รัฐผ่อนปรนชั่วคราวระยะสั้น สำหรับเรือประมงบางประเภท
2015.07.22
ในวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2558 พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ผบ.ศปมผ.) เป็นประธาน ในการประชุมการติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา ตามข้อสังเกตในการตรวจเยี่ยมของคณะสหภาพยุโรป ของ ศปมผ. ครั้งที่ 12 ณ ห้องประชุมกองบัญชาการกองทัพเรือ วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
การประชุมประกอบด้วย ภาครัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน โดยในวันนี้ ศปมผ. ได้มีมติที่มีสาระสำคัญสามเรื่อง คือ หนึ่ง การอนุโลมให้เรือที่ใช้อวนรุนที่มีอาชญาบัตรถูกต้อง สามารถทำการประมงได้จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม และจากนั้นให้กรมประมงวางแผนเยียวยาต่อไป เรื่องที่สอง การให้ส่วนกฎหมายและจัดระเบียบเรือประมง ศปมผ. ออกประกาศขยายตาอวนก้นถุง เครื่องมืออวนลาก เป็นตาขนาด 5 เซ็นติเมตร และสาม การคำนวณหาผลผลิตยั่งยืนสูงสุด (Maximum Sustainable Yield) เพื่อนำมาคำนวณจำนวนเรือประมงที่ควรมี
ทั้งนี้ ในวันที่ 21 เมษายน 2558 สหภาพยุโรป ได้ออกใบเหลืองให้แก่ประไทย เพื่อเร่งรัดให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (illegal, unregulated, and unreported (IUU) fishing practices) มิฉะนั้น อาจโดนมาตรการกีดกันการนำเข้าอาหารทะเลได้ โดยทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จะมีการประเมินผลความพยายามในการแก้ปัญหาในเดือนตุลาคม หากโดนใบแดง ประเทศไทยจะไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลสู่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาทได้
เรือผิดกฎหมายสามพันลำไม่สามารถออกทำการประมงได้
นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมการประมง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาเรือประมง ในขณะนี้ แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง เป็นกลุ่มที่เปลี่ยนเครื่องเรือไม่สามารถจดทะเบียนได้ และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ไม่มีใบอาชญาบัตรหรือมีใบอนุญาตไม่ตรงประเภท
ในการแก้ปัญหากลุ่มที่สองนี้ ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเท่าที่ควร เรือในกลุ่มนี้ มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 3,000 กว่าลำ ทั่วประเทศ เป็นเรือขนาด 30 ตันขึ้นไปทางกลุ่มเรือประมงเองยังมีความพยายามในการขอจดทะเบียนอยู่เพื่อให้สามารถออกเรือทำประมงได้ โดยเจ้าหน้าที่เองคาดว่า ถ้าไม่มีอะไรคาดเคลื่อน สัปดาห์หน้าเรือจำนวนเหล่านี้จะสามารถออกไปทำการประมงได้บ้าง
“ตอนนี้ สิ่งที่เจ้าของเรือขอเพียงอย่างเดียว ให้เจ้าของเรือสามารถออกไปทำมาหากินได้เป็นปกติ จะให้เขาทำยังไงก็ได้ จะมีข้อบังคับเพิ่ม หรือตั้งเงื่อนไข หรือเพิ่มค่าใบอาชญาบัตรแพงขึ้น ทางนี้ เขาก็พร้อมที่จะดำเนินการขอเพียงให้มีการปลดล็อคให้สามารถออกเรือได้โดยไม่ผิดกฎหมาย พวกเขาก็พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เอกสารครบตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายกำหนด และให้เป็นการยกระดับการทำประมงทะเลไทยสู่มาตรฐานสากล ตามข้อกำหนด IUU” นายภูเบศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
การแก้ปัญหาที่ยังไม่ครอบคลุมในเชิงการจัดการการประมง
นักวิชาการด้านประมงผู้หนึ่ง ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลนั้น กระทำไปเพียงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่อกรณีที่โดนใบเหลืองจากกลุ่มสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ไม่ได้ขยายการดำเนินการแก้ปัญหาการทำการประมงแบบทำลายล้างที่เกิดจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ และรัฐบาลน่าจะฉวยโอกาสที่กำลังแก้ไขปัญหาการประมงในขณะนี้เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ
สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิชาการด้านประมง และผู้ประสานงานโครงการการจัดการประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลยังไม่ครอบคลุมถึงการแก้ไขปัญหาการทำการประมงแบบทำลายล้าง ที่เกิดจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรือประมงที่ใช้อวนลากในการจับปลาเป็ดไปเพื่อการผลิตอาหารสัตว์น้ำที่เลี้ยงในฟาร์ม
“ไม่ใช่เพียงเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่อง IUU เท่านั้น แต่ชาวบ้านต้องการให้รัฐแก้ปัญหาเรื่องการทำการประมงแบบทำลายล้าง แต่ พรบ. การประมงฉบับใหม่ ก็ยังไม่ได้ครอบคลุมในเรื่องนี้” สุภาภรณ์กล่าว
