แม่ทัพภาคสี่ รับฟังการชี้แนะของภาคประชาชนในการเก็บดีเอ็นเอจากผู้ต้องสงสัย

โดย นาซือเราะ
2015.08.11
TH-forensic-DNA-620 พลโทปราการ ชลยุทธ์ แม่ทัพภาค 4 จัดประชุมร่วมภาคประชาชนหาแนวทางการตรวจสอบดีเอ็นเอให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน 11 ส.ค. 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารที่ 11 ส.ค. 2558 นี้ พลโทปราการ ชลยุทธ์ แม่ทัพภาค 4 ได้เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่ร่วมกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชน เพื่อแสวงหาแนวทางและมาตรการการตรวจเก็บดีเอ็นเอ และลายนิ้วมือของผู้ต้องสงสัย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน

การประชุมได้จัดให้มีขึ้นที่ห้องประชุม กองอำนวยการความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ต. เขาตูม อ. ยะรัง จ. ปัตตานี โดยมีประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ และสื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เข้าร่วมรับฟัง

พลโทปราการ ชลยุทธ์ แม่ทัพภาค 4 กล่าวว่า ขอยอมรับในการนำเสนอความคิดเห็นของทุกฝ่าย ในการแนะนำชี้แนะ ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยทุกครั้ง ทางเจ้าหน้าที่ได้หันมาพยายามเน้นหนักในการใช้หลักมนุษยชนในการเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย และใช้หลักศาสนาพร้อมๆ กันในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

“ในส่วนแนวทางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจหาดีเอ็นเอตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตามที่ทุกฝ่ายให้การแนะนำมาโดยตลอด ถือเป็นการเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา ที่จะนำไปสู้การทำงานที่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยเฉพาะในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่ และจะส่งผลให้เกิดสันติสุขในพื้นที่่อย่างยั่งยืน” พลโทปราการ กล่าวต่อที่ประชุม

ผู้ที่เคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมองค์กรแบ่งแยกดินแดนที่เคยถูกค้นบ้านรายหนึ่ง กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ใช้อำนาจกฎอัยการศึก หรือกฎหมายพิเศษอื่นๆ ในการเข้าตรวจค้นสถานที่ เพื่อหาผู้ต้องสงสัย และในบางครั้งจะมีการบังคับให้บุคคลในสถานที่นั้น ยินยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอหรือลายนิ้วมือ และบังคับให้เซ็นแบบฟอร์มแสดงความยินยอม เพื่อป้องกันตัวเอง

“บางคนต้องยินยอมตามที่ทางการต้องการ โดยไม่พร้อมใจ และทั้งๆ อ่านหนังสือไทยไม่ออก ก็ต้องเซ็นแบบฟอร์มยินยอม” ผู้ที่เคยตกเป็นผู้ต้องสงสัย กล่าว

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า หน่วยงานราชการได้ชี้แจงว่า เหตุที่ต้องมีการใช้กฎหมายพิเศษ หรือกฏอัยการศึก เพราะกฎหมายอาญาไม่ได้ให้อำนาจการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลไว้ โดยทางราชการชี้แจงว่า ที่เคยปฏิบัติมามีการยินยอมจากบุคคลต้องสงสัยที่ถูกหน่วยราชการติดตามจับกุม

“เราได้ตั้งข้อสังเกตว่า ได้รับการยินยอมจากบุคคลเหล่านั้นจริงหรือเปล่า หรือยอมรับเนื่องจากเขาไม่รู้กฎหมายหรือเปล่า หรืออาจไม่มีการแจ้งสิทธิ อยู่ที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะทำอย่างไร เพื่อให้สังคมมีความมั่นใจ ซึ่งถ้าประชาชนสมัครใจจริง ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าประชาชนเหล่านั้นไม่ได้มีการสมัครใจ ก็ถือว่าเป็นการสร้างเงื่อนไข” นางสาวพรเพ็ญ กล่าว

นางสาวยะห์ อาลี แกนนำเครือข่ายวิทยุชุมชน ปัตตานี กล่าวว่า “ถือเป็นเรื่องที่ดี ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ และผู้เกี่ยวข้องได้มาร่วมกันหาแนวทางมาตรการการตรวจดีเอ็นเอให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักศาสนา โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องสงสัย และถูกเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งคาดว่าเมื่อทุกฝ่ายมีความระมัดระวัง การละเมิดสิทธิก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะการอยู่ร่วมกัน ถ้าทุกฝ่ายรักษากติกา สังคมก็จะอยู่กันอย่างสงบสุข ในอนาคตความสันติสุขต้องเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างแน่นอน”

นางสาวยะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจ มีกรอบในการทำงาน ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้จะเบาบางลง จนเกิดความสันติสุขได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง