ศาลยะลายกฟ้องผู้ต้องขังคดีความมั่นคงสามราย แต่ถูกข้อหาวางระเบิดในเบตงอีก และถูกอายัดตัวต่อ

นาซือเราะ
2015.11.03
TH-YalaPrison-1000 หน้าเรือนจำกลางประจำจังหวัดยะลา วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ออกแถลงการณ์เผยสภาพปัญหาการอายัดตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบปัญหาเจ้าหน้าที่อายัดตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงโดยไม่ได้มีการอำนวยความยุติธรรม และเรียกร้องให้มีการดำเนินการฟ้องผู้ถูกกล่าวหาในทุกคดี และทุกศาลพร้อมกันในเวลาเดียวกัน

นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ ทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ยกเหตุการณ์ล่าสุดที่มีการฟ้องร้องจำเลยสามรายว่า ได้ร่วมการสนับสนุนการก่อการร้าย ในเหตุการณ์ระเบิดที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557 ด้วยการจี้รถตู้ แต่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 นี้ ศาลจังหวัดยะลา ได้ตัดสินยกฟ้องจำเลย แต่ผู้ต้องหาทั้งสามราย กลับถูกแจ้งข้อหาวางระเบิดในอำเภอเบตง และถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดีต่อไป

“เรื่องแบบนี้ เราเจอมาตลอด มีการพูดคุยกับพนักงานสอบสวน คุยกับอัยการ ได้คุยกับผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคน มีการตกลงว่าขอให้เราสามารถตรวจสอบหมายจับ เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีในเวลาเดียวกันได้ ใครมีกี่คดีก็ว่าไปเลย แต่ก็ไม่มีการปฏิบัติ” นายอดิลัน กล่าว

“ก็เลยคิดว่า เราจะมารอให้เป็นแบบนี้ที่ละเคสๆ ไม่ได้แล้ว ควรมีการออกแถลงการณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้ทบทวนบ้าง” นายอดิลัน กล่าวเพิ่มเติมถึงเหตุผลในการออกแถลงการณ์ในครั้งนี้

ในรายล่าสุดที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น เกิดขึ้นกับนายมะรอซาลี เจ๊ะบู นายสอบือรี หะมะ และ นายบูดีมัน สิแล ที่อัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 9 เป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาร่วมกันสนับสนุนการก่อการร้ายโดยใช้กำลังประทุษร้าย ร่วมกันก่อการร้ายโดยการสะสมกำลังพล อาวุธ อั้งยี่ ซ่องโจร จากเหตุการปล้นรถตู้ ที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับการระเบิดในตัวเมืองอำเภอเบตง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557

ต่อมา ศาลจังหวัดยะลา พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว มีเหตุอันควรสงสัยในพยานหลักฐานที่กล่าวหาจำเลย พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสามคนพ้นข้อกล่าวหา แต่จำเลยทั้งสามยังไม่ได้รับอิสรภาพ เพราะได้รับแจ้งว่า มีหนังสือขออายัดตัวคนทั้งสามไว้ จากเหตุคดีระเบิดในตัวเมืองอำเภอเบตง เหตุการณ์เดียวกัน และต้องนำตัวทั้งสามไปดำเนินคดีที่อำเภอเบตง

นายอดิลัน กล่าวว่า เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี้ เชื่อว่าทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ได้รับรู้ถึงสภาพปัญหามาโดยตลอด ถ้าหากฝ่ายรัฐอำนวยความยุติธรรมด้วยการดำเนินการฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทุกคดีทุกศาลพร้อมกัน ให้โจทก์ทำหน้าที่พิสูจน์ความผิดของจำเลย ให้จำเลยได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองพร้อม ๆ กัน ผลคดีจะเป็นอย่างไร โจทก์จะร้องขอต่อศาลให้มีการนับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นด้วย ก็ดำเนินการไปตามกระบวนการ และหากจำเลยสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ได้ก็จะได้รับอิสรภาพไปในที่สุด

“อย่ามาดำเนินทีละคดี อย่าผลักให้เขาอยู่ในเรือนจำโดยไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ถึงเมื่อไหร่ ตัวเองได้กระทำความผิดหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการพูดคุยสันติภาพ” นายอดิลัน กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากกรณีการอายัดตัวจำเลยทั้งสามคนในคดีนี้แล้ว ยังมีกรณีการอายัดตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอีกหลายราย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏตามรายละเอียดของกรณีการอายัดตัวผู้ต้องหาดังนี้ คือ

รายแรก วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 มีการอายัดตัวนาย นูรฮีซัม วานิ ที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา

รายที่สอง เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 มีการอายัด นาย อาลี เจะอาลี และ นาย ฮารน เจะอาลี ที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา หลังจากที่ศาลจังหวัดยะลามีคำพิพากษายกฟ้องแต่ให้ขังระหว่างอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองคนยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา แต่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา มาอายัดตัวจำเลยทั้งสองคน

รายที่สาม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 มีการอายัด นาย มาหะมะ อาโกะ ที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา

นอกจากนั้น เนื้อหาของแถลงการณ์ยังได้กล่าวว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มีความห่วงกังวลต่อปัญหาการอายัดตัวดังกล่าว นอกจากไม่เป็นการอำนวยการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริงแล้ว จะเป็นสร้างเงื่อนไขในการสร้างความเกลียดชังต่อการปฏิบัติการทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ และจะส่งผลกระทบต่อการสร้างบรรยากาศการพูดคุยสันติภาพและนำไปสู่ความสงบสุขในพื้นที่ต่อไป

เพราะเชื่อว่าการอำนวยการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐมากขึ้น และจะส่งผลดีในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม พิจารณาดำเนินการเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการอายัดตัวของผู้ต้องหา และอำนวยการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง