นักภูมิประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้มัสยิดกรือเซะไม่ได้ถูกอาณาจักรสยามเผาทำลาย
2015.04.29
นักวิชาการด้านภูมิประวัติศาสตร์ ค้นพบว่ามัสยิดกรือเซะ ที่เป็นศูนย์กลางทางจิตใจของชาวปตานี แต่โบราณกาลมานั้นไม่มีร่องรอยการถูกเผา ตามที่มีการกล่าวไว้ในบันทึกทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ เมื่อเร็วๆนี้ว่า นักวิชาการภูมิประวัติศาสตร์ได้นำเสนอหลักฐานใหม่ที่เพิ่งได้ผลสรุปเมื่อเร็วนี้ๆ ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่า ชั้นดินของมัสยิดกรือเซะไม่มีองค์ประกอบของคาร์บอน ที่จะสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่า โดนเผาโดยอาณาจักรสยาม หรือโดนฟ้าผ่าแต่อย่างใด
“วัสดุเป็นลักษณะปูนแบบเดียวกับซากกำแพงเมืองโบราณ และไม่พบว่ามีองค์ประกอบของคาร์บอนที่จะบ่งบอกว่ามัสยิดถูกไฟไหม้หรือถูกฟ้าผ่า การพังทลายของของส่วนโดมมัสยิดกรือเซะมาจากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ที่ส่วนโดมนั้นมีปูนตำเป็นตัวเชื่อมที่มีส่วนผสมของหอยที่เป็นภูมิปัญญาในอดีต โครงสร้างลักษณะนี้ไม่แข็งแรง และโครงสร้างส่วนบนของตัวอาคารขาดความสมดุล ทำให้มัสยิดพังทลายลงมา” ดร. ครองชัย กล่าว
“จากหลักฐานที่พบนั้น สรุปว่ามัสยิดกรือเซะสร้างเสร็จแล้ว และมีการใช้งานแล้ว แต่มีการพังทลายลงมาภายหลัง” ดร. ครองชัยกล่าว
มัสยิดกรือเซะ ตั้งอยู่ในสถานที่ปัจจุบันที่บ้านกรือเซะ หมู่ที่ 2 ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ตามหลักฐานที่บันทึกไว้ สร้างขึ้นในสมัยนางพญา ชื่อ รายาบีรู (พ.ศ. 2151-2167) เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 15.10 เมตร ยาว 29.60 เมตร สูง 6.50 เมตร เสาทรงกลม เลียนรูปลักษณะแบบเสาโกธิคของยุโรป ช่องประตูหน้าต่าง มีทั้งแบบโค้งแหลม และโค้งมนแบบโกธิค
ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา เล่าว่า มัสยิดกรือเซะดูเหมือนก่อสร้างไม่เสร็จนั้น เดิมมีข้อสันนิษฐานว่า เกิดจากจากการเผาบ้านของสยามที่มาตีอาณาจักรปตานีสำเร็จ ที่ถือเป็นประเพณีการทำสงครามในอดีต ตนคิดว่าการเผาบ้านเมือง เมื่อสยามชนะสงครามต่ออาณาจักรปตานี ดารุสลาม (พ.ศ. 2012-พ.ศ. 2491) อาจจะเป็นจริง แต่การจะสรุปว่า มัสยิดถูกเผาด้วยหรือไม่นั้น คิดว่ายังต้องหาหลักฐานเชิงประจักษ์อีกมาก และเป็นเรื่องอ่อนไหวเช่นกัน
มัสยิดกรือเซะ ในปัจจุบันไม่ได้ถูกเปิดใช้ หลังคาที่ถล่มยังคงโหว่และถูกปิดคลุมด้วยวัสดุชั่วคราว เข้าใจว่าตั้งแต่ปี 2547 หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง มัสยิดได้รับการบูรณะ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร
เหตุการณ์สะเทือนขวัญ 28 เมษายน 2547
มัสยิดกรือเซะ ได้ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง จากเหตุการณ์ร้ายแรงเมื่อ 11 ปีก่อน โดยในวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่ได้มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโจมตีที่มั่นของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในจังหวัดปัตตานี ยะลา และสงขลาพร้อมๆ กันหลายจุด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 108 คน ในจำนวนนั้น มีผู้เสียชีวิตภายในมัสยิดกรือเซะถึง 32 คน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ทำให้มัสยิดได้รับความเสียหายจากอาวุธ กรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะมัสยิดกรือเซะ ได้มีการขุดฐานรากของตัวมัสยิดในระหว่างการบูรณะด้วย ทำให้เห็นหลักฐานใหม่ๆ คือ ฐานรากของมัสยิดกรือเซะ เป็นสถาปัตยกรรมแบบฐานบัว ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่ใช้เป็นฐานตัวอาคารพระอุโบสถ และพระวิหารในศาสนาพุทธ นอกจากนั้น ยังได้พบข้อมูลทางปฐพีวิทยาของชั้นดินที่บริเวณฐานมัสยิดว่า เป็นชิ้นส่วนอิฐที่ทำมาจากภูมิปัญญาแบบปตานี ที่นำซากหอยทะเลมาเป็นส่วนผสม
บุตรสาวผู้เสียชีวิตวิงวอนเปิดใจรับฟัง และให้อภัยแก่กัน
ด้าน นางคอรีเยาะ หะลี บุตรสาวของหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อ 11 ปีก่อน ที่ได้มาสวดดูอาห์ให้บิดาผู้ล่วงลับ เมื่นวันอังคารที่ผ่านมา (27 เมษายน) ได้ให้ทรรศนะต่อการค้นพบหลักฐานใหม่นี้ว่า ทุกคนควรเปิดใจรับฟังต่อการแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะเชื่อว่าถ้าจะมีการเผามัสยิด หรือว่ามัสยิดถูกฟ้าผ่าจริงแล้ว ก็ต้องมีร่องรอยหลงเหลืออยู่ หรือถ้าหากใครไม่เชื่อในสิ่งที่นักวิชาการพูด ก็ควรลุกขึ้นมาค้นหาความจริง ที่สำคัญต้องมีหลักฐานยืนยันได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น นางคอรีเยาะ ยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่าย ระมัดระวังต่อการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆที่มีการเผยแพร่กันอยู่
“ที่ผ่านมาพวกเราไม่ค่อยคิด ทบทวน ไตร่ตรอง รับข้อมูลมาก็จะเชื่อ โดยไม่คิดเลยว่าข้อเท็จจริง ความสมเหตุสมผล หรือความน่าจะเป็นไปได้มีมากน้อยเพียงใด เพราะเหตุนี้ ทุกคนจึงตกเป็นเครื่องมือของใครก็ได้ที่จะสร้างความแตกแยก หาประโยชน์บนความทุกข์ของพวกเรา” นางคอรีเยาะกล่าว
“เรารู้แล้วว่าการฆ่าคนเป็นบาป ถ้าใครพลาดไปฆ่าใครขึ้นมา คนๆนั้นไม่สามารถขึ้นสวรรค์ได้ ต้องรับกรรมที่ตัวเองได้กระทำ จึงขอเรียนให้ทราบว่า หลังจากนี้ เหยื่อกรือเซะเราขอเดินตามทางที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนด เพื่อพวกเราจะได้ไม่หลงทางไปทำบาป” นางคอรีเยาะกล่าว