกษาอย่างไร มองกองทัพอย่างไร เหตุการณ์ตอนนี้ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ และอย่างไร คิดว่าคนที่จะประเมินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ คือคนที่สร้างสถานการณ์ขึ้นมา” นายรอมฎอนกล่าว
ต่อกรณีที่ทางทหารชี้แจงว่า เหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ได้ลดลงเป็นอย่างมากในวงรอบหกเดือน (ตุลาคม 2557- มีนาคม 2558) นายรอมฎอน กล่าวว่า ตนไม่ได้มองว่าเหตุการณ์รุนแรงลดลงหรือไม่ แต่เท่าที่เห็นฝ่ายบีอาร์เอ็นกลับแสดงศักยภาพในการสร้างความรุนแรงที่สูงขึ้น
“ผมไม่ได้มองที่จำนวนเหตุการณ์ที่เกิด แต่กลุ่มบีอาร์เอ็น มีศักยภาพในการก่อความไม่สงบสูงขึ้น เช่น กรณีคาร์บอมบ์ที่เกาะสมุย สามาถทำได้เมื่อต้องการ และสามารถทำได้นอกพื้นที่ด้วย ยังมีเหตุการณ์ยิง 4 ศพที่สุคิรินอีกด้วย” นายรอมฎอนกล่าว
ก่อนหน้านี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า เหตุการณ์วางระเบิดลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล บนเกาะสมุย ที่ซ่อนไว้ในรถยนต์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องที่มีสาเหตุจากการเมือง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนใต้
ในวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ได้กล่าวในการเสวนาเรื่อง Track 2 ที่จัดให้มีขึ้นในจังหวัดยะลา โดยองค์กรปัตตานีฟอรั่ม ที่เสนอการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมว่า สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ที่เป็นไปในแบบลับลวงพราง ไม่ได้เกิดจากฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบทางเดียว หากแต่ฝ่ายภาครัฐ ก็มีการสร้างสถานการณ์แบบลับลวงพรางเช่นเดียวกัน
“หลายฝ่ายพยายามวิพากษ์ถึงบีอาร์เอ็น แต่ไม่เคยวิพากษ์ภาครัฐ ภาคประชาสังคม พยายามพูดแทนรัฐมาตลอด ไม่แปลกใจที่หลายๆครั้ง องค์กรที่ได้รับการไว้วางใจจะเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่เอ็นจีโอ” นายตูแวดานียา
ทางด้าน นายสุไฮมี ดูละสะ ประธาน สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) กล่าวยืนยันว่า นักศึกษาไม่เคยสนับสนุนเอกราช ไม่เคยสนับสนุนเขตปกครองพิเศษ และไม่เคยสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับรัฐไทย แต่เรื่องปัญหาชายแดนใต้ เป็นการต่อสู้ทางด้านความคิด ที่รัฐควรเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มิฉะนั้นจะเป็นการกดดันให้ฝ่ายที่เห็นต่างใช้วิธีการใต้ดิน ทั้งนี้ตนยอมรับว่า ในสหพันธ์เปอร์มาสเองมีทั้งกลุ่มสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น ที่เรียกว่าจูแว และเจ้าหน้าที่รัฐแอบแฝงอยู่