สุภาภรณ์ ได้อธิบายว่า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ จะใช้เครื่องมือทำประมงที่เป็นอวนลาก อวนรุน ที่สามารถจับปลาได้ทุกขนาดทั้งตัวเต็มวัยและตัวอ่อน เพื่อไปป้อนอุตสาหกรรมการทำอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่เป็นการทำลายทรัพยากรทางทะเลในอ่าวไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคราดหอยลายและหอยจอบที่ทำลายพื้นทะเลและระบบนิเวศน์อย่างรุนแรง
สุภาภรณ์ กล่าวว่า ปลาที่จับมาได้ด้วยเรืออวนลากนั้น เป็นปลาที่มีใช้ในการบริโภคได้เพียงประมาณหนึ่งในสามเท่านั้น นอกจากนั้น เป็นชนิดปลาและสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย ซึ่งตนเห็นว่า รัฐบาลควรจะแก้ไขกฎหมาย การควบคุมเรื่องขนาดตาข่ายให้กว้าง 4 เซ็นติเมตรด้วย เพื่อให้ปลาที่ยังไม่โตเต็มวัยสามารถลอดออกจากตาข่ายไปได้โดยง่าย
ตามข้อมูลจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึงปี พ.ศ. 2554 ได้มีการบ่งชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการจับปลาในน่านน้ำไทยลดลงจากชั่วโมงละ 300 กิโลกรัม ในปี 2504 ลดลงเหลือเพียงชั่วโมงละ 25 กิโลกรัม ในปี พ.ศ. 2554 เท่านั้น
ในช่วงสิบปีหลังพบว่า จำนวนปลาโตเต็มวัยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จับได้มีปริมาณลดลง และปลาที่ไม่เป็นที่ต้องการ รวมทั้งที่ยังไม่โตเต็มวัยมีจำนวนมากขึ้น ตัวเลขนี้เป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นว่าสัตว์น้ำโตไม่ทันความต้องการบริโภคของมนุษย์ และเป็นสัญญาณบ่งชี้อันตรายในอนาคตว่า ปลาอาจจะหมดลงไป หากยังมีการจับสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยกันต่อไป
ต่อกรณีที่ทาง ศปมผ. จะมีแผนจำกัดจำนวนเรือประมง โดยการคำนวณหาอัตราผลผลิตยั่งยืนสูงสุด (Maximum Sustainable Yield) นั้น สุภาภรณ์ กล่าว การทำประมงอย่างยั่งยืนอยู่ที่ความรับผิดชอบ ไม่ใช่ปริมาณเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำประมงพื้นบ้านที่ไม่ได้ทำการประมงแบบล้างผลาญ นอกจากนั้น ท้องทะเลไทยมีปลาหลากสปีชี่ส์ ไม่ควรเอาวิธีคิดของชาติตะวันตกที่เป็นการทำประมงสปีชี่ส์เดี่ยวเข้ามาใช้ในประเทศไทย
การว่าจ้างแรงงานในภาคประมง
ส่วนในเรื่องของแรงงานในภาคการประมงนั้น การที่จะกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านการประมง ต้องระบุเงื่อนไขการทำงานของแรงงาน และลักษณะงานในสัญญาจ้างงานให้ชัดเจน รวมทั้ง การกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่ยุติธรรมด้วย
นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ควรมีการควบคุมให้นายจ้างแสดงเงื่อนไขการทำงานในเรือประมงไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะมีการจ้างงานแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าว รวมทั้ง ให้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับสภาพการทำงานที่หนักในการเป็นลูกเรือประมง
“อย่างน้อย ในสัญญาการจ้างงาน ต้องมีการบอกลักษณะการทำงานของเรือแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน เช่น จะมีการออกเรือกี่ชั่วโมง กี่วัน ออกเรือเมื่อไหร่ และกลับเข้ามาเทียบท่าเมื่อไหร่ รวมทั้ง ให้พูดถึงน่านน้ำที่จะเข้าไปทำประมงด้วยว่าเป็นน่านน้ำของประเทศใด” นายสมพงศ์ กล่าวในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
นายสมพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาเรื่องการขนแรงงานออกนอกน่านน้ำในอดีตที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เกิดจากเรือประมงไทยทั้งสิ้น
ส่วนในเรื่องอัตราค่าแรงนั้น นายสมพงศ์กล่าวว่า หากมีการจ่ายค่าแรงตามที่ควรจะเป็น โดยให้มีอัตราที่ประมาณสองเท่าของอัตราแรงงานขั้นต่ำของอาชีพบนบก คือประมาณวันละ 600 บาท ก็จะช่วยให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการประมงหมดไป
“ถ้าแรงงานประมงได้ค่าตอบแทนที่ดี ก็จะมีไม่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ถ้าจ่ายค่าจ้างเป็นสองเท่าของแรงงานบนบก ก็จะมีคนทำ รวมทั้ง แรงงานไทยเองด้วย ค่าจ้างไม่ควรต่ำกว่าวันละ 300 บาท แต่ผมเห็นว่าควรเป็นสองเท่า” นายสมพงศ์ กล่าว
ทหารเรือจับเรือประมงผิดกฎหมาย
ในวันอังคารที่ 21 ก.ค. 2558 กองทัพเรือได้แจ้งให้ผู้สื่อข่าวทราบว่า นับตั้งแต่มีการกวดขันการทำการประมงเมื่อวันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นมา ได้มีการจับกุมเรือประมงที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้รายงานการเข้า-ออกจากท่าเรือแล้วรวมสองราย โดยรายแรก เรือตรวจการณ์ 992 ได้จับกุมเรือ ก. โชคฐิติยา ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 15 ก.ค. และ ในวันจันทร์ที่ 21 ทหารเรือกองทัพภาคที่หนึ่งได้จับกุมเรือสินสุวรรณวารีอีกหนึ่ง พร้อมด้วยแรงงานผิดกฎหมายชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่ง
นาตาลี และนาซือเราะ มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้