ผู้นำศาสนาอิสลาม 8 องค์กร ร่วมประณามผู้ก่อเหตุรุนแรง ทำร้ายพระสงฆ์

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.07.28
TH-8islamic-620 ผู้นำศาสนาอิสลาม 8 องค์กร แสดงแถลงการณ์ร่วมประณามผู้ก่อเหตุรุนแรง ไม่เลือกเป้าหมาย ที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี วันที่ 28 ก.ค. 2558
เบนาร์นิวส์

วันนี้ที่ 28 ก.ค. 2558 บริเวณมัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี ผู้นำศาสนา 8 องค์กรประกอบด้วย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส สภาอูลามา จ.ปัตตานี สมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ชมรมมุสลิมภราดรภาพ ร่วมแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุความรุนแรง โดยไม่เลือกเป้าหมายการฆ่าและทำร้ายนักบวช ผู้นำศาสนา และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ล้วนได้รับผลกระทบ

โดย นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้อ่านแถลงการณ์ว่า “การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เพราะมุ่งโจมตีพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างไร้มนุษยธรรม ถือว่ายังผิดหลักของศาสนาอิสลามอย่างชัดเจน เพราะศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ”

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงร้อนระอุ มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงนี้ผู้ก่อเหตุเบนไปที่เป้าหมายอ่อนแอ อาทิ ครู นักเรียน เด็ก สตรี ผู้นำศาสนา พระ และนักบวช โดยเหตุการณ์ เมื่อเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา คนร้ายไม่ทราบจำนวน ลอบวางระเบิดชุดปฏิบัติการรบพิเศษ 106 (ชป.รพศ.106) หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข ขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยพระสงฆ์ ขณะออกบิณฑบาตในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี แรงระเบิดทำให้กำลังพลเสียชีวิต 1 นาย ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย พระสงฆ์มรณภาพ 1 รูป ได้รับบาดเจ็บ 1 รูป และประชาชนได้รับบาดเจ็บอีก 3 คน

ในส่วนของอาการ ล่าสุดของ พระพยอม ฐานวุฑโฒ  พันเอกชุมพล  แก้วล้วน รองเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวภายหลังเข้าเยี่ยมพระพยอม ฐานวุฑโฒ  ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาว่า “อาการของพระพยอม ฐานวุฑโฒ ที่ถูกสะเก็ดระเบิดเข้าบริเวณหน้าท้องและต้นคอ ล่าสุดแพทย์ได้ทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจนปลอดภัยแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บ ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว”

ผู้นำศาสนาทั้ง 8 องค์กร ยังได้เรียกร้องให้ประชาชนร่วมตั้งเจตนารมณ์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีมติให้ชาวไทยมุสลิมร่วมกันปฏิบัติ 1. เชิญชวนให้พี่น้องมุสลิมและผู้นำศาสนาทุกมัสยิด ร่วมกันประณามการก่อเหตุครั้งนี้ และแสดงให้ผู้ก่อเหตุสำนึกบาป 2. ให้พี่น้องมุสลิมทุกคน ทุกกลุ่ม ร่วมกันต่อต้านพฤติกรรมอันนำไปสู่ความรุนแรง และความบาดหมางระหว่างผู้คนในสังคม และจงช่วยกันยับยั้งการมุ่งทำลายประชาชนผู้บริสุทธิ์ พระสงฆ์ นักบวช เด็ก สตรี และทำลายศาสนสถาน 3. ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ให้ผู้นำศาสนาแสดงบทบาทหรือทำหน้าที่เป็นผู้ประสานความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และสันติสุขโดยเร็ว 4. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังพี่น้องชาวไทยพุทธทุกท่าน ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในฐานะผู้นำศาสนาทั้ง 8 องค์กร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เห็นด้วยและขอปฏิเสธกลุ่มที่สร้างความรุนแรงอย่างไร้มนุษยธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ พวกเขาเหล่านั้นเป็นกลุ่มที่ไม่มีศาสนาใด ๆ ในหัวใจ

ด้านนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี  กล่าวเพิ่มเติมหลังอ่านแถลงการณ์ว่า

“การใช้ความรุนแรงขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม เพราะศาสนาอิสลามไม่ส่งเสริมการใช้ความรุนแรง เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังพี่น้องชาวพุทธทุกท่านต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขอปฏิเสธกลุ่มที่สร้างความรุนแรงอย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งเราเห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นกลุ่มที่ไม่มีศาสนาใด ๆ อยู่ในหัวใจ”

"การกระทำที่โหดร้ายเยี่ยงนี้ ด้วยการใช้ความรุนแรงกับราษฎร โดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่ละเมิดกฎหมายสากลและบ่อนทำลายโดยไร้มูลเหตุ" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์สวอท์ช องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหรัฐอเมริกา กล่าว "ไม่สามารถหาเหตุผลใดมาหักล้าง การทำร้ายคร่าชีวิตราษฎรตามอำเภอใจ ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม"

"เพื่อต่อต้านเหตุการรุนแรงที่มีความโหดร้ายมากขึ้น รัฐบาลไทยควรจัดการดำเนินการในความผิดที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐเองเป็นผู้ละเมิด พร้อมทั้งตอบข้อร้องเรียนของชาวมุสลิมมลายู" อดัมส์ กล่าว "หากจะมีการ ปกป้องเจ้าหน้าที่จากความผิดทางอาญา เหตุการณ์ก็จะยิ่งทวีความรุนแรง จนเกิดเป็นวงจรที่เลวร้ายของความสุดโต่ง และการแก้แค้น"

สำหรับเหตุรุนแรงที่เกิดกับพระภิกษุ และเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยพระ มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต.ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน จากเหตุรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มีพระสงฆ์มรณภาพ รวม 19 รูป บาดเจ็บ 25 รูป

โดยรูปแบบการก่อเหตุ ส่วนใหญ่ เป็นการลอบวางระเบิด 22 ครั้ง รองลงมาเป็นการลอบยิง 7 ครั้ง ทำร้ายด้วยของมีคม 4 ครั้ง และวางเพลิง 1 ครั้ง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง