กทม.วิตก-รณรงค์ชาวกรุงเทพระวังไข้เลือดออก พบครึ่งปีเสียชีวิต 5 ราย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.09.18
กรุงเทพฯ
180918-TH-dengue-1000.jpg เจ้าหน้าที่ตรวจพื้นที่ชุมชน เพื่อรณรงค์การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กรุงเทพฯ วันที่ 18 ก.ย. 2561
ภาพโดย เฟสบุ๊คผู้ว่าฯอัศวิน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กล่าวประชาสัมพันธ์รณรงค์ เพื่อป้องกันและยุติการแพร่ระบาดหนักของไข้เลือดออก ซึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ใน 4 เขตชุมชนของกรุงเทพฯ และในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ในกรุงเทพฯ แล้ว 5 คน เมื่อเทียบกับจำนวนทั้งสิ้น 6 ราย ในปี 2560 ทั้งปี

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในวันอังคารนี้ ว่า มีการระบาดหนัก ใน 4 เขต คือ เขตหนองจอก บางกะปิ ห้วยขวาง และคลองสามวา ส่วนใหญ่เกิดการระบาดในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ บ้านเรือน ร้านค้า และที่ที่มีความอับชื้นหรืออับทึบ

“กทม.ได้รณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีประชาชนบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย รวมถึงการพ่นหมอกควันในพื้นที่ที่มีการระบาด” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวทางเฟสบุ๊ค

ด้าน นายเมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หลังจากในปีนี้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 5 ราย น้อยกว่าปีที่แล้วหนึ่งราย และพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมแล้ว 5,899 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีอายุระหว่าง 10-14 ปี ขณะที่วัยทำงานเป็นช่วงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด

“กทม. เกรงว่า ถ้าไม่รณรงค์ให้เต็มที่ จะทำให้ไม่สามารถหยุดสถิติผู้ป่วยได้ โดยสาเหตุที่ไข้เลือดออกมักระบาดแบบเว้นช่วง เนื่องจากหากเกิดระบาดใหญ่แล้ว ปีถัดมาคนมักมีภูมิคุ้มกัน แต่หลังจากผ่าน 1-2 ปี ผู้มีภูมิคุ้มกันเคลื่อนย้ายที่อยู่ หรือยุงลายพาหะจะเคลื่อนย้ายที่ระบาด ทำให้กลับมาระบาดอีก” นายเมธิพจน์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์

นายเมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า สถิติผู้ป่วย 5,899 ราย เป็นการรวบรวมตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2561 แต่ผู้เสียชีวิต 5 ราย ซึ่งในปีนี้เพิ่งเริ่มมีผู้ป่วยเสียชีวิตในช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นมา ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมรวม 9,368 ราย ในปี 2560

“ไข้เลือดออกจะระบาดเป็นประจำแบบปีเว้นปี หรือปีเว้นสองปี ช่วงปีล่าสุดที่ระบาดคือปี 2558 ซึ่งเว้นมา 2 ปีแล้ว เลยน่าจะเป็นปี 2561 ที่จะระบาดเยอะ เพราะมีฝนตกยาวตั้งแต่ต้นปี ทำให้มีตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เมษายน” นายเมธิพจน์ กล่าว

“ผู้เสียชีวิตปีนี้ วัยทำงานหมดเลย... สมัยก่อน ไข้เลือดออกเป็นโรคของเด็ก เพราะการดูแลเด็กไม่ดีพอ ปัจจุบัน พ่อแม่ดูแลดี เด็กในปัจจุบันโอกาสถูกยุงกัดน้อยกว่า แต่พอเด็กกลุ่มนี้เข้าสู่วัยรุ่น ก็ไม่มีภูมิต้านทาน เนื่องจากไม่เคยป่วย เมื่อออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านนอกเหนือการดูแล ทำให้ติดไข้เลือดออกง่าย ช่วง 10-14 ปีจึงมีผู้ป่วยมากที่สุด แต่ที่เสียชีวิตช่วงวัยทำงาน ส่วนมากเป็นผู้ที่ป่วยไข้เลือดออกครั้งที่สองในชีวิต ซึ่งเสี่ยงมีอาการช็อคมากกว่าคนที่ป่วยครั้งแรก” นายเมธิพจน์ กล่าวเพิ่มเติม

นายเมธิพจน์ ให้ข้อมูลว่า ปีนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น กทม. จึงรณรงค์ให้ประชาชนเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ให้ทำลายที่ที่ยุงสามารถวางไข่ได้ โดยเฉพาะระยะ 100 เมตร รอบที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นระยะที่ยุงสามารถบินถึง และใช้ใช้ยากำจัดยุงลายโดยเฉพาะในที่มืด ชื้น และอับ

สำหรับสถิติทั่วประเทศ ปี 2561 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 44,422 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 54 ราย ขณะที่ ปี 2560 มีผู้ป่วย 53,190 ราย และผู้เสียชีวิต 63 คน โดยปี 2558 ซึ่งถือว่ามีการระบาดของไข้เลือดออก พบว่ามีผู้ป่วย 144,952 ราย ผู้เสียชีวิต 141 ราย

โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) แพร่ระบาดโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยหลังจากถูกกัดเชื้อจะเพาะในร่างกาย 5-8 วัน ก่อนแสดงอาการ จะมีไข้สูง ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ หน้าแดง ตาแดง อาจมีผื่นขึ้นตามแขนขา ตามตัว มือเท้าเย็น ชีพจร เต้นเร็ว แต่เบา อาจมีเลือดกำเดา อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือด หากพบลักษณะอาการดังกล่าว ให้รีบพบแพทย์ เพื่อตรวจรับการรักษาตามอาการ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง