ไอลอว์ยื่น 1 แสนชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ
2020.09.22
กรุงเทพฯ
ในวันอังคารนี้ ประชาชนโดยการนำของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เดินเท้าเข้ายื่นรายชื่อประชาชนที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 100,732 รายชื่อที่อาคารรัฐสภา โดยมีตัวแทนประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ออกมารับหนังสือ ด้านนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด จากคณะประชาชนปลดแอกเผยหวังให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เริ่มภายใน 6 เดือน
การเข้ายื่นรายชื่อผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งไอลอว์เป็นองค์กรหลักในการดำเนินการวันนี้ เริ่มกิจกรรมในเวลา 13.00 น. โดยมีประชาชนกว่า 200 คน ร่วมเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที เตาปูน นำขบวนรถที่บรรทุกลังเอกสารหลายสิบลัง ซึ่งเป็นหลักฐานที่ประชาชน 100,732 คน ลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงรัฐสภา ในเวลาประมาณ 14.20 น. มีการปราศรัยที่หน้ารัฐสภาเป็นเวลาราว 2 ชั่วโมงของประชาชนจากหลายภาคส่วน มีการชูป้าย และตะโกนเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ “ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าไม่แก้ออกไป” ผู้ชุมนุมระบุ
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ หนึ่งในผู้ดำเนินกิจกรรมวันนี้ กล่าวระหว่างการปราศรัยว่า เหตุผลที่ประชาชนจำเป็นต้องเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านนั้น ยังไม่ครบถ้วนและครอบคลุมอย่างที่ควรจะเป็น
“เรามาเป็นตัวแทนของ 1 แสนกว่าคน เพื่อยืนยันว่า นี่เป็นข้อเสนอที่เราต้องการ ส.ว. 250 คน เราต้องการยกเลิกไปเลย ไม่ใช่แค่แก้ไขเล็ก ๆ น้อย ๆ ปิดอำนาจบางอย่าง ช่องทางนายกฯคนนอกต้องยกเลิก อีกเรื่องที่ยังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนเสนอ คือ องค์กร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมา รัฐบาลนี้ รัฐบาลที่แล้วทำอะไรไม่เคยผิดเลย ฝ่ายตรงข้ามพรรคการเมืองตรงข้ามทำอะไรผิดตลอด เพราะที่มาของพวกเขาการทำงานของพวกเขาต้องผ่าน ส.ว. 250 คน เราเสนอยกเลิกที่มาแบบนี้” นายยิ่งชีพ กล่าว
ขณะที่ นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด จากคณะประชาชนปลดแอก เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ต้องการให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด
“ถ้าร่างของไอลอว์ได้รับการพิจารณา ก็จะมีคณะกรรมการสัดส่วนของประชาชนเข้าไปนั่ง พอพิจารณาของกรรมาธิการเสร็จ ก็ส่งต่อในส่วนสภาใหญ่ สภาใหญ่ก็พิจารณารายมาตรา นำไปสู่การลงมติ นำไปสู่การทำประชามติ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ผมไม่อยากให้ใช้เวลานานนัก อยากให้มีการตั้ง ส.ส.ร. และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เร็วที่สุด... ไม่เกิน 6 เดือนหลังจากนี้” นายทัตเทพ กล่าว
“ตอนแรก ก่อนการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคมเราไม่เคยคาดหวังเลยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาล และรัฐสภาไม่ทำงานเพื่อประชาชนสักเท่าไหร่ เราเลยตัดสินใจที่จะชุมนุม และการชุมนุมตลอด 2 เดือนมันเริ่มเห็นผล เพราะรัฐสภาเริ่มมีท่าทีที่เปลี่ยนไป รัฐสภาเริ่มมีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่สมบูรณ์แต่คิดว่าแรงกดดันของภาคประชาชน จะทำให้รัฐสภาตอบสนองความต้องการของประชาชนได้” นายทัตเทพ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้เเทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้รับหนังสือทั้งหมดแทน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวแก่ประชาชนที่มายื่นหนังสือว่า หลังจากรับรายชื่อทั้งหมด จะได้มีการตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนส่งต่อสู่สภาพิจารณา
“วันนี้ได้รับหนังสือจากพี่น้องประชาชน ว่ามีพี่น้องประชาชนมายื่นรายชื่อผู้เข้าเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มีจำนวน 100,732 รายชื่อ.. วันนี้เป็นขั้นตอนที่ภาคประชาชนได้นำรายชื่อเข้าไปให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการตามขั้นตอน” นายสมบูรณ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนฝ่ายค้านกล่าวว่า ฝ่ายค้านมีความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับที่ไอลอว์และประชาชนเสนอ ต่างเพียงรายละเอียดบางส่วน
“ขอบพระคุณทุกท่านที่ได้นำเจตนารมณ์ที่แท้จริงมาบอกพวกเรา แสนกว่ารายชื่อเป็นสิ่งที่ไม่ได้ง่าย ถือเป็นสิ่งมีคุณค่าที่เราจะต้องให้ความสำคัญ ผมเรียนว่า เจตนารมณ์ของฝ่ายค้านกับของเรา (ประชาชน) สอดคล้องต้องกันเกือบทุกประการ รายละเอียดบางส่วนนิดเดียวที่ไม่ตรง เราตระหนักดีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยิ่งนานไป ก็ยิ่งทำความเสียหาย ปล่อยไว้ไม่ได้แม้แต่วันเดียว ร่างของไอลอว์ ตรงกันกับของฝ่ายค้าน” นายสุทิน กล่าว
“ฝ่ายค้านได้คุยกันว่า เราจะหาที่นั่ง เพื่อให้ไอลอว์หรือภาคประชาชนไปเป็นกรรมาธิการร่วมได้ใน 1-2 วันนี้ ถ้าร่างนี้ทำไม่ทัน ก็จะไม่สูญเปล่า เพราะร่างนี้ไปบูรณาการในวาระที่ 2-3 ได้ ตัวแทนเราไปนั่งได้ หรือถ้าร่างนี้ไม่ผิด ก็สามารถตามมาบรรจุภายหลังได้ ฝ่ายค้านทุกคนดันเต็มที่ และเชื่อว่าทุกมือยกให้แน่นอน” นายสุทิน กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์ที่มีประชาชนร่วมลงชื่อ คือ เสนอให้ยกเลิกมาตรา 279 คือ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ยกเลิกมาตรา 272 คือ ปิดโอกาสการมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. ยกเลิกหมวด 16 คือ ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศของ คสช. ยกเลิกมาตรา 65 และ 275 คือ เกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. และยกเลิกมาตรา 252 คือ ปิดโอกาสการได้มาของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
รวมทั้ง เสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. ในการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ เสนอให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เสนอให้แก้กระบวนการสรรหาคนในองค์กรอิสระ เสนอให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ เสนอให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง
โดย หลังจากที่ประชาชนยื่นรายชื่อ 100,732 รายชื่อ ต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไป สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง ถ้าหากเสร็จสิ้นเร็วจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่ 1 ของการประชุมระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2563 นี้ และ ถ้า ส.ส. เห็นชอบด้วยกับร่างที่เสนอก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณา เพื่อเสนอให้ ส.ส. ลงมติในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
นายสมบูรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 23-24 กันยายน 2563 นี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการพิจารณา ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ ประกอบด้วย 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เสนอโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้าน 2. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่เสนอโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ 3. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และมาตรา 271 เรื่องการปฏิรูปประเทศ 4. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และยกเลิก มาตรา 272 เรื่องยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี 5. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิก มาตรา 279 เรื่องยกเลิกประกาศและคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 6. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิก มาตรา 93 และ มาตรา 101 (4) เรื่องให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. 2 ใบตามรัฐธรรมนูญปี 2540
ด้านกลุ่มประชาชนปลดแอก เปิดเผยว่า ในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 24 กันยายน 2563 จะนัดชุมนุมรวมตัวประชาชนอีกครั้ง
“24 กันยายน นี้ จะเป็นการตั้งเวทีชุมนุมที่รัฐสภา เพื่อส่งข้อเรียกร้องที่ประชาชนต้องการไปให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ยกมือรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีรัฐธรรมนูญที่มาจาก ส.ส.ร. ที่เลือกตั้งโดยประชาชน ไม่มีการล็อกสเปค” นายทัตเทพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์