ประเทศไทย: จับมือชาติอาเซียนทลายแก๊งยาเสพติด เชื่อว่ามีส่วนหนุนป่วนใต้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.02.13
กรุงเทพฯ
TH-narcotics-620 นายศิรินยาทร์ สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด บรรยายถึงโครงสร้างเครือข่ายค้ายาไซซะนะ แก้วพิมพา นักค้ายาชาวลาว เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2560
เบนาร์นิวส์

หน่วยงานปราบปรามยาเสพติดของไทยได้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการปราบปรามแก๊งค์ค้ายาเสพติดข้ามชาติ ที่ผ่านทางใต้ลงไปมาเลเซีย ซึ่งพลเอกอุดมเดช สีตบุตร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ก่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีส่วนในประโยชน์การทำผิดกฎหมายนี้ เพื่อเติมเชื้อไฟให้แก่สถานการณ์รุนแรงในภาคใต้

“เรื่องนี้ มองว่าเป็นไปได้ที่ผู้ก่อเหตุใช้ประโยชน์จากการทำผิดกฎหมายเหล่านี้ เราควรต้องกวดขันสิ่งเหล่านี้ต่อไป ต้องพยายามดูแล เพราะเป็นส่วนเกี่ยวข้องกับการหาเงิน รับจัดหาที่ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในพื้นที่” พลเอกอุดมเดช สีตบุตร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

พลเอกอุดมเดช ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ที่กองพลทหารราบที่ 15 ในอำเภอหนองจิก ปัตตานี หลังจากที่ทางกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ได้จับกุมตัวไซซะนะ แก้วพิมพา นักค้ายารายใหญ่ชาวลาว ไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม ศกนี้ และได้ขยายผลการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นนักค้ายาในมีความเชื่อมโยงกัน รวมอย่างน้อย 11 ราย

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผบช.ปส. ได้กล่าวในการแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นี้ ว่า “ที่เราจับนี่คือผึ้งอีกรังนึง ไซซะนะคือผึ้งรังนึง อันนี้คือผึ้งทางใต้ ไม่ต้องกังวล นี่คือเด็กๆ ยังมีใต้ดินอีกเยอะมาก เราจะค้นให้เจอ”

ในก่อนหน้านั้น พล.ต.ท.สมหมาย ได้กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ทางการไทยได้ติดตามนายไซซะนะ มาประมาณห้าปี ก่อนที่จะสามารถจับกุมตัวได้โดยทางการลาวให้ข้อมูลมาโดยตลอด

ทั้งนี้ ในวันที่ 19 มกราคม ตำรวจปราบปรามยาเสพติดและสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมกันจับกุมตัวนายไซซะนะ ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในกรุงเทพฯ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ออกตรวจค้นเป้าหมายต่างๆ อีกหลายแห่ง จึงสามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยได้อีก 3 ราย คือ นายชุมพร พนมไพร ในจังหวัดอุดรธานี นายปุ่น ชรินทร์ ในจังหวัดสกลนคร และนางสาวอ้อยทิพย์ ปัญญารักษ์ จังหวัดสกลนคร พร้อมยึดทรัพย์เป็นบ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินฝาก และอื่นๆ มูลค่ารวมกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท

ปัจจุบัน นายไซซะนะ ถูกฝากขังในระหว่างการสอบสวน ในเบื้องต้นได้สารภาพตลอดข้อหา ส่วนทางการลาวได้ยึดทรัพย์สินนายไซซะนะ เป็นบ้านหรูห้าหลัง สวนยางพารากว่า 1,200 ไร่ รถยนต์หรู 9 คัน ทั้งยังมีความใกล้ชิดกับกลุ่มไฮโซทั้งลาวและไทย เช่น นายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช หรือ “เบ๊นซ์ เรซซิ่ง” สามีดาราสาวของไทยคนหนึ่ง

และล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมนางสาวบุหลัน ธารีสืบ และนายจิตรภานุ แซ่เฮง ขณะขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ ได้ที่ในนาหม่อม จังหวัดสงขลา ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ยึดทรัพย์สิน จำนวน 65 รายการ มูลค่ารวม 68 ล้านบาท

จากการสืบสวนพบว่า นางสาวบุหลัน ธารีสืบ ภรรยาของ นายมามะรุสลัน ดรอแม และบุคคลในเครือข่าย ยังมีการดำเนินการลักลอบจำหน่ายยาเสพติดมาโดยตลอด และได้นำเงินพร้อมทรัพย์สินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดซุกซ่อนไว้ ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นายศิรินยาทร์ สิทธิชัย เลขาธิการ ปปส. กล่าวว่า นางสาวบุหลัน เป็นภรรยาขอ งนายมามะรุสลัน ดรอแม นักค้าชาวไทย ที่โดนตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาเลเซียจับกุมตัวพร้อมกับนายซูลคิฟิ บิน อิบราฮิม ชาวมาเลเซีย พร้อมยาบ้า 70,000 เม็ด ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 ทั้งสองถูกศาลมาเลเซียตัดสินจำคุก 5 ปี 4 เดือน

ส่วนในประเทศมาเลเซีย นายโมฮัด มุกตาห์ โมฮัด ชารีฟ ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามยาเสพติดของมาเลเซียสามารถจับกุมผู้ต้องหาค้ายาเสพติดได้ รวม 5 ราย เป็นคนมาเลเซีย  4 ราย และเป็นคนไทย 1 ราย ในกลันตันทั้งหมด ถูกตั้งข้อหาค้ายาเสพติดที่มีผลต่อจิตประสาท แต่ไม่ได้ระบุชื่อคนไทยให้ชัดเจนว่าชื่ออะไร

พล.ต.ท.สมหมาย กล่าวว่า หนึ่งในผู้ต้องหา 5 รายนั้น คือ นายกามารุดิน บิน อาวัง (Kamarudin Bin Awang) หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ นายไซนุเด็ง มะ ซึ่งเป็นลูกเขยของ นาย มะรินิง จาโก หัวหน้าเครือข่ายยาเสพติดจากทางภาคเหนือและภาคอิสาน ที่เจ้าหน้าที่ได้คอยติดตามความเคลื่อนไหวมาหลายปีเช่นกัน ซึ่งทาง พล.ต.ท.สมหมาย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไทยต้องการที่จะสอบปากคำ นายกามารุดิน บิน อาวัง ด้วยเช่นกัน

สำหรับเครือข่ายยาเสพติดที่เชื่อมโยงกันนี้ ยังมีผู้ต้องหาสำคัญเป็นคนนราธิวาส ที่หลบหนีไปอยู่ในประเทศลาว ตั้งแต่ปี 2555 โดยทางการไทยตั้งค่าหัว 2 ล้านบาท คือ นายอุสมาน สแลแมง ซึ่งเป็นหัวหน้าเครือข่ายของ นายมามะรุสลัน ดรอแม สามีของนางสาวบุหลัน ธารีสืบ อีกชั้นหนึ่ง

เชื่อมโยงกับความรุนแรงในชายแดนใต้หรือไม่

ผู้อำนวยการชุดปฏิบัติการพิเศษภัยแทรกซ้อน สำนักข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวเมื่อปีที่ผ่านมาว่า ปัญหาจากภัยแทรกซ้อนในพื้นที่ ทั้งขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ขบวนการค้ายาเสพติด บ่อนการพนัน สินค้าหนีภาษี เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ โดย 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของอุดมการณ์ และ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของขบวนการธุรกิจมืด ซึ่งมีเงินหมุนเวียนถึงเดือนละ 500-1,000 ล้านบาท

ในเรื่องนี้ พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวของศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กล่าวว่า ยาเสพติดเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงในภาคใต้  ขบวนการค้ายาเสพติดจะสนับสนุนการเงินให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เพื่อสร้างสถานการณ์รุนแรงที่เป็นการขัดขวางการตรวจจับของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง รวมทั้งนำเงินที่ได้ไปใช้ซื้อหาวัสดุอุปกรณ์การก่อเหตุ เพื่อใช้ในการปฏิบัติ เพื่อวัตถุประสงค์ในการแบ่งแยกดินแดนของตน

“ถ้ารัฐบาลตัดเรื่องยาเสพติดออกไปได้ เท่ากับว่าแก้ไขปัญหาไฟใต้ไปได้ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าสามารถตัดเงินทุนในการปฏิบัติการออกไปได้ ประการที่สอง จะไม่มียาเสพติดถึงมือเยาวชน ทำให้ไม่ล่อแหลมต่อการถูกหลอกให้เข้าสู่ขบวนการก่อความไม่สงบ” พลโทนันทเดช กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน พล.ต.ท.สมหมาย กล่าวแก่สื่อมวลชนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทุกครั้งที่มีการระดมจับยาเสพติด ความรุนแรงในภาคใต้จะลดลง

อย่างไร เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ยิงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปิยามุมัง ปัตตานี และรายอื่นๆ อีกสามราย ในยะลา และนราธิวาส

*อนิส นาตาชา ร่วมรายงานจากประเทศมาเลเซีย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง