ประวิตร โรจนพฤกษ์ ประกาศลาออกจากเดอะเนชั่น เพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อผู้บริหาร

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.09.16
TH-journalist-resign-620 ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส เดอะเนชั่น ด้านหน้ากองพลพัฒนาที่ 1 เมื่อเขาถูกรัฐบาลคสช.เชิญตัวเพื่อปรับทัศนคติครั้งแรก วันที่ 25 พฤษภาคม 2557
เอเอฟพี

วันนี้ 16 กันยายน 2558 ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ. เดอะเนชั่น ประกาศลาออก หลังจากเขาถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นครั้งที่สอง โดยให้เหตุผลว่าต้องการลดแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกที่มีต่อผู้บริหาร จึงตัดสินใจลาออก หลังจากทำงานที่เดอะเนชั่นมานาน 23 ปี

นาย ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ. เดอะเนชั่น ถูกเชิญไปเพื่อปรับทัศนคติสองครั้ง โดยครั้งแรกนั้น เขาได้ถูกรัฐบาลทหารควบคุมตัว เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ หลังจากเกิดการรัฐประหารโดยทหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2557 และครั้งที่สองล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา และถูกปล่อยตัวออกมาเมื่อวานนี้อังคารที่ 15 ก.ย.

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าว เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ก.ย. ว่า“ที่เชิญมาเนื่องจากนายประวิตรได้นำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษา ความสงบเรียบร้อย ซึ่งในช่วงหลังเริ่มพบบ่อยครั้ง โดยบางครั้งอาจมีเนื้อหาที่มีลักษณะเข้าข่ายไปพาดพิงบุคคลหรือองค์กรอื่น หรือในเนื้อหาที่อาจส่งผลให้สังคมสับสนเข้าใจผิดได้ ที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ที่ชัดเจน”

นาย ประวิตร กล่าวให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ถึงเหตุผลการลาออกจากเครือเดอะเนชั่นกรุ๊ป เนื่องจาก หลังจากที่เขาถูกเรียกไปเพื่อปรับทัศนคติ ครั้งที่สอง ก็มีแรงกดดันมหาศาล ทั้งฝ่ายเห็นด้วย และฝ่ายไม่เห็นด้วยใน นสพ.เดอะเนชั่น รวมทั้งแรงกดดันจากภายนอก สลับซับซ้อนมาก และเขาต้องการที่จะช่วยลดแรงกดดันต่อผู้บริหาร จึงตัดสินใจลาออกจาก นสพ.ที่เขาทำงานมานานถึง 23 ปี

เขากล่าวอีกว่า "อาจจะอิ่มตัวด้วย เพราะทำงานในฐานะสื่อตรงนี้มานานมาก"

นาย ประวิตร กล่าวว่า "ไม่ได้มีปัญหาในการทำงานกับ นสพ.เดอะเนชั่น เพราะอยู่กันอย่างมีอารยะ เชื่อว่าความเข้มแข็งของสังคมอยู่ที่ความหลากหลายทางความคิด ไม่มีปัญหาว่าใครจะ “สี” อะไร หรือเอียงทางใด ตราบใดที่ทำงานกันอย่างมืออาชีพ เคารพความเห็นต่าง ให้พื้นที่ที่หลากหลาย นั่นเป็นการทำหน้าที่ที่ให้สังคมเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน โดยไม่เกลียดชังกัน"

เขาบอกด้วยว่า "จุดยืนที่มีต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของเขา จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่อาจต้องหาสถานที่อื่นเพื่อแสดงบทบาทต่อไป"

เขากล่าวเสริม ตั้งแต่ถูก คสช. เชิญปรับทัศนคติครั้งแรก ดังนั้นสิทธิเสรีภาพในช่วงที่ผ่านมาจึงถูกจำกัดหลายอบ่าง

อย่างไรก็ตาม นาย ประวิตรได้บอกในการสัมภาษณ์ด้วยว่า ตนคิดว่าสื่อควรมีหน้าที่ตอกย้ำให้คนเข้าใจว่าไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ปกติ เพราะหากยอมรับว่าระบอบอำนาจนิยมเป็นสิ่งปกติ ต่อไปรัฐประหารก็คงจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งจุดนี้เขาได้แลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ทหารทั้งระดับกลางและระดับสูงของ กองทัพที่เรียกเขาไปปรับทัศนคติด้วย และเขายืนยันอีกว่า ประเทศไทยจะกลับไปเหมือนปี 1960 ที่สมัยที่จอมพล สฤษดิ์ มีอำนาจนั้น ไม่ได้แล้ว เพราะความคาดหวังของสังคม การเมือง สังคมไทย และเศรษฐกิจ กับการเชื่อมโยงที่มีต่ออนารยชาติ ได้เปลี่ยนไปไกลมากแล้ว

เขายังตอบคำถามถึง การใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา ในการสื่อสาร จนมีผลให้เขาถูก คสช. เพ่งเล็ง และคุมตัวไว้ถึงสองคราวว่า "โซเชียลมีเดีย คือ ส่วนหนึ่งของสื่อในยุคใหม่ ประชาชนอาจจะแยกแยะไม่ออก อยากเห็นการใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ สังคมควรเรียนรู้ถึงความเห็นต่าง และโต้เถียงกันอย่างมีอิสระ และขันติ" บางส่วนจากการสัมภาษณ์ นาย ประวิตร โดยบีบีซีไทย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเตือนทั้งนาย ประวิตร และคนอื่น ๆ ที่ถูกเชิญตัวเพื่อ“ปรับทัศนคติ” ว่าต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ลงนามในเอกสารไว้ โดยให้มีการแจ้งต่อทางการ หากมีแผนการเดินทางออกนอกประเทศด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลทหาร-คสช. ยังสามารถจะตรึงการเดินบัญชีธนาคารของผู้ที่ได้ลงนามตามข้อตกลงไว้กับ คสช. อีกด้วย หากพบการเคลื่อนไหวที่น่าสงสัย พลเอก ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กล่าว แหล่งข่าวนสพ.รายงาน

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวเตือนว่า จะไม่มีการตกลงอย่างใด หากพวกเขากระทำการดังกล่าวซ้ำอีก พวกเขาจะต้องถูกนำขึ้นศาล ไม่มีการเจรจาตกลงอื่นอีก เดอะเนชั่นรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง