รองนายกฯ สมคิด และ 3 รัฐมนตรี ลาออกเปิดทางปรับ ครม.

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.07.16
กรุงเทพฯ
200716-TH-ministers-resigned-1000.jpg นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (สองจากซ้าย) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล ก่อนการแถลงข่าว กรุงเทพฯ วันที่ 16 กรกฎาคม 2563
รอยเตอร์

ในวันพฤหัสบดีนี้ นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยแก่สื่อมวลชนว่า ตนเอง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่หนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ อีก 3 คน ได้ยื่นใบลาออก กล่าวเห็นพ้องว่า เป็นเวลาที่เหมาะสมให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ช่วยในการลดความกดดันทางการเมือง ซึ่งนักวิชาการเชื่อเหตุผลการลาออก เพราะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยแก่สื่อมวลชนในช่วงเช้าว่า ตนเอง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวมถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยการลาออกจะมีผลทันที

“วันนี้ ผมทั้งสี่คนได้นำหนังสือลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเราในแต่ละคนยื่นหนังสือต่อท่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ท่านดิสทัต (โหตระกิตย์) เรียบร้อยแล้ว และก็จะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านกอบศักดิ์​ วันนี้ท่านก็ได้รับมอบหมายจาก ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้เอาหนังสือลาออกของท่านมายื่นพร้อมกันด้วย ซึ่งก็ได้ทำการยื่นเรียบร้อยแล้ว.. ก็คงโล่งอกกันระดับหนึ่ง” นายอุตตม กล่าว

“ในครั้งนี้พวกเราเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราจะออกจากตำแหน่งที่ได้ปฏิบัติรับหน้าที่มา เพราะว่ามองแล้วเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่พวกเราเห็นกันอยู่ เราคิดว่าเพื่อเป็นการให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ ความคลุมเครือหายไป ก็คิดว่าเราจะได้มีส่วนช่วยในการลดความกดดันทางการเมืองที่อาจจะมีโดยเฉพาะต่อท่านนายกรัฐมนตรี” นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติม

กลุ่มอดีตแกนนำพรรคพลังประชารัฐ “สี่กุมาร” ถูกแรงกดดันจากคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ และลูกพรรค ให้หลุดออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลขาธิการ และตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งทหารสายบูรพาพยัคฆ์จะยึดตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อจาก นายอุตตม สาวนายน ซึ่งในการแถลงข่าวในวันนี้ นายอุตตม ได้ย้ำว่าเหตุผลในการลาออกแต่เพียงว่า เพื่อให้หมดความคลุมเครือ

ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า อดีตรัฐมนตรีทั้งหมดพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศ หากประเทศต้องการ แต่ไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรีได้ และหลังจากนี้ต้องการจะพักผ่อน ก่อนจะวางแผนงานในอนาคต

“เราขอพักบทบาทการเมืองในขณะนี้ เพราะว่าสิ่งที่เราเป็นห่วงที่สุดของการตัดสินที่เราพูดคุยกันมาคือ สถานการณ์บ้านเมือง เป็นสถานการณ์ที่ต้องการพลังในการทำงาน เราไม่อยากเห็นการเมืองเป็นอุปสรรคต่อการที่จะขับเคลื่อนบ้านเมือง... เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยากเห็น ก็คือการเกิดการเมืองที่เป็นในเชิงการพัฒนาให้สอดรับกับสภาวะของโลก และประเทศ” นายสนธิรัตน์ กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับ ครม. ไม่ได้เป็นการยอมรับความล้มเหลวในการบริหารประเทศทางด้านเศรษฐกิจ ตามที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ออกมาระบุ แต่เป็นไปเพื่อความเหมาะสม ซึ่งในทุกรัฐบาลรวมถึงรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็มีการปรับ ครม. เช่นเดียวกัน

โผรายชื่อตัวเก็งรับหน้าที่แทน

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์หลายสำนัก รายงานตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางตัวแทนรัฐมนตรีที่ลาออกไปแล้ว โดยจะให้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี นายปรีดี ดาวฉาย นายกสมาคมธนาคารไทย รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  และ ผู้บริหาร บริษัท ปตท. รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมทั้ง นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมิได้ระบุว่า ใครจะเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีที่ลาออกไป

“ตอนนี้เมื่อสถานการณ์การเมืองมันเปลี่ยนแปลงไป อันนี้ก็มองมิติของการเมือง อันนี้เป็นเรื่องของการเมือง ท่าน (รัฐมนตรี) ก็ออกไป ก็เสียดาย แต่มันก็จำเป็น ผมเองก็ไม่ค่อยคุ้นเคยแบบนี้ แต่ผมก็จำเป็นต้องตัดสินใจ เราก็จากกันด้วยดี ไม่มีการให้ร้าย ก็ต้องปรับ (ครม.) ไม่ให้มันเกิดช่องว่างมากนัก ก็ต้องเร็ว แต่ก็อยู่ในขั้นตอนที่กำหนดนะ หนึ่งต้องไปถามว่าคนที่จะเป็นเขาจะเป็นหรือเปล่า เขายังไม่ตอบยืนยันชัดเจน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้าน นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลจะยังมีเสถียรภาพอยู่ แม้รัฐมนตรีจะลาออกไป โดยเชื่อว่า ปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาจากการทำงานด้านเศรษฐกิจ

“สี่รัฐมนตรีที่ลาออกไปไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีนัก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ช่วงที่ผ่านมาก็มีคนตั้งคำถามในความสามารถเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาล เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้มั่นใจในศักยภาพของทีมเศรษฐกิจ ซึ่งหากทีมใหม่เป็นคนที่มีความสามารถ หลายคนยอมรับ อาจทำให้ภาพของรัฐบาลดูดีขึ้นได้ คิดว่าควรมองคนที่มาแทนมากกว่ามองแค่การลาออก” นายฐิติพล กล่าว

“ผมยังคิดว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม ถึงแม้จะมีแรงต้าน แต่รัฐบาลยังสามารถรักษาเสถียรภาพได้อยู่ กลุ่มธุรกิจก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลอยู่ และรัฐบาลยังคงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาความสงบอยู่” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ นายสมคิด นายอุตตม นายสนธิรัตน์ นายสุวิทย์ และนายกอบศักดิ์ อยู่ในคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เป็นรัฐบาล หลังการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 กระทั่งปี 2561 พรรคพลังประชารัฐถูกตั้งขึ้น โดยเป็นการรวมตัวของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรค และมีนายอุตตม นายสนธิรัตน์ นายสุวิทย์ และนายกอบศักดิ์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

ต่อมาในการประชุมใหญ่สามัญของพรรคครั้งแรก ปลายปี 2561 นายอุตตม ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่ นายสนธิรัตน์ ได้เป็นเลขาธิการพรรค และเดือนมกราคม 2562 สมาชิกพรรคพลังประชารัฐทั้ง 4 คน ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อเดินหน้าหาเสียงเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 หลังการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่อดีตรัฐมนตรีได้กลับมารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ 18 คน ได้ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้นายอุตตม หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ เลขาธิการพรรค รวมถึงกรรมการบริหารพรรคที่เหลือสิ้นสภาพตามกฎของพรรค นำมาสู่การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคใหม่ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนใหม่ ในวันที่ 27 มิถุนายน 2563 และมีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ไม่มีชื่อของอดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 คน นำมาสู่การยื่นใบลาออกจากพรรคของคนทั้งสี่ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีในวันนี้ ขณะเดียวกันนายสมคิด ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 คน ก็ยื่นใบลาออกด้วย โดยอ้างปัญหาเรื่องสุขภาพ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง