ประธานสมาคมประมงกล่าว ตนยินดีหากอียูคงสถานะใบเหลืองให้กับไทยเรื่องปัญหาประมง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.12.22
TH-fisheries-IUU-620 เจ้าหน้าที่ประมงแล่นเรือตรวจท่าเทียบเรือปัตตานี ที่มีเรือจอดกันหนาแน่น เนื่องจากความเข้มงวดการทำประมง วันที่ 22 ธ.ค. 2558
เบนานิวส์

นายภูเบศ จันทนิมิ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวในวันอังคาร (22 ธ.ค. 2558) นี้ว่า สหภาพยุโรปจะยังไม่ให้ใบเขียวแก่ประเทศไทย ในกรณีการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated and unreported fishing practices – IUU) ในการประเมินผลที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2559 แต่ยินดีหากอียูยังคงสถานะใบเหลืองไว้

“เรื่องนี้ ผมกล้ารับประกันว่าจะไม่ได้ใบเขียว แค่เราถูกคงที่ใบเหลืองก็พอแล้ว แต่ถ้าทำกันขนาดนี้ยังได้ใบแดงมาอีก ก็คิดว่าต้องมีอะไรไม่ถูกต้องแล้ว” นายภูเบศ กล่าวแก่เบนานิวส์ที่สำนักงานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

“ตอนนี้ อียู ได้ยืดระยะเวลาการพิจารณาใบเหลืองไปจนถึงปลายเดือนมกราคม 2559” นายภูเบศ กล่าวว่าเพิ่มเติม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายเสข วรรณเมธี โฆษก กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมากล่าวว่า คณะตัวแทนสหภาพยุโรปจะเดินมาตรวจสอบความพยายาม ในการแก้ไขปัญหาการประมงของประเทศไทยอีกครั้ง ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ก่อนที่จะมีการประกาศผล การประเมินการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทย

ก่อนหน้าการแถลงของนายเสข ในวันศุกร์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพีได้รายงานว่า นายการ์เมนู เวลล่า ข้าหลวงด้านการประมง สหภาพยุโรปได้ออกมาเรียกร้องให้ไทยแก้ไขปัญหาแรงงานทาส ในภาคการประมง แม้ว่าการประเมินผลการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยจะทำได้ดีขึ้นก็ตาม

“ประเด็นค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ ซึ่งการเดินทางมาเยือนไทยของคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ในเดือนมกราคม 2559 จะเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ชี้แจงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา ทั้งในด้านการปราบปราม และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว เพื่อให้แรงงานภาคประมงเข้ามาอยู่ในระบบ และได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายด้วย” นายเสข กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป ยังไม่ได้ตอบคำถามของเบนาร์นิวส์ ถึงเหตุผลที่ชัดเจน ในการนำเอาเรื่องปัญหาแรงงานมาผนวกกับการประมงผิดกฎหมาย

ผลกระทบต่อชาวประมง

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ศกนี้ สหภาพยุโรป ได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เรื่องที่มีการปล่อยให้มีการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน ไร้การควบคุม และในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ คณะรัฐมนตรีไทยได้ประกาศใช้พระราชกำหนดกฎหมายฉบับใหม่ที่เข้มงวด แทนพระราชบัญญัติ การประมง ที่ออกมาเมื่อปลายเดือนเมษายน เพื่อควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย และหวังหลีกเลี่ยงการถูกสหภาพยุโรปสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลมูลค่าปีละกว่าสามหมื่นล้านบาท และ เพื่อนำมาตรการแก้ปัญหาไอยูยู มาปฏิบัติให้เกิดผล

หนึ่งในมาตรการนั้น คือการเข้มงวดกับการจดทะเบียนเรือประมง และการออกใบอนุญาตการทำประมง โดยมีการควบคุมการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างอย่างเข้มงวด

เจ้าหน้าที่กรมเข้าท่าท่านหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า ถึงปัจจุบัน มีเรือประมงราวสองหมื่นถึงสามหมื่นลำ ถูกถอดถอนออกจากระบบทะเบียนแล้ว หลังจากที่ไม่มีการมาแสดงตนเกินเวลาสามเดือน ซึ่งมีทั้งเรือขนาดเล็กและเรือประมงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ท่านดังกล่าวให้รายละเอียดว่า ฐานข้อมูลเรือประมงไม่ค่อยเป็นระเบียบมากนัก เพราะว่าในอดีต มีการจดทะเบียนเรือที่ปัจจุบันเก่ามากแล้ว จนอาจจะไม่มีตัวตนอยู่ในปัจจุบัน แต่ภายหลังที่รัฐบาลประกาศมาตรการควบคุม โดยให้เจ้าของเรือมาแสดงหลักฐาน กรมเจ้าท่าจึงสามารถลบรายชื่อเรือที่เจ้าของไม่มาแสดงหลักฐานออกจากระบบภายในสามเดือน และมีความเป็นระเบียบมากขึ้น

นายภูเบศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับทุกวันนี้ มีเรือประมงของชาวประมงที่เป็นเรือเล็กเรือใหญ่ จอดทิ้งร้างไปเลยเป็นกว่าหมื่นลำ แบ่งเป็นเรือผิดกฎหมายไม่มีทะเบียนเลย และ เรือที่ถูกถอนใบทะเบียน  คิดว่ารัฐควรจะมีการเยียวยาดูแลคนเหล่านี้ เพราะเรือจำนวน 10,000 กว่าลำ เท่ากับอาชีพของคนแสนคน ซึ่งหากเทียบเศรษฐกิจที่สูญเสียจากตรงนี้คือ หนึ่งแสนกว่าล้านบาทแล้ว หลังจากที่มีการแก้ปัญหาการประมงตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

นายภูเบศ กล่าวต่อไปว่า เรื่องของการช่วยเหลือเบื้องต้น ศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้ให้ความช่วยเหลือเรือประมง ในเรื่องของค่าแรงงานรายวัน ค่าที่จอดเรือ ให้กับชาวประมง ประมาณ 1,000 กว่าลำแล้ว แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่เดือดร้อน เพราะไม่มีงานทำหลายเดือนแล้ว ชาวประมงยังเดือดร้อนเรื่องของแรงงาน เรื่องของพื้นที่ทำกิน เรื่องของระยะเวลาที่กำหนดให้สามารถทำการประมง สิ่งเหล่านี้ เรายังไม่มีการแก้ปัญหาให้พวกเขา เขาเดือดร้อนลำบากมากทุกวัน หนี้ก็เพิ่มขึ้นทุกวัน

นายดาโอ๊ะ ลาแมง ชาวประมงจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า "ตั้งแต่มีคำสั่ง คสช.มา ครึ่งปีแล้ว ไม่มีรายได้ เรือราคาแสนกว่าบาทจอดทิ้ง ทุกวันนี้ มีแต่รายจ่ายกับหนี้เก่าที่เพิ่มขึ้นทุกวัน รอรัฐบาลให้ความช่วยเหลือมาครึ่งปี ก็ยังไม่มีวี่แววของการช่วยเหลือ”

“เพื่อนชาวประมงบางคนก็ ทนไม่ไหวลูกร้องไห้หิว ก็ต้องลับลอบออกไปหาปลาได้มาสองสามตัวก็พอกินไป บางคนให้ลูกไปทำงานโรงงานแทน คือ ชาวบ้านทำทุกอย่างให้มีชีวิตรอด ลูกไม่เรียนก็เจอมาแล้ว” นายดาโอ๊ะกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง