กรมประมงเตือนเจ้าของเรือกว่าหนึ่งหมื่นสองพันลำให้เร่งจดทะเบียน
2015.07.29
กรมประมงได้เตือนผู้ประกอบการให้รีบขึ้นทะเบียนเรือประมง ขออาชญาบัตร หรือปรับเปลี่ยนเครื่องมือทำประมงให้ตรงกับอาชญาบัตร ให้แล้วเสร็จภายในเส้นตายในวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคมนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ที่มีมาตรการให้ประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเล ทำการประมงให้ถูกต้องตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
โดยในวันจันทร์ (27 ก.ค. 2558) ที่ผ่านมา นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง ได้จัดให้มีการประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ กับประมงจังหวัดชายทะเลทั่วประเทศ เพื่อเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บข้อมูลเรือประมงให้เรียบร้อย และประชาสัมพันธ์ให้เรือประมงนอกระบบ รีบลงทะเบียนให้ทันเส้นตาย
และในวันพุธนี้ (29 ก.ค. 2558) นาวสาวอรทัย โรจน์เรืองนนท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมประมง ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ณ ปัจจุบัน ยังมีเรือประมงจำนวน 12,270 ลำ จากเรือประมงทั้งหมดทั่วประเทศรวม 57,141 ลำ ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อย ในจำนวนนี้ เป็นเรือที่มีขนาดระวางขับน้ำ 30 ตันกรอสขึ้นไป จำนวน 41 ลำ
นอกจากนั้น ยังมีเรือที่มีอาชญาบัตรเรียบร้อยแล้ว แต่มีเครื่องมือประมงที่ไม่ตรงตามใบอนุญาต รวม 880 ลำ ในจำนวนนี้ เป็นเรือขนาด 30 ตันกรอส ขึ้นไปจำนวน 394 ลำ นางสาวอรทัย กล่าวเพิ่มเติม
นาวสาวอรทัย ยังได้ให้ข้อมูลแก่เบนาร์นิวส์ว่า หากเรือประมงลำใด ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนเรือ และขอใบอนุญาตให้ทำประมงให้แล้วเสร็จ แต่ยังฝ่าฝืนออกทะเล จะมีระวางโทษทั้งจำทั้งปรับ
“หากฝ่าฝืน จะมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นางสาวอรทัย กล่าว
ล่าสุด ในวันจันทร์ ที่ 21 ก.ค. 2558 กองทัพเรือได้แจ้งให้ผู้สื่อข่าวทราบว่า นับตั้งแต่มีการกวดขันการทำการประมงเมื่อวันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นมา ได้มีการจับกุมเรือประมงที่ผิดกฎหมาย หรือไม่ได้รายงานการเข้า-ออกจากท่าเรือแล้วรวมสองราย คือ เรือ ก. โชคฐิติยา ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 15 ก.ค. และ ในวันจันทร์ที่ 21 ก.ค. ทหารเรือกองทัพภาคที่หนึ่งได้จับกุมเรือสินสุวรรณวารี อีกหนึ่งลำพร้อมด้วยแรงงานผิดกฎหมายชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่ง
ด้านผู้ประกอบการประมงรายหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า ตนเองได้ออกทะเลมา ตั้งแต่รุ่นพ่อโดยไม่มีเอกสาร จนเคยชินกับการทำประมงโดยไม่มีการควบคุม ไม่ทราบว่าการทำประมงของตนนั้นมีสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก และเมื่อมีการจัดระเบียบการประมง ก็อยากให้รัฐมีมาตรการช่วยเหลือชาวประมงด้วย
“จะจัดระเบียบนั้นได้ แต่ควรหามาตรการให้กับชาวประมงได้มีโอกาสบ้าง ตอนนี้ ก็รอดูว่าวันที่ 31 ก.ค. 2558 นี้ รัฐจะหามาตรการอะไรให้กับพวกเรา จะให้เปลี่ยนเครื่องมือ รัฐก็ต้องหาแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยถูกๆ ที่ทุกฝ่ายพออยู่ได้” ชาวประมงท่านดังกล่าว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
และในวันที่ 22 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมา ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้มีมติอนุโลมให้เรือที่ใช้อวนรุนที่มีอาชญาบัตรถูกต้อง สามารถทำการประมงได้จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2558 จากนั้น และให้กรมประมงวางแผนเยียวยาต่อไป เรื่องที่สอง การให้ส่วนกฎหมายและจัดระเบียบเรือประมง ศปมผ. ออกประกาศขยายตาอวนก้นถุง เครื่องมือ อวนลาก เป็นขนาดตา 5 เซ็นติเมตร และสาม การคำนวณหาผลผลิตยั่งยืนสูงสุด (Maximum Sustainable Yield) เพื่อนำมาคำนวณจำนวนเรือประมงที่ควรมี และจำนวนปลาที่สามารถจับได้ ซึ่งจะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 7 สิงหาคม ศกนี้
ในวันที่ 21 เมษายน 2558 สหภาพยุโรป ได้ออกใบเหลืองให้แก่ประเทศไทย เพื่อเร่งรัดให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated, and unreported หรือ IUU) มิฉะนั้นอาจโดนใบแดง ที่หมายถึงการงดนำเข้าสินค้าอาหารทะเลได้ โดยทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จะมีการประเมินผลความพยายามในการแก้ปัญหาในเดือนตุลาคม หากโดนใบแดง ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้ 32,000 ล้านบาทต่อปี