องค์กรสิทธิฯ: ชาวบ้านวังสะพุง เลย ถูกละเมิดสิทธิกว่า 10 ปี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ, ภิมุข รักขนาม และอิมราน วิตทาชี
2018.10.02
กรุงเทพฯ
181002-TH-mine-1000.jpg นางระนอง กองแสน (ซ้าย) และนางพรทิพย์ หงชัย ตัวแทนชาววังสะพุง เรียกร้องรัฐปกป้องนักสิทธิ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย วันที่ 2 ตุลาคม 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ เปิดเผยรายงานสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ชาวบ้านเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ถูกละเมิดสิทธิจากโครงการเหมืองทองคำมาเป็นเวลากว่า 10 ปี จึงเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนและปกป้องนักสิทธิชุมชน รับฟังเสียง และปฏิบัติกฎหมายสากลเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

โดย การเรียกร้องครั้งนี้ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ร่วมกับ ชาวบ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ในนาม “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” แถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ในช่วงเช้า เพื่อเปิดตัวรายงานสถานการณ์การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิที่ดินของชาวบ้าน ในกรณีการทำโครงการเหมืองทองคำในพื้นที่ดังกล่าว โดยระบุว่า ชาวบ้านประสบความยากลำบากในการปกป้องสิทธิของตนเองเป็นเวลากว่าสิบปี นับตั้งแต่โครงการเหมืองทองเริ่มดำเนินการในปี 2549

“ชุมชนแห่งนี้กำลังถูกตอบโต้ เพียงเพราะเขาลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของตัวเอง รัฐบาลต้องรับประกันว่า นักปกป้องสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ จะสามารถดำเนินการอันชอบธรรมของตน โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกปฏิบัติมิชอบหรือโดนตอบโต้” เอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว

เหมืองทองทุ่งคำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 6 บ้าน คือ ห้วยผุก กกสะทอน นาหนองบง แก่งหิน โนนผาพุงพัฒนา และภูทับฟ้าพัฒนา ของ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยมีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 1,000 หลังคาเรือน ประชาชนกว่า 3,500 คน เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2549 ก่อนมีการตรวจพบสารเคมีปนเปื้อนมากกว่าค่ามาตรฐานในเวลาต่อมา และชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันเรียกร้อง เพื่อให้บริษัทฯ รับผิดชอบกับผลกระทบดังกล่าว

นางพรทิพย์ หงชัย จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวในการแถลงข่าวในวันนี้ โดยระบุว่า มีการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านในพื้นที่ มีการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ ชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิของตนเอง และไม่ยินยอมให้เหมืองทองทำงานได้อย่างสะดวก

“15 พฤษภาคม 2557 ก่อนรัฐประหาร มีชายฉกรรจ์เข้ามาทุบตีเรา แล้วก็เอารถเข้ามาขนแร่ ตอนนั้นเป็นเวลา 4-5 ทุ่มแล้ว จับชาวบ้านมัดมือมัดเท้า ปิดตาทุบตีชาวบ้าน บาดเจ็บสาหัสก็หลายคน ชาวบ้านเสียขวัญมาก เป็นสภาวะที่แย่ที่สุด หลังจากนั้นไม่กี่วันก็เกิดรัฐประหาร ทหารเป็นกองร้อยเข้ามาประจำการในหมู่บ้าน ช่วงนั้นเริ่มมีเรื่องมือปืนเข้ามาด้วย ชาวบ้านก็กลัว พอมีทหารเราก็อุ่นใจ แต่ไม่ใช่ เรากลับโดนเรียกไปปรับทัศนคติ” น.ส.พรทิพย์ กล่าวทั้งน้ำตา

แม้ว่า ต่อมาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่า ทหารยศพันโท และพลโทนอกราชการ เป็นผู้ก่อเหตุและถูกตัดสินโทษจำคุกเป็นเวลา 36 เดือน และ 24 เดือนตามลำดับ และต้องจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านเป็นเงินตั้งแต่ 2,600-25,000 บาทต่อคน และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาในเวลาต่อมา ให้ลงโทษทหารทั้ง 2 รายเพิ่ม เป็นจำคุก 60 เดือน และ 40 เดือน ตามลำดับ แต่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ไม่เคยถูกสอบสวนว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุดังกล่าว

และตลอดระยะเวลาการปกป้องและเรียกร้องสิทธิของชาวบ้าน มีชาวบ้าน 4 คน ถูกดำเนินคดีรวมกันถึง 22 คดี ในความผิดหลายข้อกล่าวหา ตั้งแต่ หมิ่นประมาท ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ การชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน รวมถึงข้อกล่าวหาอื่นๆ โดยนอกจากจะมีการฟ้องร้องในจังหวัดเลยแล้ว บางคดียังฟ้องในต่างจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ จ.ภูเก็ต หรือ จ.ตาก ซึ่งสร้างความยากลำบากให้กับชาวบ้านในการเดินทางไปต่อสู้คดี

ปัจจุบัน มีคดีที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดีอยู่ 4 คดี โดยอยู่ในชั้นศาล 2 คดี ขั้นตอนการพิจารณาของอัยการ  และการสอบสวนอย่างละ 1 คดี และขณะเดียวกันก็มีคดีที่ชาวบ้านฟ้องร้องเอาผิดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกัน โดยเรียกร้องให้มีการชดเชยและเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นเงิน รวมทั้งเรียกร้องให้บริษัทผู้รับสัมปทาน ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่

ด้าน นางระนอง กองแสน จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เปิดเผยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางเสียง น้ำ และอากาศ จากการดำเนินกิจการเหมืองทอง

“น้ำไหลออกจากบ่อเก็บกาก ทำให้ร่องน้ำ ทำข้าวไม่ได้ ทำยังไงก็ตาย มีสารพิษสารเคมี ทำให้กุ้ง หอย ปู ปลา เราก็ใช้มาตลอด บริโภคมาตลอด ตรวจเลือดออกมาก็เกินค่ามาตรฐาน ไม่มีใครมารับผิดชอบ ดูแล เยียวยาชุมชน เราต้องซื้อน้ำ ซื้ออาหารกิน ถ้าหากเขาทำต่อชุมชนจะอยู่ยังไง เราก็ต้องต่อสู้” นางระนองกล่าว

จากการสุ่มตรวจโดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขพบชาวบ้าน ราว 20-30 คน จากการตรวจแต่ละครั้ง มีสารหนู และไซยาไนด์ ในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐาน สารดังกล่าวทำให้ชาวบ้านมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนล้า ความจำระยะสั้นกว่าปกติ รวมถึงเกิดโรคผิวหนังจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ จึงเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล และนานาชาติ

“เราเรียกร้อง 3 ข้อ คือ รัฐต้องให้การสนับสนุนและปกป้อง นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้ยอมรับฟังเสียงของพวกเขา รวมทั้ง องค์กรต่างชาติจำเป็นต้อง กระตุ้นรัฐบาล และนักธุรกิจไทยให้ปฏิบัติตามพันธสัญญาเรื่องสิทธิมนุษยชน” น.ส.สุธารี วรรณศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนประเทศไทย จากฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว

ต่อข้อเรียกร้อง และข้อกล่าวหาที่พาดพิงถึง บริษัท และหน่วยงานรัฐบาล เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อไปยัง กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้

ขณะเดียวกันนายชัยวัฒน์ จิตรถาวรกุล ผู้ช่วยเลขานุการบริษัท บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ไม่พร้อมที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในเวลานี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง